- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 29 September 2014 22:01
- Hits: 2715
บอร์ด กสท ให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานได้ กำหนดให้ยื่นผังรายการพิจารณาก่อน
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงมติการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในวันนี้ว่า การที่บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ประสงค์จะนำรายการโทรทัศน์ของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มาออกอากาศทางช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล
เมื่อบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ย่อมไม่ถือว่าบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตัวเอง จึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท บีอีซีมัลติมีเดีย จำกัด ให้ดำเนินการยื่นผังรายการที่จะออกอากาศ เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ การนำเสนอผังรายการของ บริษัทบีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ
"ถ้าบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ยื่นหนังสือในฐานะที่ประกอบกิจการด้วยตนเอง โดยมีสิทธิควบคุมองค์ประกอบสำคัญ มีความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ และทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตเหมือนกับช่องอื่น ก็จะอยู่ในข่ายที่จะพิจารณา เราขอดูจดหมายการยื่นผังรายการ การทำตามเงื่อนไขต่างๆของบีอีซี-มัลติมีเดีย โดยควรส่งกลับมาทางเราอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้" นางสาวสุภิญญา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ลุ้นกสท.ถกจอดำช่อง 3 นักวิชาการจี้ใช้กม.ตัดสิน
แนวหน้า : น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะประชุมกันวันที่ 29 กันยายน เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบอนาล็อก หลังศาลปกครองมีคำสั่ง วันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ให้ทุเลาการบังคับตามมติ กสท.ครั้งที่ 37 วันที่ 8 กันยายน เรื่อง มีคำสั่งทางปกครองให้โครงข่ายเคเบิล-ดาวเทียม มิให้นำสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อก ที่กสท.มีมติให้สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือกฎ Must Carry ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ไปจนถึงวันที่ 11ตุลาคม เวลา 16.30น.
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า ตนน้อมรับแนวทางออกของศาลและขอบคุณสำหรับบทสรุปเรื่องนี้ จากนี้ไปต่างฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ตนเองต้องกลับมาจัดการแก้ปัญหา เพื่อรักษากติกาให้ระบบโทรทัศน์ไทยเดินไปข้างหน้า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ขอให้บ.บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตช่อง 3 ดิจิตอล ส่งเอกสารข้อเสนอการออกอากาศคู่ขนานให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตมา ทาง กสท.จะเร่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด
ส่วนกรณีแก้ประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551นั้น น.ส.สุภิญญากล่าวว่า หลักสำคัญของมาตรานี้ เพื่อเน้นให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการด้วยตนเอง หมายถึงไม่ให้เวลาไปเช่าช่วง ซึ่งประเด็นนิติบุคคลไม่สำคัญเท่ากับว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจและควบคุมการบริหาร เพราะฉะนั้น กสทช.ต้องมีหลักคิด และดูว่าแม้คนละนิติบุคคล แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าผู้มีอำนาจบริหารคือกลุ่มเดียวกัน การบริหารจัดการทั้งหมดเป็นของ บ.บีอีซีมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นผู้รับผิดรับชอบจึงอยู่ในข่ายการพิจารณาได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ประกาศขยายเวลาให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ทั้ง 100 % เพราะเกรงจะกระทบภาพรวม
นอกจากนี้ กสท.เตรียมพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หรือกองทุน USO ด้านบรอดแคส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาคำสั่ง กสท.ให้ยืดระยะเวลาให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 ยังคงออกอากาศบนโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล เป็นวันที่ 11ตุลาคม จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน โดยศาลให้คู่กรณีคือ กสท.และช่อง 3 ไปเจรจาตกลงทำความเข้าใจกันเพื่อหาข้อยุติ แล้วแจ้งผลความคืบหน้าการหารือให้ศาลรับทราบ
