WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

NBCTฐากร ตณฑสทธ1กสทช.ให้ DTAC-ADVANC ผ่านคุณสมบัติประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนเคาะ 19 ส.ค.นี้

      กสทช. ให้ DTAC-ADVANC ผ่านคุณสมบัติ เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ พร้อมทั้งผ่านร่างหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ส.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามข้อกำหนดในข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 มีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูล 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งหลังจากนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงกระบวนการประมูลและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ที่ใช้ในการประมูล และสาธิตการใช้งานซอฟท์แวร์การประมูล เพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบที่ใช้ในการประมูล รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับการประมูล

  ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อหารือ ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรใหม่ได้ โดยคลื่นที่จะเรียกคืนมี 3 กรณี ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2.คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3.คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเรียกคืนดังกล่าวไม่รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ใช้ให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้

  สำหรับการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ก่อนที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยประกอบด้วยรายละเอียด 6 ประการ ได้แก่ 1.วัตถุประสงค์ แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่านความถี่ จำนวนคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืน 2.ผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3.สถานะการถือครอง การใช้งานคลื่นความถี่ 4.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี 5.กรอบระยะเวลาในการเรียกคืนและนำไปจัดสรรใหม่ 6.ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ จากนั้นนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นความถี่ภายใน 7 วันว่า สำนักงาน กสทช. จะเรียกคืนคลื่นความถี่ นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นความถี่ ต่อ กสทช. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติจาก กสทช. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ว่าเห็นด้วยทั้งหมด หรือจะเรียกคืนได้เท่าไหร่ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

  ในส่วนของการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ซึ่งการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช. จะคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1.ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และข้อมูลการติดตามตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่

  2.ความเหมาะสมในการจัดหาคลื่นความถี่อื่นมาทดแทน

  3.ระยะเวลาในการทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตเดิม

       ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่จะมีผู้แทนจาก 7 หน่วยงานได้แก่ 1.เลขาธิการ กสทช. หรือรองเลขาธิการ กสทช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 2.ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 3.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และ7.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมพิจารณา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 

DTAC-ADVANC ประมูลคลื่น 1800 MHz แบ่งกันไปคนละใบที่ราคา 12,511 ลบ./ใบ

     บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เคาะประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) จำนวน 2 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 5 MHz ที่ราคา 12,511 ล้านบาท/ใบ จากราคาขั้นต่ำที่ 12,486 ล้านบาท/ใบ

      นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz วันนี้ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อไม่มีรายใดเคาะราคาประมูลอีก เมื่อเวลา 11.15 น.

      การประมูลวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น.จากการเคาะราคา 2 ล็อต ในล็อต A และล็อต G โดยผู้เข้าประมูลเคาะราคาเริ่มต้นขั้นที่ใบละ 12,486 ล้านบาท และรอบที่ 2 ทั้ง 2 ล็อตเคาะราคาเพิ่มขึ้นอีก 25 ล้านบาทมาเป็นใบละ 12,511 ล้านบาท ต่อมารอบที่ 3 ไม่มีรายใดเสนอราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายืนเท่าเดิม และรอบที่ 4 ก็ไม่มีรายใดเสนอราคาอีก ดังนั้น จึงสิ้นสุดการประมูลด้วยราคาใบละ 12,511 ล้านบาท รวม 2 ใบเป็นจำนวนเงิน 25,022 ล้านบาท

ระหว่างนี้รอการประชุม กสทช.เพื่อรับรองผลการประมูล และให้ผู้ประมูลเลือกชุดคลื่นความถี่

       ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ให้ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท ส่วนการชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกชำระ 50% ของราคาประมูลสูงสุด งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด และงวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด

         กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินค่าประมูลภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผล สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูลจำนวน 2,500 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูลต้องชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1,875 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาตที่ชนะการประมูล

     นายสุกิจ ประธานกรรมการ กสทช.แจ้งว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีผู้ชนะประมูล Lot A ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) จำนวน 5 MHz ราคา 12,511 ล้านบาทและเลือกชุดคลื่นความถี่ 1740-1745/1835-1840

     ส่วนบริษัทดีแทค ไตรเน็ต (DTN) เป็นผู้ชนะประมูล Lot G จำนวน 5 MHz ในราคา 12,511 ล้านบาท และเลือกชุดคลื่นความถี่ 1745-1750/1835-1840

      นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลชาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz วันนี้เป็นที่น่าพอใจ เพราะมุลค่าการประมูลที่ได้ 2.5 กว่าหมื่นล้านบาท ก็ไม่ใช่น้อย

      ส่วนคลื่นที่เหลือทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHzก็จะนำมาปรับแนวทางการประมูลโดยเฉพาะราคาเริ่มต้นว่าจะใช้ราคาประมูลครั้งสุดท้าย หรือราคาใดก็จะทำบทวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. โดยการชำระเงินของการประมูลอาจยืดเวลาออกไป 5-6ปี ก็ได้เพื่อจูงใจให้เขาร่วมประมูล โดยการประมูลคลื่นวันนี้จะต้องชำระภายใน 3 ปี

"การจะลดราคา มันก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องวิเคราะห์หาข้อดีข้อเสียว่าจะทำยังไง"

        นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีคลื่นความถี่เพียงพอในการใช้งาน 3G/4G แต่หากเข้ายุค 5G คลื่นความถี่จะไม่เพียงพอ และเป็นข้อห่วงใยที่จะต้องให้ไทยเข้าสู่ 5G ในปี 63 ถ้าไม่เช่นนั้น ระเทศไทยจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

      น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า AWN ได้คลื่น 1800 MHz จำนวน 5 MHz จากปัจจุบันมีอยู่ 15 MHz จะทำให้มีคลื่ดนรวม 20 MHz ทำให้สามารถใช้โครงข่ายได้เต็มประสิทธิภาพ เพียงพอรองรับลุกค้าของเอไอเอสทีมีจำนวนมาก

       ขณะที่ ดีแทค ประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 5 MHz ขณะที่มีคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงว่า ดีแทคจะสามารถรองรับการใช้งานลูกค้าคลื่น 1800/ 850 MHz ได้เพียงพอหรือไม่

     อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้ประกอบการน่ารอประมูลคลื่น 700 MHz ในอีก 2 ปีที่สามารถนำไปพัฒนา 5G ได้ โดยคลื่น 700 MHzมีอยู่ 45MHz

     ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า "คลื่น 1800 MHz ที่ได้จากการประมูลจะนำมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของลูกค้า 2G ที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก และรวมถึงการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว"

     "ดีแทคต้องขอขอบคุณรัฐบาล และ กสทช. สำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่ประสบความสำเร็จโดยคำนึงถึงข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ดีแทคมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะอนุมัติแผนมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการ และ กสทช. เพื่อไม่ให้ซิมดับและมีผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า หลังจากสิ้นสุดสัมปทาน" นายลาร์ส กล่าว

      นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เอไอเอส กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz และสามารถประมูลได้คลื่น 1800 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาตจำนวน 5 MHz ด้วยมูลค่า 12,511 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลฟ์ที่ถือครองคลื่นความถี่ที่ได้รับจาก กสทช.มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมกับการใช้โรมมิ่งกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มีคลื่นในการให้บริการมากถึง 60 MHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีรวมกันถึง 20 MHz ทำให้ลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมายทั่วประเทศได้รับประสบการณ์การใช้งานเพิ่มมากขึ้นในเรื่องคุณภาพทั้งบริการผ่านเสียง และบริการดาต้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานเทคโนโลยี 4G ที่สำคัญเป็นการยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

      "การประมูลครั้งนี้ ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 4G เพียงรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกันมากที่สุด ทำให้รองรับความเร็วของการใช้งานบริการดาต้าของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับในปริมาณที่มากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาด รวมทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมในการรองรับคลื่นความถี่ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

      อีกทั้ง คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่บริษัทประมูลได้มานั้น มีความเหมาะสมและความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4G โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากเดิม และใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่มีอยู่ ซึ่งช่วยให้บริษัทประหยัดงบประมาณการลงทุนในระยะยาว

        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!