- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 23 April 2018 07:23
- Hits: 2559
วิษณุ ชี้ผู้สมัครกสทช.ใหม่มีสิทธิกลับมาสมัครได้อีกแม้สนช.ล้มการสรรหา เผยบอร์ดชุดเดิมยังทำงานต่อได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ได้รับทราบกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว ซึ่งการคว่ำไม่รับการสรรหาดังกล่าวไม่ได้มีใครมาปรึกษาตนในฐานะฝ่ายกฎหมาย เพราะเป็นขั้นตอนของสนช. ซึ่งเท่าที่ทราบ ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการสรรหากรรมการ กสทช.ใหม่ ส่วนคนเดิมก็สามารถเข้ารับการสรรหาได้ เพราะไม่มีระเบียบหรือข้อห้ามปิดกั้น
รองนายกรัฐมนตรี ยังปฏิเสธไม่ทราบถึงสาเหตุของการที่ สนช.ลงมติไม่เลือกบุคคลตามการเสนอรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาฯ รวมถึงกรณีที่มีคลิปลับเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่พอใจกับรายชื่อในการสรรหาครั้งนี้
ส่วนการสรรหาต่างๆ มักจะกล่าวอ้างผู้มีอำนาจและถูกคว่ำในที่สุดนั้น นายวิษณุ กล่าว่า ไม่ทราบและไม่รู้ด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือกล่าวกันไปเองหรือไม่ ดังนั้นจะต้องฟังหูไว้หู เพราะบางครั้งมักมีการกล่าวอ้าง เพราะไม่มีใครรู้ ซึ่งบางครั้งตนเองยังถูกเอาชื่อไปแอบอ้าง แต่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จึงปล่อยผ่านไป
"ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ แต่เมื่ออยากรู้ ต้องมีการสอบถาม แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบกับรัฐบาล เพราะกรรมการ กสทช.ชุดเก่าสามารถทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ดังนั้นการทำงานของกสทช.จึงไม่มีปัญหา" นายวิษณุกล่าว
พร้อมระบุว่า ปัญหาการสรรหากสทช.ขณะนี้ยังไม่มีใครหยิบยกเพื่อให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา 44 ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้หากมีความจำเป็น ทุกฝ่ายย่อมรู้ดีว่าจะใช้แนวทางใดมาแก้ปัญหาอยู่แล้ว
สำหรับ กรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์การเลือกตั้งว่าจะมีความชัดเจนในเดือนมิถุนายนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงเดือนดังกล่าว รายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ที่หลายคนสงสัย ก็จะเห็นภาพและมีความชัดเจนขึ้น
ส.องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จี้ลงโทษ-เปลี่ยนตัวกรรมการสรรหา กสทช. เหตุไร้ประสิทธิภาพตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องต้นสังกัดหน่วยงานที่จะส่งตัวแทนทั้ง 6 หน่วยงาน/องค์กรมาเป็นกรรมการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รอบใหม่ ได้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนคนใหม่ที่มีความตั้งใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ของมาตรา 6 ประกอบมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.กสทช.2553 เพื่อมาดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายแทนโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ประเทศชาติขาดโอกาสในการพัฒนาและบริหารกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยกรรมการฯเดิมควรแสดงสปิริตไม่กลับมาทำหน้าที่อีก และควรพิจารณาลงโทษบุคลากรของตนที่เคยไปเป็นกรรมการสรรหา กสทช. ชุดที่ทำให้ สนช.คว่ำทั้งกระดานนั้นด้วย จึงจะชอบในยุคของการปฏิรูปประเทศนี้ด้วย
ส่วนบุคลากรที่ทำงานใน กสทช.ชุดรักษาการนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา อนุกรรมการ คณะทำงาน รวมทั้งฝ่ายบริหารสำนักงาน ไม่ควรที่จะมาสมัครหรือส่งนอมินีมาสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกอีกในรอบใหม่นี้ เพราะจะขาดคุณสมบัติทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว หากยังดื้อที่จะสมัครใหม่ สมาคมฯก็จะทำหน้าที่ร้องเรียนหรือสอยในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต่อไป
อนึ่ง ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติไม่พิจารณาผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อมา 14 คนเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาเนื่องจากมีผู้ถูกเสนอชื่อเกินกว่าครึ่งที่มีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติและมีลักษณะต้องห้ามนั้น
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิผลของคณะกรรมการสรรหา กสทช.ชุดที่ผ่านมาว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครแต่ละท่านตามที่มาตรา 6 ประกอบมาตรา 7 แห่งพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 บัญญัติ
ดังนั้น เมื่อจะได้มีการสรรหาผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช.ชุดใหม่ เพื่อเสนอให้ สนช.พิจารณาเลือกอีกครั้ง ดังนั้นกรรมการสรรหาฯ 6 ใน 7 คนไม่ควรเป็นกรรมการคนเดิม เพราะตามมาตรา 14 แห่ง พรบ.กสทช.2553 จำนวน 6 คนที่มาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาในศาลฏีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น กฎหมายกำหนดให้แต่ละหน่วยงานคัดเลือกกันเองใหม่ได้ ส่วนกรรมการสรรหาฯลำดับที่ 7 เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นโดยตำแหน่งจึงต้องละเว้นไว้ แม้ว่าในการประชุมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร กสทช.รอบที่ผ่านมา ผู้ว่า ธปท.มักจะขอตัวออกมาจากที่ประชุมการรับฟังวิสัยทัศน์ ซึ่งอาจผิดระเบียบก็ตาม
สนช.ลงมติไม่เลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ตามบัญชี 14 รายชื่อที่กรรมการสรรหานำเสนอ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุมวันนี้ มีมติไม่เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560
โดยที่ประชุมลงคะแนนเสียงในทางลับเห็นด้วยกับญัตติที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) นำเสนอ ซึ่งนายสมชายให้เหตุผลว่ารายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จำนวน 8 ใน 14 รายตามที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอมานั้น มีคุณสมบัติต้องห้าม และขาดจริยธรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ที่มีผู้เข้าร่วมประชุม 163 เสียง ลงมติไม่เลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 118 เสียง, ลงมติเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
สำหรับ 14 รายชื่อที่ได้รับการสรรหาด้านละ 2 ชื่อ ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และ นายธนกร ศรีสุขใส 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ คือ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.ด้านวิศวกรรม คือ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน
5.ด้านกฎหมาย คือ นายมนูภาน ยศธแสนย์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ผศ.ภักดี มะนะเวศ และนายณรงค์ เขียดเดช 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์
ทั้งนี้ นายสมชาย กล่าวภายหลังการประชุมลับนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า จากการรับฟังรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.พบว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติ รวม 8 คน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 7 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามว่ากสทช.ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจ ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก
นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อพบว่ามีบุคคลที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม จึงมีประเด็นว่าบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมานั้นมีจำนวนครบ 2 เท่าตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งหาก สนช.ลงมติเลือกไปอาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้ จึงเสนอให้สนช.ลงมติเพื่อไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง
นักวิชาการ ชี้ประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ต้องล่าช้าออกไป หลังสนช.มีมติไม่เลือกกสทช.ชุดใหม่
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า การชะลอกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกไปจะทำให้เรื่องที่อยู่ระหว่างการรอการดำเนินงานต้องล่าช้าออกไป อาทิ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงย่านความถี่ที่จะนำออกมาประมูลในอนาคตอาทิ 2300 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ700 เมกะเฮิรตซ์ แม้ก่อนหน้านี้ กสทช.จะยกร่างหลักเกณฑ์การประมูลและเปิดทำประชาพิจารณ์ไปแล้วแต่เนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการจัดประมูลเป็นการตัดสินใจของบอร์ด จึงต้องรอให้ได้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจก่อน
"ถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้เคยทำจดหมายตอบข้อสงสัยของบอร์ดชุดรักษาการที่ถามถึงอำนาจในการจัดการประมูลไปและได้รับคำตอบว่าสามารถจัดการประมูลได้แต่ในการประชุมบอร์ดกสทช. ชุดรักษาการรอบล่าสุดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน" นายสืบศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่รอการดำเนินการ อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทั้งทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมหรือกรณีพิพาทและความชัดเจนในกิจการดาวเทียมกรณีการเยียวยาคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จากการประมูลครั้งที่ผ่านมาการจัดสรรความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือแม้แต่เรื่องสำคัญอย่างกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในแง่ข้อมูลและ SMS ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรอกรรมการกสทช. ลงมติดำเนินการทั้งสิ้น
อนึ่งในวันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติไม่เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 เนื่องจากรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จำนวน 8 ใน 14 รายตามที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอมานั้น มีคุณสมบัติต้องห้าม และขาดจริยธรรม
อินโฟเควสท์