- Details
- Category: ศาล
- Published: Saturday, 26 December 2015 17:30
- Hits: 10492
ย่างกุ้ง-ท่าขี้เหล็ก ประท้วง'คดีเกาะเต่า'ลาม พม่าชุมนุมใหญ่ร้องให้ปล่อยตัวระดมตร.คุมเข้ม'สถานทูตไทย' บิ๊กเมียนมาเล็งองคมนตรีช่วย
กระแสพม่าไม่พอใจคดีเกาะเต่าลาม ทั้งประชาชนและพระสงฆ์ชุมนุมหน้าสถานทูตไทย กรุงย่างกุ้ง ชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 2 จำเลยที่ถูกตัดสินประหาร ตำรวจพม่าต้องระดมมารักษาความปลอดภัย สำนักปธน.พม่าเตรียมยื่นองคมนตรีของไทยให้ช่วยลดโทษ คนท่าขี้เหล็กฝั่งตรงข้ามแม่สาย จ.เชียงราย นัดชุมนุมเดินขบวนประท้วงตอนสายๆ วันเสาร์
วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9159 ข่าวสดรายวัน
ประท้วง - ชาวพม่ากว่าพันคนชุมนุมประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กรณีประหารชีวิต 2 จำเลยชาวพม่า ในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนชาวเมียนมาไม่พอใจคำพิพากษาของศาลจังหวัดเกาะสมุย ที่ตัดสินประหารชีวิต 2 แรงงานพม่าในคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า ถึงขนาดออกมาชุมนุมประท้วงด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ว่า เป็นเรื่องของทางเมียนมาที่จะต้องดูแล และต้องสร้างความเข้าใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ส่วนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่มีความเป็นห่วง ยังมั่นใจในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคดีต้องไปถามศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเทศไทยมีแรงงาน เมียนมาเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก กังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนให้รวมตัวกันประท้วงด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าเราทำทุกอย่างตามกฎหมาย และสามารถชี้แจงได้ ส่วนการประสานกับสถานทูตเมียนมาเพื่อทำความเข้าใจนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ สำหรับการดูแลพื้นที่ต่างๆ ในประเทศมีตำรวจดูแลอยู่แล้ว
ขณะที่ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานพิธีส่งมอบเงินบริจาคในนามรัฐบาลไทย แก่นายอู วิน หม่อง เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 11,879 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 430,613 บาท จากนั้นใช้เวลาหารือร่วมกันประมาณ 10 นาที ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เงินบริจาคส่วนนี้เป็นเงินที่ประชาชนร่วมกันบริจาค หลังจากที่นายกฯ ได้มอบเงินพระราชทานช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเอกอัครราชทูตเมียนมา แสดงความซึ้งใจและขอบคุณประชาชนชาวไทย ในความรักและความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมานาน
ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกันเอกอัครราชทูตเมียนมาระบุว่าต้องการเห็นความรักความผูกพันระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนาน โดยรัฐบาลเมียนมาซาบซึ้งในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงอยากเห็นความรักและความสัมพันธ์อันดีดำรงต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องการสื่อสารไปถึงรัฐบาลและนายกฯ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าประชาชนชาวไทยที่เดินไปท่องเที่ยว และสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง จะได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขอให้อย่าห่วงใย และทางการเมียนมาเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมของนานาประเทศ
ด้านเอกอัครราชทูตเมียนมากล่าวว่า สำหรับความรู้สึกของประชาชนบางกลุ่มในเมียนมาหลังจากที่ไทยชี้แจงรายละเอียดของคดีแล้ว คิดว่าทุกคนที่ได้ฟังว่าถูกประหารชีวิตคงเสียใจ แต่เมื่อเป็นกระบวนการทางยุติธรรมต้องเป็นไปตามกระบวนการเท่านั้นไม่อาจก้าวก่ายได้ แต่อยากขอให้ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหวังว่าคดีนี้จะได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลไทย ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่มีปัญหากระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คดีเป็นการตัดสินของศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อไปแน่นอน และหวังว่าทุกฝ่ายจะดูเรื่องความสัมพันธ์ต่อไป
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ทราบกันว่าจะมีการชุมนุมหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง วันนี้เวลา 11.30 น. การมาชุมนุมคงไม่มีผลอะไรเนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุดของพม่า จึงเป็นวันหยุดทำการของสถานทูต เมื่อช่วงเช้าวันนี้ตำรวจเมียนมา 20-30 นาย มาดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณหน้าสถานทูตไทย นอกจากนี้สำนักประธานา ธิบดีของเมียนมามีคำเตือนหากชุมนุมประท้วงต้องให้อยู่ในขอบเขต นอกจากนี้สถานทูตได้ออกคำเตือนเรื่องความปลอดภัยแก่คนไทยในช่วงนี้ หากไม่จำเป็นไม่ควรแสดงตัวว่าเป็นคนไทย ซึ่งคนไทยในกรุงย่างกุ้งมีจำนวน 1,200-1,300 คน ส่วนใหญ่กลับมาเที่ยวในประเทศไทยแล้ว
"อย่าลืมว่า เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการของศาล สื่อจำนวนไม่น้อยยังคงกลับมาติดตามขุดคุ้ยเรื่องเก่า เรื่องของการสอบสวน ประหนึ่งว่ายังมีข้อกังขา ก็อยากจะดึงกลับมาให้เข้ามาสู่กระบวนการศาล อย่าไปรื้อของเก่ามากนัก เพราะของเก่าผ่านไปแล้ว เพราะมีตำรวจของหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ร่วมเข้ามาตรวจสอบและรับทราบการสอบสวนของไทย และพอใจถึงขั้นแสดงออกโดยการเดินทางไปแจ้งกับครอบครัวของผู้เสียหายชาวอังกฤษ ซึ่งครอบครัวผู้เสียหายก็ฟังเจ้าหน้าที่ตำรวจของเขา และเมื่อวานครอบครัวผู้เสียหายก็แสดงความยอมรับและพอใจต่อกระบวนการของประเทศไทย" นายดอนกล่าว
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 ในฐานะรองโฆษก ตร. กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการข่าวในประเทศไทยยังไม่พบความเคลื่อนไหวต่อต้านคำตัดสินของศาล ส่วนการแจ้งเตือนของสถานเอกอัครราช ทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง ที่แจ้งเตือนคนไทยในเมียนมาให้เพิ่มความระมัดระวัง ถือเป็นเรื่องปกติที่สถานเอกอัคร ราชทูตไทยในทุกประเทศต้องดำเนินการเพื่อปกป้องคนไทยในต่างประเทศ เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ ตำรวจยังไม่ได้รับการร้องขอกำลังจากสถานเอกอัครราช ทูตเมียนมาประจำประเทศไทย แต่ถึงแม้จะไม่ได้ร้องขอแต่ตำรวจนครบาลได้เพิ่มมาตรการและกำลังไปดูแลแล้ว
รองโฆษก ตร.กล่าวอีกว่า สำหรับคดีนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขณะดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าทีมสืบสวนรับผิดชอบคดีนี้ด้วยตัวเอง ที่ผ่านมาตำรวจได้ใช้ความพยายามรวบรวมหลักฐาน ดำเนินการตามหลักสากล จนได้รับการยอมรับ จนที่สุดเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหา จึงเป็นเครื่องพิสูจน์กระบวนการทำงานของตำรวจ ทั้งการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จนนำไปสู่การลงโทษจำเลย จนถึงขณะนี้จากข้อมูลด้านการข่าวไม่ปรากฏว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะการตัดสินคดีขึ้นกับพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุ พยานแวดล้อม จะอาศัยความรู้สึกไม่ได้
สำหรับ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยตัดสินประหารชีวิตจำเลยชาวเมียนมาทั้ง 2 คน พบว่าแรงงานชาวเมียนมายังคงทำงานตามปกติ นายเทงโม วิน แรงงานชาวเมียนมา บอกว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานสื่อสารกันในสื่อออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊กว่า ถ้าสองผู้ต้องหาชาวเมียนมามีความผิดจริงทุกคนยอมรับได้ แต่ถ้าไม่เป็นความจริงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนมีความไม่สบายใจกับเรื่องนี้ แต่ไม่ถึงกับชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
นางเสมา พนักงานห้องอาหารแห่งหนึ่ง บอกว่า รู้สึกเสียใจไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ถ้าเรื่องนี้ไม่เป็นจริงก็อยากให้สู้คดีนี้ แต่ถ้าคำตัดสินออกมาเป็นจริงก็ขอให้ยอมรับผิด และอยากบอกเพื่อนๆ ชาวเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทย ขอให้ทำตัวดีๆ ตั้งใจทำงาน อยากให้มองว่าเป็นญาติกับเรา
"ถ้าถามว่ามั่นใจว่าสองคนนี้เป็นคนร้ายหรือไม่ ก็ไม่สามารถยืนยันได้เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ขอบอกกับสองคนนี้ว่าถ้าไม่ใช่ก็ขอให้สู้คดีนี้ต่อไป" นางเสมากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการดูแลรักษาและเจรจาต่อรองเพื่อประชาชนชาว เมียนมา ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แจ้งมายังสื่อมวลชนไทยว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จะมีภาคประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งมีทั้งประชาชนทั่วไปในท่าขี้เหล็ก นักธุรกิจ รวมถึงคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในท่าขี้เหล็ก ตรงกันข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย จะรวมตัวกันเดินชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว 2 จำเลยคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า โดยนัดรวมตัวกันบริเวณสนามฉานโยมะ ที่ตั้งเดิมของหอการค้าท่าขี้เหล็ก ห่างจากชายแดนไทย-เมียนมา ด้านอ.แม่สาย ประมาณ 2 ก.ม. จากนั้นจะเดินขบวนไปตามถนนในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก จุดหมายปลายทางที่สะพานข้ามลำน้ำสาย ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก พื้นที่การค้าและการท่องเที่ยวสำคัญของชายแดนบริเวณนั้น ขณะที่บรรยากาศทั่วไปประชาชนและนักท่องเที่ยวยังเดินทางข้ามไปมาเพื่อซื้อสินค้าและท่องเที่ยวกันตามปกติ
