- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 20 May 2014 22:01
- Hits: 3755
อนุคุ้มครองผู้บริโภคฯ กระทุ้ง กสทช.รับมือหลัง ก.ย.นี้มาตรการเยียวยาคลื่นความถี่ย่าน 1800 หมดอายุ หวั่นผู้ใช้บริการ 7 ล้านคนซิมดับ
อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมหวั่น ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 7 ล้านรายถูกปล่อยซิมดับ หลังมาตรการเยียวยาให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 หมดอายุ 15 ก.ย. นี้ ติง กสทช. ไม่ควรลุยประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น แต่ต้องกำหนดมาตรการรองรับจริงจัง เพราะ 8 เดือนที่ผ่านมาเล่นบทเฉยกับเรื่องนี้ตลอด
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตามที่สัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์มือถือของเครือข่ายทรูมูฟและดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) บนย่านความถี่ 1800 MHz สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2556 โดยที่ยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ให้ทันห้วงเวลาดังกล่าว ทำให้ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ซึ่งให้สิทธิผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเดิมใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวให้บริการต่อไป ท่ามกลางกระแสเสียงคัดค้านว่านี่เป็นมาตรการยืดอายุสัมปทานออกไป และ กสทช. ทำผิดหน้าที่ คือแทนที่จะเร่งจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อเข้าสู่ยุคการอนุญาตด้วยการเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ แต่กลับเลือกแนวทางปล่อยเวลาผ่านไปจนไม่มีทางออก ต้องทำสัมปทานจำแลงขึ้นโดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
นางสาวสุภัทรา กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช. พยายามแสดงบทบาทให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงปีที่แล้ว และปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าได้ แต่มาถึงบัดนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่า กสทช. กำลังเร่งดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่สิ้นสุดสัมปทานไปเมื่อกันยายนปีที่ผ่านมา และย่าน 900 MHz ที่ยังคงมีอายุสัมปทานถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2558 โดยมิได้สนใจความเดือดร้อนของผู้บริโภคอีกต่อไป ทั้งที่ขณะนี้ยังคงมีผู้ใช้บริการในคลื่นย่าน 1800 MHz ซึ่งก็คือผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัททรูมูฟ ค้างในระบบอีกมากกว่า 7 ล้านคน
“ขณะนี้ได้ทราบว่า จากการรายงานล่าสุดของบริษัททรูมูฟ เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังคงมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเหลืออยู่ในระบบทรูมูฟกว่า 7.1 ล้านราย ในขณะที่ระยะเวลาเยียวยาตามประกาศ กสทช. จะมีผลถึงวันที่ 15 กันยายนนี้เท่านั้น นั่นหมายถึง ในวันที่ 16 กันยายนจะไม่มีบริการของบริษัททรูมูฟแล้ว เกิดการซิมดับอย่างแน่นอน แต่ยังไม่เห็นว่า กสทช. มีมาตรการที่จะรองรับปัญหานี้อย่างไร ติดตามข่าวเห็นแต่เรื่องการเร่งประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น ในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นห่วงว่า จะมีผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก” นางสาวสุภัทรากล่าว
นางสาวสุภัทรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัททรูมูฟจำนวน 7 ล้านกว่ารายที่ยังไม่ได้โอนย้ายไปค่ายอื่นหรือระบบอื่นนั้น ถึงแม้มีจำนวนหนึ่งที่เป็นเลขหมายไม่ค่อยมีการใช้งาน แต่ก็มีถึงกว่า 3.6 ล้านรายที่เป็นผู้ใช้งานเป็นประจำ ซึ่งเมื่อเทียบกับขีดความสามารถสูงสุดในการโอนย้ายได้ 60,000 เลขหมายต่อวัน โดยที่ต้องใช้ระยะเวลาโอนย้าย 3 วันทำการ เพราะฉะนั้นหนึ่งเดือนจะโอนย้ายได้สูงสุดประมาณ 1,200,000 เลขหมาย ในขณะที่ตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือน การจะโอนย้ายให้ได้ทั้ง 7 ล้านเลขหมายจึงไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากจะเน้นให้ผู้ยังคงใช้บริการโอนย้ายออกให้หมดยังทำได้ แต่ต้องดำเนินการกันอย่างจริงจัง ทั้งการประชาสัมพันธ์และการอำนวยความสะดวกในการโอนย้าย ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. สั่งให้บริษัทเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่พบว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมามีผู้สมัครใจโอนย้ายเพียงเดือนละแสนกว่ารายเท่านั้น ดังนั้นควรต้องกำกับให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และ กสทช. ก็ควรร่วมดำเนินการด้วยอย่างจริงจัง อย่างน้อยเพื่อลดขนาดของปัญหา ให้มีผู้เดือดร้อนน้อยที่สุด
“ที่ผ่านมา กสทช. ใช้งบประชาสัมพันธ์จำนวนมาก แต่เน้นด้านการแสดงผลงานของตนเอง และขณะนี้ก็ดูเหมือนว่าจะให้น้ำหนักประชาสัมพันธ์แต่เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ แต่กลับไม่ได้ใส่ใจและลงทุนกับปัญหาของผู้บริโภค ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการนำคลื่นไปประมูลโดยตรง แต่ก็ไม่ได้วางมาตรการรองรับ ไม่มีการระบุถึงปัญหานี้ด้วยซ้ำ ทั้งที่รู้อยู่ว่าปล่อยไปก็ซิมดับแน่ และก็รู้ด้วยว่ายังมีผู้ใช้บริการจำนวนมากตกค้าง จึงขอเรียกร้องว่า กสทช. ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องผู้บริโภค ไม่ใช่อ้างแต่ว่าถ้าผู้บริโภคไม่ย้ายก็ช่วยไม่ได้ แต่ความจริงคือไม่เคยให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างเต็มที่และกว้างขวางเพียงพอ ทั้งที่ กสทช. มีงบประชาสัมพันธ์หลายร้อยล้านบาท”นางสาวสุภัทรากล่าวกระตุ้นเตือนการทำงานของ กสทช.
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เคยให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุมีผู้ใช้บริการกับบริษัททรูมูฟคงเหลือ 7 ล้านเลขหมาย ส่วนผู้ใช้บริการกับบริษัทดีพีซคงเหลือประมาณ 1.3 หมื่นราย และที่ประชุม กสทช. ไม่เห็นชอบแผนการโอนย้ายแบบอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ของผู้ใช้บริการมากเกินไป ซึ่งต้องการให้การย้ายเป็นไปตามความสมัครใจมากที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าหากโอนย้ายไม่ทันก่อนประกาศมาตรการคุ้มครองสิ้นสุด ผู้ใช้บริการดังกล่าวก็จะใช้งานไม่ได้ทันที
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย