WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ศาลฎกาพพากษา

ฎีกา-จบคดีแบงก์บีบีซี จำคุกสกุลดัง 'ดิศกุล-ปราโมช'อดีตผู้บริหาร ให้ชดใช้เงินคืนหลายพันล้าน โดนคุมตัวเข้าเรือนจำทันที!

ศาลฎีกาปิดคดี'บีบีซี'จำคุก 'จิตตสร ปราโมช-ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล-ม.ร.ว. สุภาณี สารสิน (ดิศกุล)'อดีตผู้บริหาร คนละ 6 ปี 8 เดือน ปรับคนละ 666,666.66 บาท ร่วมชดใช้กับ'เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์' อดีตกก.ผจก.ใหญ่ จำเลยที่ 1 ที่เสียชีวิตแล้ว 85,733,882.04 ดอลลาร์ คดีที่สอง จำคุก ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ-เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตผู้บริหาร คนละ 20 ปี ปรับ 1,157 ล้านบาท และให้ร่วมกับ'เกริกเกียรติ'ชดใช้คืนบีบีซี 589 ล้านบาท คดีที่สามเลื่อนอ่านคำพิพากษา เพราะ พรจันทร์ จันทรขจร จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9150 ข่าวสดรายวัน

จำคุก - ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกผู้ต้องหาคดียักยอกแบงก์บีบีซี ในจำนวนนี้มี ม.ร.ว.หญิง สุภาณี สารสิน หรือดิศกุล และม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ หรือดิศกุล และม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล (รูปเล็ก) ด้วย ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ เมื่อ 16 ธ.ค.

    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ธ.ค. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 3 คดี คดีแรกคดีที่พนักงานอัยการ และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ หรือเสี่ยตั้ว อดีตกก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี, นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรองผอ. สำนักกก.ผจก.ใหญ่, ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีต ผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศกิจ และม.ร.ว.หญิง สุภาณี สารสิน สกุลเดิม ดิศกุล อดีตรองผอ.ฝ่ายการตลาด บีบีซี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.352, 353, 354 ประกอบมาตรา 83 และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม.307, 308, 309, 311, 312 และ 313
     ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพ.ค.2538-ก.ค.2539 จำเลยทั้งสี่ และนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี ร่วมกันวางแผนอนุมัติขายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซี โดยไม่ตรวจสอบประวัติฐานะของบริษัทผู้จองซื้อหุ้น จำนวน 260 ล้านหุ้น ให้กับบริษัท ออลบิ ยูเอสเอ อิงค์ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต โบรคเกอร์เรจ โฮลดิ้ง อิงค์ ที่มีนายราเกซ ที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี เป็นผู้รับมอบอำนาจการซื้อขายหุ้น แล้วบริษัทนำหุ้น 90 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 23,170,731.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570 ล้านบาท ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยฟูจิ จำกัด เพื่อนำเงินมาชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของโจทก์ร่วมรวม 38 ล้านหุ้น และยังได้อนุมัติสินเชื่อ 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ธนาคารเนชั่นแนลเครดิตแบงก์ รวมทั้งสินเชื่อให้กับบริษัท อาร์คาร์เดีย แคปปิตอล พาร์ทเนอรส์ อิงค์ และบริษัท เอเซซ คอร์ปอเรท โฮลดิ้ง แอนด์ ไฟแนนซ์ อิงค์ อีกรายละ 50 ล้านดอลลาร์ โดยนายราเกซเป็นผู้ลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทั้ง 2 บริษัทนำมาวางประกันขอสินเชื่อ
     ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2548 ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ม.313 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 5 กระทง กระทงละ 10 ปี รวม 50 ปี แต่คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.90 และปรับ 472,122,946.02 ดอลลาร์ และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากศาลอาญากรุงเทพใต้ที่พิพากษาจำคุกจำเลย ที่ 1 ข้อหายักยอกทรัพย์ด้วย
    ส่วนจำเลยที่ 2-4 ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ม.308 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 666,666.66 บาท รวมทั้งให้จำเลยที่ 1 คืนเงินบีบีซี จำนวน 167,090,118.28 ดอลลาร์ หากใช้เป็นเงินบาทให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน โดยให้จำเลยที่ 2-4 ร่วมชดใช้เงินกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 85,733,882.04 ดอลลาร์ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สิน จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา โดยระหว่างพิจารณาคดีจำเลยที่ 1 เสียชีวิต
     ศาลฎีกาประชุมหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ แสดงให้เห็นพฤติกรรมของจำเลยที่ 2-4 ว่ามีส่วน รู้เห็นในกระบวนการยักย้ายถ่ายเทหุ้นโจทก์ร่วม โดยนำเม็ดเงินของโจทก์ร่วมเองไปให้สินเชื่อแก่บุคคลภายนอกกู้ยืม แล้วนำกลับมาซื้อหุ้นดังกล่าว จากนั้นนำหุ้นไปโอนให้แก่กัน และขายให้แก่บุคคลอื่น ได้รับผลประโยชน์เป็นส่วนตัว ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย อันกระทบต่อฐานะความมั่นคงของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ จนต้องปิดกิจการ และสร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ร่วม ลูกค้าของโจทก์ร่วม ประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้าง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2-4 ฟังไม่ขึ้น