นายสมพอน ผู้ประสานของคณะกรรมการชุดนี้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการจะเดินทางจากสนามฉานโยมะไปยังสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 เพื่อแสดงพลังและเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวเมียนมาทั้ง 2 คน หรือให้พิจารณาคดีใหม่อย่างยุติธรรม เพราะเชื่อว่าทั้งคู่ไม่ได้ทำความผิด โดยจะถือป้ายเรียกร้องมาตามเส้นทางเดินด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะเป็นการชุมนุมอย่างสงบและใช้ถ้อยคำที่สุภาพเรียบร้อย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานความคืบหน้า หลังศาลจังหวัดเกาะสมุยพิพากษาประหารชีวิตนายซอริน และนายเวพิว ชาวเมียนมา จำเลยคดีฆาตกรรมนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ อายุ 24 ปี และน.ส.ฮานนาห์ วิกตอเรีย วิทเธอริดจ์ อายุ 24 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ บริเวณโขดหินแหลม จปร. หาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 ว่า คำพิพากษาดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในประเทศเมียนมา โดยชาวเมียนมาหลายร้อยคน รวมถึงพระสงฆ์ รวมตัวประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่ถูกต้อง
ผู้ประท้วงหลายคนชูป้ายเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "ช่วยเด็กพม่าที่น่าสงสาร" และ "ปล่อยพลเมืองผู้บริสุทธิ์ของเรา" หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย โดยมีตำรวจยืนเรียงแถวรักษาความปลอดภัย ขณะที่นายมิน เต็ง เค็ง หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่า "คำพิพากษานี้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวเมียนมา ทั้งที่หลักฐานก็มีน้อย ไม่มีพยาน หลักฐานดีเอ็นเอก็มีไม่มาก แต่พวกเขายังถูกตัดสินประหารชีวิต มันไม่ยุติธรรม"
ด้านสำนักข่าวอิรวดีของพม่า รายงานว่า ตำรวจพม่าตั้งแนวรั้วและปิดกั้นถนนด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ขณะที่ผู้ประท้วงรายหนึ่งแสดงความกังวลว่า การประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมครั้งนี้ อาจพัฒนาไปสู่การประท้วงแบบชาตินิยม ทั้งนี้ตนมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับประเด็นชาตินิยมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยได้พบกับกลุ่มของพระสงฆ์เมียนมากลุ่มหนึ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อรับหนังสือที่เรียกร้องให้ทบทวนคำพิพากษา
นายจอ เทย์ ผอ.สำนักประธานาธิบดีพม่า โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพราะว่ามันยังไม่จบ เราจะสนับสนุนสถานทูตพม่าและร่วมมือกับกลุ่มสิทธิและองค์กรด้านกฎหมายของพม่าต่อไป" ก่อนหน้านั้น ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังศาลมีคำพิพากษา นายจอ เทย์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า "รัฐบาลพม่าจะให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางทางการทูต โดยจะไม่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย ศาลที่ตัดสินอย่างเป็นอิสระและความสัมพันธ์ทวิภาคีของประเทศเมียนมาและไทย" และยังโพสต์เพิ่มเติมว่า หากจำเป็น รัฐบาลอาจยื่นเรื่องต่อคณะองคมนตรีของไทยเพื่อขอลดโทษ
ขณะที่รมต.กระทรวงข้อมูลข่าวสาร และโฆษกประธานาธิบดีเมียนมา โพสต์เฟซบุ๊กว่า "รัฐบาลเมียนมาจะสนับสนุนจำเลยทั้งสองในการยื่นอุทธรณ์ เราหวังว่าจะได้ทบทวนหลักฐานต่างๆ และพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองคนไม่มีความผิด"
ส่วนนายวิน หม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย กล่าวว่า "หลังจากได้รับฟังคำพิพากษา ในฐานะมนุษย์ ผมรู้สึกเสียใจ แต่นี่เป็นเรื่องของกฎหมายที่จะต้องดำเนินการต่อ ผมหวังว่าคดีนี้จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และจะไม่กระทบความสัมพันธ์สองประเทศ"
วันเดียวกัน นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย การพิจารณาพิพากษาคดีทำตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะจำเลยทั้ง 2 ราย ศาลจังหวัดเกาะสมุยเป็นศาลชั้นต้น ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่จำเลยทั้งสองตามมาตรฐานสากล โดยจัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือตั้งแต่ชั้นพิจารณา และในการพิจารณาคดีทุกนัด ศาลพิจารณาโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ และในการพิจารณาพิพากษาอย่างที่ทราบว่าทางศาลมีคำพิพากษาวินิจฉัยถึงเหตุผลเพราะเหตุใด จำเลยต้องรับผิด สามารถตรวจสอบจากคำพิพากษาได้ อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมไม่มีความกังวลในเรื่องขั้นตอนการพิจารณาของศาลยุติธรรม เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนความ และโดยบทบัญญัติของกฎหมายจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้