ทั้งนี้ ผู้บริหารช่อง 3 ยืนยันแล้วว่า พร้อมออกอากาศคู่ขนานจากช่อง 3 อนาล็อกและช่องดิจิตอล 33 HD และต้องไม่ผิดกฎกติกาและกฎหมายของกสทช.ด้วย ซึ่งในการเจรจาที่ผ่านมา มีการเสนอทางออกคือ การแก้ประกาศหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นร่วมดำเนินการได้ หรือให้เช่าเวลา ซึ่งตามประกาศเดิม 10-40% หรือ 9 ชั่วโมง โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมโดยมีข้อยกเว้นให้สำหรับผู้รับใบอนุญาตที่ต้องการออกอากาศคู่ขนานให้สามารถออกอากาศได้ตามที่บอร์ด กสท.กำหนด แต่กรรมการ กสทช.3 คนคือ พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ นายธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ช่อง3 เพียงรายเดียว ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยคือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า เห็นว่าเป็นทางออกที่ดี เพราะผู้รับใบอนุญาตประกอบการกิจการดิจิตอล ก็ยังคงฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แต่ผู้ที่รับใบอนุญาตช่องอนาล็อกที่ต้องการออกคู่ขนานช่องดิจิตอล ก็ให้ยื่นเรื่องมาที่ กสท.พิจารณาออกมติ ซึ่งอาจให้เช่าช่วงเวลา 100% สำหรับการออกอากาศคู่ขนานเท่านั้น เพื่อให้คนไทยได้ดูช่อง3 ทั้งอนาล็อกและดิจิตอล หากไปแก้ไขประเด็นอื่น จะกระทบกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะประเด็นคนละนิติบุคคล
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้เช่านั้น ได้เสนออีกแนวทางหนึ่งคือ การแก้คำนิยาม'ผู้ประกอบการ'ในประกาศหลักเกณฑ์การรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมนิยาม คำว่า “ผู้ประกอบกิจการเสมือนกัน”ได้ แม้จะมีคนละนิติบุคคล แต่โดยพฤติกรรม เป็นคนเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะการรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งช่อง 3 เจ้าของคือ บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน)? ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เจ้าของช่อง 3 อนาล็อก และ 99.99 % ในบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด เจ้าของช่องดิจิตอล 33HD ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน ฉะนั้น ช่อง3 สามารถออกอากาศคู่ขนานได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์เรื่องแบ่งเช่าเวลา อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากแก้ประกาศเรื่องคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต จะกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ หรือไม่ เพราะแต่ละรายก็ยื่นชื่อบริษัทที่แตกต่างกันไป แต่ถือหุ้นใหญ่โดยบุคคลเดียวกัน
นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)?กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 30 กันยายนนี้ คงต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากต้องรอให้บอร์ด กสท.มีมติแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ขอยุติก่อน และนำเสนอมายังบอร์ด กสทช.เพื่อดำเนินการต่อไป
“ส่วนตัวผมเห็นว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าว ควรจะได้ข้อยุติโดยเร็ว หากมีความเห็นแย้งกันในประเด็นกฎหมาย ควรเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายกสทช.พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องโดยเร็ว จะได้ทันกำหนดคำสั่งศาลปกครองวันที่ 11ตุลาคม”นายฐากรกล่าว
มีความเห็นจากนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ถึงกรณีช่อง 3 จอดำว่า สะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของ กสท.พร้อมตั้งข้อสังเกตเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งช่อง3และกสท.น่าจะรู้ปัญหามาก่อนหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสัมปทานของช่อง3โดยตรง ที่ผู้บริหารหรือฝ่ายกฎหมายน่าจะมีรายละเอียดที่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วถึงสิทธิในการออกอากาศ ซึ่งไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวมา ตีความทางกฎหมายใหม่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะส่งผลกระทบในภาพรวม และหากให้มีเหตุการณ์ช่อง 3 จอดำขึ้น เหมือนจับประชาชนเป็นตัวประกันมากกว่า
นางพิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า กรณีช่อง 3 ถือเป็นบทเรียนที่ กสท.ควรประเมินผลกระทบของมาตรการกำกับดูแลที่ออกมาในรูปประกาศก่อนบังคับใช้ ถือเป็นความผิดพลาดของการใช้มาตรการกำกับดูแล ซึ่งในต่างประเทศจะประเมินผลกระทบของมาตรการก่อนจะบังคับใช้ อย่างกรณีกฎการครองสิทธิข้ามสื่อ ที่สำคัญมากในการกำหนดบทบาทของสื่อไม่ให้มีการผูกขาด ซึ่งเรื่องนี้ควรทำก่อนประมูลทีวีดิจิทัล แต่กสท.ยังไม่ได้ทำซึ่งในอนาคตหากเกิดปัญหา กสท.มีแนวโน้มออกกฎแก้ปัญหาโดยใช้ประกาศ ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลในอนาคต