- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 29 May 2014 22:10
- Hits: 3949
กสทช.เปิดประชาพิจารณ์ร่าง 1800 ประมูล 4จี ส.ค.นี้ เสียงแข็งแม้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง แต่คงทำตามแผนเดิม
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับให้บริการคลื่นความถี่ 4จี เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ราว 400 คน ซึ่งระบุว่าจากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน กทค. ยังยืนยันจะประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 ต่อไปโดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ สำนักงาน กสทช.จะนำข้อเสนอและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไปวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบกับร่างประกาศ ซึ่งหากมีประเด็นที่แตกต่างจากร่างประกาศดังกล่าว จะพิจารณาและนำไปวิเคราะห์อีกครั้ง
หลังจากนั้น เมื่อสรุปผลข้อคิดเห็นที่นำมาวิเคราะห์แล้วนั้นระยะเวลาในช่วงเดือนมิ.ย. 2557 จะประชุมคณะอนุกรรมการ 1800 เพื่อพิจารณาผลประชาพิจารณ์ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในช่วงกลางเดือนเดียวกัน จากนั้นจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ต่อจากนั้น เดือนก.ค. กสทช.จะประกาศหนังสือเชิญชวนสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูล และราวปลายเดือน
ส.ค.จะเปิดประมูลได้ตามกำหนดการเดิม
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกสทช. ย้ำว่า กสทช. ยืนยันเดินหน้าประมูล 4จีเช่นเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีของ กสทช.ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่มีผลต่อการประมูลแต่อย่างใดอีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเป็นตัวผลักดันให้เดินหน้าประมูล ทั้งคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์โดยเร็ว เนื่องจาก กสทช. ออกใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จีได้ จะทำให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งขณะนี้ยังคงมั่นในว่าไม่มี
ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประมูลในครั้งนี้
การพิจารณาการประมูล 3จีของคณะอนุกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าฮั้วหรือไม่นั้น ต้องรออีกหลายตลบ เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอน คณะอนุกรรมการฯ เท่านั้น ยังไม่เข้าบอร์ด ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ส่วนจะกระทบต่อการประมูล 4จีหรือไม่ ณ ขณะนี้ กทค.ยืนยัน ว่าไม่มีอะไรหยุดรั้ง ให้หยุดการประมูลได้ ต้องเดินหน้าประมูล 4จี ตามกำหนดเดิมในเดือน ส.ค.นี้
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า สนับสนุน และเห็นด้วยกับร่างประกาศ ดังกล่าว ต้องการให้เกิดการประมูล 4จีขึ้น เนื่องจากจะมีการนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อจะทำให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หากร่างประกาศดังกล่าวมีข้อเสนอจำนวนมากก็ควรขยายเวลารับฟังความคิดเห็นต่างๆ ออกไปอีกโดยเอไอเอสก็จะต้องรอผลสรุปจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ กสทช. กำหนดให้เรียบร้อยก่อนจะนำเสนอที่ประชุมบอร์ดเพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินในการเข้าประมูล 4จี
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูนำเสนอเรื่องของการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่เป็นคลื่นๆ ไปไม่ใช้เป็นการกำหนดรวมทุกคลื่นในการถือครอง เนื่องจากเป็นการป้องกันผู้ประกอบการรายใหญ่ถือครองคลื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการประมูล 1800-900 ที่จะเกิดขึ้นก็จะมีบริษัทที่มีเงินทุนเป็นจำนวนมากเข้ามาประมูลคลื่นความถี่ไปหมด
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคสนใจเข้าร่วมประมูล 4จีในคลื่นความถี่ 1800 แต่การประมูลครั้งนี้มีข้อแตกต่างจากการประมูล 3จีบนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่เป็นการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ขณะที่การประมูล 1800 เป็นการต่อยอดธุรกิจ ดังนั้นควรจะต้องมองภาพการลงทุนในระยะยาว และในฐานะการเป็นผู้ลงทุนต้องการความชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนลงทุนระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ดีแทคจึงมีข้อเสนอต่อร่างประกาศดังกล่าว ได้แก่ 1.ควรนำคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานทั้งหมดทั้ง 850 - 900 เมกะเฮิรตซ์ และ1800 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลพร้อมกัน โดยกำหนดให้วันเริ่มใช้งานแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมแล้วแต่ย่านคลื่นความถี่2.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะอนุญาตที่กสทช.จะจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 ขนาด 12.5x2 จำนวน 2 ช่วงคลื่น ซึ่งดีแทคเห็นว่าเทคโนโลยีมีแนวโน้ม ใช้คลื่นความถี่เป็นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ 3.เรื่องราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ดีแทคเห็นว่ามีราคาสูงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบในต่างประเทศ และในยุโรป ดีแทคเห็นว่าควร มีมูลค่า 4,170 ล้านบาทเมื่อปรับมูลค่าคลื่นความถี่ของประเทศในยุโรปด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทย ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าคลื่นความถี่จากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของประเทศไทยจะมีมูลค่า 7,880 ล้านบาทต่อขนาดคลื่น 12.5x2 เมกะเฮิรตซ์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย