- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 10 May 2018 11:39
- Hits: 1722
กสทช.เคาะประมูลคลื่น 1800MHz วันที่ 4 ส.ค.นี้ - ตัดสิทธิ์ JAS พร้อมชะลอประมูล 900 MHz
กสทช.เคาะประมูลคลื่น 1800 วันที่ 4 ส.ค.นี้ ราคาเริ่มต้น 3.74 หมื่นลบ. ตัดสิทธิ์ JAS หลังทำแสบทิ้งใบประมูลครั้งก่อน พร้อมชะลอประมูล 900 MHz เหตุผลศึกษาปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนยังไม่ชัดเจน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (25 เม.ย. 2561) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz โดยที่ประชุมฯ มีการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างกว้างขว้าง และมีมติดังนี้
1.ให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz เพื่อนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
2.ให้ความเห็นชอบ แนวทางการชี้แจงต่อการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz
3.ให้ความเห็นชอบเอกสารร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz เพื่อใช้ประกอบการประกาศเชิญชวนต่อไป
4.ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินการและงบประมาณเพื่อจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
5.กรณีนี้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อ 42 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้ คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลทั้งหมดมีจำนวน 45 MHZ โดยเห็นควรกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้นโดยหากมีการทิ้งใบอนุญาตสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล
นายฐากร กล่าวว่า เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 กรอบเวลาการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้หลังจากที่ประชุม กสทช. เห็นชอบร่างประกาศฯ ในวันนี้แล้ว สำนักงาน กสทช. จะนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งมีการชี้แจงต่อสาธารณะ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย. 2561 และกำหนดเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย. -31 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค. 2561
หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย และกรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-895 MHz/935-940 MHz ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication – IMT) ย่านความถี่ 824-837/869-884 เมกะเฮิรตซ์ และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ ย่านความถี่ 885-895/930-940 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปก่อน
จนกว่าผลการทดลองภาคสนาม (Field Trial) สำหรับการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบคมนาคม ขนส่งทางราง ย่านความถี่ 900 MHz และการพิจารณาความเหมาะสมกรณีกระทรวงคมนาคมขอทบทวน การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จ ประกอบกับกระทรวงคมนาคมทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เข้ามาเพิ่มเติมรวมเป็น 10 MHz พร้อมกันนี้ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
บอร์ด กสทช.มีมติจัดประมูลคลื่น 1800 MHz วันที่ 4 ส.ค.นี้ ชะลอประมูลคลื่น 900 MHz รอศึกษาผลกระทบไฮสปีดเทรน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.มีมติอนุมัติร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค.61
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเข้าประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ได้กำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซในครั้งก่อน คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท
ด้านกรอบเวลาการเตรียมการประมูล สำนักงาน กสทช.จะนำประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค.61 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย.61 และกำหนดการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย.61 กสทช.กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย.-31 ก.ค.61 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค.61
หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูล ในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.61 กสทช.จะจัดชี้แจงขั้นตอนการประมูล (Information Session) และทดสอบการประมูล (Mock Auction) ก่อนที่จะเปิดให้เคาะราคาในวันที่ 4 ส.ค.61 เพื่อให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กับบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.61 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย
นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว หากไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง หรือจะมีการพิจารณาปรับลดใบอนุญาตให้เล็กลง หรือเหลือใบละ 5 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 9 ใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม กสทช.ให้ตัดสิทธิ บริษัท แจส โมบาย เข้าประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากได้ทิ้งใบอนุญาตในการประมูลครั้งก่อน และเพื่อป้องกันการทิ้งใบอนุญาตอีก ร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้น โดยสำนักงาน กสทช.จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท
สำหรับ การประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิตร์ซ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรบกวนสัญญาณกับคลื่นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอใช้งานกับระบบรถไฟความเร็วสูง กสทช.จึงมีมติให้ชะลอการประมูลออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาดังกล่าว
"เราเชื่อว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกค่ายยังมีความจำเป็นในการถือครองคลื่นเพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการถือครองคลื่น 55 MHz บ้าง 45 MHz บ้าง แต่จากการประเมินของ ITU ยังคงห่างไกลมาก ซึ่งในประเทศควรมีคลื่นราว 720 MHz เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต"นายฐากูร กล่าว
อินโฟเควสท์