     สำหรับ ปัญหาของจำเลยที่ 2-4 ฎีกาว่า ความผิดฐานยักยอก ที่โจทก์ฟ้องสำเร็จเมื่อโจทก์ร่วมโอนเงินกู้ยืม ให้แก่ผู้ขอสินเชื่อ จำเลยที่ 2-4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำ ความผิดของจำเลยที่ 1 และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ความผิดฐานยักยอก และความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาชญากรรมทางธุรกิจ มีลักษณะเป็น กระบวนการ มีความซับซ้อน มีการวางแผนและขั้นตอนต่างๆ มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน แต่ละคนเข้าร่วมกระทำขั้นตอนต่างๆ ที่แตกต่างกัน เมื่อการกระทำบรรลุขั้นตอนต่างๆ ตามที่วางแผนไว้ ความเสียหายจึงปรากฏขึ้น ดังนั้น ไม่อาจถือว่าความผิดสำเร็จเมื่อผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ร่วม แต่ต้องถือว่าความผิดสำเร็จเมื่อทำบรรลุขั้นตอนครบถ้วนตามที่วางแผนและความเสียหายปรากฏ อายุความจริงจึงเริ่มนับ ดังนั้นคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ อีกทั้งผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนล้วนเป็นตัวการในความผิดฐานยักยอกทั้งสิ้น ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 2-4 ฟังไม่ขึ้น
     ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน สำหรับคดีของจำเลยที่ 2-4 ส่วนคดีของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ แต่คดีแพ่งให้เลื่อนไปโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 เสร็จแล้วให้ส่งคืนมาศาลฎีกา
     ต่อมาเวลา 11.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารบีบีซี, ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ สกุลเดิม ดิศกุล อดีตรองผอ. ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และน.ส. เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผอ.ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 ความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการสินทรัพย์กระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354 และกระทำผิดพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยจำเลยทั้งสาม ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี ที่ยังไม่ได้ตัว มาฟ้องยักยอกทรัพย์บีบีซี มูลค่า 1,228,896,438 บาท จากการลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตรระหว่างบีบีซี กับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด เมื่อเดือนพ.ค.2538
      ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2550 ว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มาตรา 33, 37-39 และ 311 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษบทหนักสุดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุจริตต่อหน้าที่ ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 20 ปี และให้ปรับ 1,157,244,186.28 บาท พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซี จำนวน 589,622,043.04 บาท ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามยื่นฎีกา โดยระหว่างพิจารณาคดีจำเลยที่ 1 เสียชีวิต
      ศาลฎีกาประชุมกันแล้วเห็นว่า การทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 กับบริษัทเพเนลอป ไฟแน้นซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ อิงค์ นายอลันมีข้อพิรุธหลายประการ และได้ความว่าจำเลยที่ 1-2 และนายราเกซ ซึ่งเป็นผู้บริหารโจทก์ร่วมขอให้นายอลัน ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมีวัตถุประสงค์รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากโจทก์ร่วม มีจำเลยที่ 2 และนายราเกซ เป็นผู้ถือหุ้นและรับประโยชน์ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท เพเนลอปฯ ขายพันธบัตรที่โจทก์ร่วมถือครองแล้วจำเลยที่ 2 กับมีคำสั่งให้นายอลัน โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีบริษัททัวร์บิลอน ซึ่งมีนายราเกซเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน และเมื่อบริษัท เพเนลอปฯ ขายพันธบัตรของโจทก์ร่วมแล้วไม่ได้นำเงินไปซื้อพันธบัตรอื่นมาส่งมอบคืน กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้นายอลัน โอนเงินจากบัญชี บริษัท เพเนลอปฯ จำนวน 35,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีบริษัททัวร์บิลอน ต่อมานายราเกซสั่งให้ธนาคาร โอนเงินดังกล่าว ซึ่งคิดเป็นเงินไทย 839,725,000 บาท เข้าบัญชีของนายราเกซ และนายราเกซได้แบ่งเงินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำนวน 800 ล้านบาท ขณะที่จำเลยที่ 2 เบิกความเพียงว่าได้เกี่ยวข้องกับเงินดังกล่าว ทั้งที่เงินจำนวนนี้ถูกนำเข้าและโอนอยู่ในธนาคารที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารด้วย ยิ่งไปกว่านั้นมีการสร้างรายการเพื่อกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ โดยโอนเงินดอกเบี้ยพันธบัตรเข้าบัญชีโจทก์ร่วมถึง 3 ครั้ง สำหรับเงินกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนของโจทก์ร่วมอีก 9,077,231.84 ดอลลาร์ บริษัท เพเนลอปฯ ก็โอนเข้าบัญชีบริษัททัวร์บิลอนเช่นกัน
      ต่อมาจำเลยที่ 2-3 มีคำสั่งโอนหน่วยลงทุนเม็กซิกันเปโซฟันด์เข้าบัญชีโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอก เบี้ยหรือเงินปันผลกับบริษัท อินเตอร์เนชั่น แนล เครดิต โบรคเกอร์เรจ โฮลดิ้ง อิงค์ ซึ่งบริษัทต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ร่วม 8 ล้านดอลลาร์ แต่เงินจำนวนนี้จ่ายจากบัญชีบริษัท ทัวร์บิลอน เป็นการสร้างรายการทางบัญชีว่ามีการชำระค่าตอบแทนสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหรือเงินปันผลเท่านั้น ดังนั้น การทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์ร่วม และบริษัท เพเนลอปฯ เป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1-2 และนายราเกซ ตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้น เพื่อได้ไปซึ่งสินทรัพย์หน่วยลงทุนที่ได้รับการจัดอันดับสูงของโจทก์ร่วมแล้วนำธนบัต รที่ได้รับการจัดอันดับต่ำมาคืนและไม่ครบจำนวนตามที่ตกลงกันเป็นความเสียหายตามที่โจทก์ร่วมได้รับ
    พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบของโจทก์ร่วมที่เป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ ได้ร่วมเป็นตัวของยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2-3 เป็นผู้บริหารระดับสูงมีอำนาจลงนามทำธุรกรรมแทนโจทก์ร่วม โดยเฉพาะธุรกรรมของคดีนี้มีมูลค่าสูง จำเลยที่ 2-3 ต้องใช้ความรู้และความรอบคอบตามมาตรฐานของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของโจทก์ร่วม ผู้ฝากเงิน ลูกค้า ประชาชน และเศรษฐกิจของชาติเป็นส่วนรวม ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ร่วมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งข้อเท็จจริงในคดีปรากฏด้วยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์มาจากการกระทำครั้งนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาหนักแน่น มั่นคงว่าจำเลยที่ 2-3 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกัน พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2-3 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้าง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2-3 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ 2-3 สำหรับคดีอาญาของจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายออกจากสารบบ
     จากนั้นเวลา 11.50 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี นางพรจันทร์ จันทรขจร และนางสุภาภรณ์ ทิพยศักดิ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ กรณีจำเลยร่วมกันเบียดบังยักยอกเงินจากบีบีซี จำนวน 200,956,250 บาท เป็นของตนเองและบุคคลที่ 3
     ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2549 จำคุกนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ปรับ 211,160,166 บาท จำคุกนายพรจันทร์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี 16 เดือน ปรับ 1,333,333.32 บาท หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 213/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 215/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ 217/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีหมายเลขแดงที่ 3947/2548 ของศาลอาญา ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 93,036,333 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินจำนวน 84,720,000 บาท แก่ธนาคารโจทก์ร่วม และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
     ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาในส่วนของการชดใช้ค่าเสียหายแก่บีบีซี พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่บีบีซี จำนวน 128,316,333 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินจำนวน 120,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
     เมื่อถึงเวลานัด จำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางมาศาล ขณะที่ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องถึงการเสียชีวิตของจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านี้แล้ว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบหมายโดยชอบ แต่ไม่มาศาล จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 เพื่อมาฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป
      วันเดียวกัน นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาพิพากษาคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี, นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรองผอ. สำนักกก.ผจก. ใหญ่, ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีตผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศกิจ และม.ร.ว.หญิง สุภาณี สารสิน สกุลเดิม ดิศกุล อดีตรองผอ.ฝ่ายการตลาด บีบีซี ว่า ผู้ต้องขัง 2 คน คือนายจิตตสร และม.ร.ว.ดำรงเดช จะถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนม.ร.ว.หญิง สุภาณี จะถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตามระเบียบปกติของเรือนจำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ต้องขังมีจำนวนมาก จึงอาจพิจารณาปรับย้ายไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม อีกทั้งกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าว เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ จึงต้องจัดสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพจิตและความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของเรือนจำ
     นายวิทยา กล่าวอีกว่า ช่วงนี้กรมราชทัณฑ์คิดโปรแกรมคุมขังกลุ่มผู้ต้องขังสูงวัยในหลายคดี เนื่องจากมีอายุมากเป็นห่วงเรื่องสุขภาพและการปรับตัวในเรือนจำ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ต้องขังลักษณะดังกล่าว เช่น ผู้ต้องขังคดีธนาคารกรุงไทยก็เริ่มปรับตัวและใช้ชีวิตในเรือนจำได้ดีขึ้น
     ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายพบว่า นายจิตตสร มีโรคประจำตัวป่วยต่อมลูกหมาก ส่วนม.ร.ว.ดำรงเดช มีโรคประจำตัวความดันสูง เบื้องต้นพบว่าทั้งสองมีอาการเครียด เนื่องจากเป็นวันแรกในเรือนจำ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!