- Details
- Category: ศาล
- Published: Thursday, 27 August 2015 14:28
- Hits: 14652
คุก'สุชาย-วิโรจน์' อดีตบิ๊กกรุงไทย โดนคนละ 18 ปี แม้วสั่งปล่อยกู้
ศาลฎีกาสั่งจำคุก 18 ปี 'สุชาย เชาว์วิศิษฐ-วิโรจน์ นวลแข' พร้อมผู้บริหารแบงก์อีก 2 ราย ในคดีแม้วสั่ง กรุงไทย ปล่อยกู้บริษัทในเครือ 'กฤษดา มหานคร' ส่วน 10 ฝ่ายสินเชื่อโดนคนละ 12 ปี ส่วน'วิชัย กฤษดาธานนท์' และ 4 ผู้บริหารในเครือ 'กฤษดามหานคร' คุกคนละ 12 ปี รวมทั้งให้คืนเงินกรุงไทยหมื่นล้าน ขณะที่ทักษิณยังถูกจำหน่ายคดีชั่วคราว
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9038 ข่าวสดรายวัน
คุก18ปี - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุกนายวิโรจน์ นวลแข (เสื้อขาว) อดีตกก.ผจก.ธนาคารกรุงไทย พร้อมพวก เป็นเวลา 18 ปี คดีปล่อยกู้ให้กลุ่มบมจ. กฤษดามหานคร เมื่อปี 2546 กว่า 8 พันล้านบาท
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร, คณะกรรมการ สินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27
ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535
คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่ม กฤษดามหานคร 3 กรณี คือ
1.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เคโปรเฟสชั่นนัล จำกัด 500 ล้านบาท 2.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3.อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด 1,185,735,380 บาท
ถือว่า ผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดา มหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ เนื่องจากมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งถือครองหุ้นธนาคารกรุงไทยเกินร้อยละ 50 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามนิยามของพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ที่จำเลย ต่อสู้ว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อาจฟ้องจำเลยตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานจึงรับฟังไม่ได้
ส่วนจำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทอาร์เคจำเลยที่ 18 และบริษัทโกลเด้น จำเลยที่ 19 โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธ.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อที่กำหนดให้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อ และคำสั่งของธนาคารกรุงไทยเรื่องความเสี่ยงของการอนุมัติสินเชื่อหรือไม่
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จากการไต่สวนแลพยานซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัททั้งสอง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 18-19 มีจำเลยที่ 23-25 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และบริษัท ดังกล่าวก็อยู่ในเครือของบมจ.กฤษดา มหานคร จำเลยที่ 20 ซึ่งจำเลยที่ 18-20 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมากกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ไม่มีรายได้ต่อเนื่องกันหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น เกิดการขาดทุนสะสมหลายปี ทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้
ซึ่งบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ก็ถูกธนาคารกรุงไทยผู้เสียหายกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ก่อหนี้สินเชื่ออีก อีกทั้งในการเสนอขอสินเชื่อของบริษัทอาร์เคฯ จำเลยที่ 18 แม้ว่าจำเลยจะไม่เคยเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทยและอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร แต่เป็นการอ้างขายให้กับจำเลยที่ 20 ซึ่งไม่อยู่ในสถานะมั่นคงในการหารายได้ หรือมีเงินที่จะซื้อที่ได้
ส่วนที่บริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 เสนอขอสินเชื่ออ้างทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 แต่ก็ไม่มีแผนงาน พิมพ์เขียว รายงานแสดงงบประมาณ แต่เพิ่งมาทำก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ภายหลังก็มีการอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปทำการรีไฟแนนซ์ที่บริษัทเป็นหนี้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการเจรจาหนี้จนลดลงที่ต้องชำระ 4,500 ล้านบาท และจะนำเงิน 500 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน และอีก 1 พันกว่าล้าน นำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินที่มีการอ้างว่าจะทำโครงการนั้น มีชื่อบุคคลภายนอกถือครองกรรมสิทธิ์กว่า 100 ไร่
และภายหลังจำเลยที่ 19 ยังยื่นขอสินเชื่อเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครง การกฤษดาซิตี้ โดยขอเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 19 ไม่ตั้งใจทำโครงการตามที่อ้างขอเสนอสินเชื่อ ซึ่งโครงการที่เสนอขอสินเชื่อถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินที่สูง แต่จำเลยกลับไม่มีรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการ
การตรวจสอบก่อนจะเสนอขอสินเชื่อของบริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 5-17 ซึ่งเป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ โดยจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นประธานกรรมการพิจารณาสินเชื่อที่มีบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 เป็นลูกค้า ก็ย่อมจะรู้ดีอยู่แล้วถึงข้อมูลว่าบริษัทจำเลยที่ 18-19 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 20 ซึ่งเป็นหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง จนถูกห้ามก่อหนี้เพิ่ม และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
แต่จำเลยที่ 5-17 ยังคงเสนอให้อนุมัติสินเชื่อให้กับจำเลยทั้งสอง โดยให้ความเห็นว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงพอรับได้ และการกระทำดังกล่าวยังเป็นในลักษณะเร่งรีบเพื่อปล่อยกู้ให้ทัน เป็นการเปิดช่องให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินอื่นและซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้คืนเพื่อให้จำเลยที่ 20 กลับมามีอำนาจการบริหารในอนาคต จากเดิมที่มีสถานะไม่มั่นคง
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ซึ่งเป็นกรรมการสินเชื่ออนุมัติยินยอมอนุมัติวงเงินให้จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ สร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยและประชาชนที่ฝากเงิน
ส่วนที่ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบอร์ดกรุงไทย จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ให้กับบจก. แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำเลยที่ 22 นั้น การที่นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3 ให้เครดิตการชำระเงินขายหุ้นให้นานถึง 4 เดือน และยังมอบฉันทะให้บจก.แกรนด์คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยที่ 22 ออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 แม้ว่าหุ้นจะไม่ใช่สินเชื่อ แต่ลักษณะของการดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องนโยบายสินเชื่อ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวทำให้ธนาคารกรุงไทยขายหุ้นไปโดยไม่ได้รับการชำระค่าหุ้น และการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 เข้าประชุมผู้ถือหุ้นจนลงคะแนนเสียงลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิทำให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเช่นกัน เพราะเป็นการให้สินเชื่อในกรณีพิเศษ
ส่วนที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่าบิ๊กบอส หรือซุปเปอร์บอสได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 ซึ่งในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของคตส. พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่า บิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่ แม้จะมีอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลยโอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่าบิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 ดังนั้นชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1
จึงพิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และนายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 2-4 และ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด
ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้คนละ 12 ปี
สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27 จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20, 25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วม รับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11 และ 19 ร่วมรับผิด 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาญาติจำเลยมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถเรือนจำมารับจำเลยเพื่อไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป
สำหรับ รายชื่อจำเลยทั้ง 27 คน ประกอบด้วย กลุ่มนักการเมือง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯจึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้ตัวมา
กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ จำเลยที่ 2, นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4
กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5, นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6, นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7, นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8, นาย สุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9, นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11
กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12, นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13, นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14, นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15, นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16, นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17
กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18, บริษัทโกลเด้นฯ โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19, บริษัทกฤษดา มหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 20, บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21, บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22
กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23, นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24, นายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 25, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 26, นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27
สำหรับ คดีนี้เป็น 1 ในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นมาพิจารณาการกระทำให้รัฐเสียหายในรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ เมื่อปี 2549 ซึ่งต่อมาได้โอนเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พิจารณาต่อ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2551 โดยกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณกับพวกร่วมกันกระทำความผิด
ฎีกาตัดสินวิโรจน์-สุชาย จำคุก 18 ปี ปิดคดี'กรุงไทย'ปล่อยกู้ เสี่ยวิชัย-ลูกก็โดน 12 ปี จ่ายค่าเสียหายหมื่นล. คุม'16 คน'เข้าเรือนจำ ทำมิชอบ-แบงก์เสียหาย
ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 16 จำเลยคดีแบงก์กรุงไทยทุจริตปล่อยกู้หมื่นล้านให้เครือกฤษดามหานคร 'สุชาย เชาว์วิศิษฐ-วิโรจน์ นวลแข'กับพวกอีก 2 คน โดน 18 ปี
มติชนออนไลน์ :
@ คุก'สุชาย-วิโรจน์ཎปีคดีกรุงไทย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ นายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และพวกอีก 2 คน คนละ 18 ปี และจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยพร้อมผู้บริหารเครือบริษัทกฤษดามหานคร รวม 12 คน คนละ 12 ปี พร้อมให้ผู้บริหารเครือบริษัทกฤษดามหานครคืนเงินกว่า 1 หมื่นล้านให้ธนาคารกรุงไทย ในคดีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้เครือบริษัทกฤษดามหานคร โดยมิชอบ
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร, คณะกรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย, กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร (เคเอ็มซี ก่อนเปลี่ยนเป็นเอคิว) และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535
@ อสส.ฟ้องทุจริตปล่อยกู้'เคเอ็มซี'
คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจากผู้อำนวยการฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3.อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด 1,185,735,380 บาท
ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทกฤษดามหานคร และเพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก
@ ศาลชี้อนุมัติปล่อยกู้ฝืนคำสั่งธปท.
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ เนื่องจากมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือหุ้นธนาคารกรุงไทยเกินร้อยละ 50 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ที่จำเลยต่อสู้ว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อาจฟ้องจำเลยจึงรับฟังไม่ได้
ส่วนจำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทอาร์เคฯ จำเลยที่ 18 และบริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ ธปท.ที่ ธ.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อที่กำหนดให้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อ และคำสั่งของธนาคารกรุงไทย เรื่องความเสี่ยงของการอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ ศาลเห็นว่า จากการไต่สวนพยานซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัททั้งสอง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 18-19 มีจำเลยที่ 23-25 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และบริษัทดังกล่าวก็อยู่ในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ซึ่งจำเลยที่ 18-20 เป็นนิติบุคคลต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่มีรายได้ต่อเนื่องหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น ขาดทุนสะสมหลายปี ทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ ซึ่งบริษัทกฤษดามหานครก็ถูกธนาคารกรุงไทยกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ก่อหนี้สินเชื่ออีก อีกทั้งการเสนอขอสินเชื่อของบริษัทอาร์เคฯ จำเลยที่ 18 แม้ว่าจำเลยจะไม่เคยเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทยและอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร แต่เป็นการอ้างขายให้กับจำเลยที่ 20 ซึ่งไม่อยู่ในสถานะมั่นคงในการหารายได้ หรือมีเงินที่จะซื้อที่ดินได้
@ เชื่อไม่ตั้งใจทำโครงการกฤษดาซิตี้ฯ
ศาลวิเคราะห์อีกว่า ส่วนที่บริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 เสนอขอสินเชื่ออ้างทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 แต่ก็ไม่มีแผนงาน พิมพ์เขียว รายงานแสดงงบประมาณ แต่เพิ่งมาทำก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ภายหลังมีการอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์ที่บริษัทเป็นหนี้กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีการเจรจาหนี้จนลดลงที่ต้องชำระ 4,500 ล้านบาท และจะนำเงิน 500 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน และอีก 1,000 กว่าล้านบาทนำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินที่มีการอ้างว่าจะทำโครงการนั้น มีชื่อบุคคลภายนอกถือครองกรรมสิทธิ์กว่า 100 ไร่ และภายหลังจำเลยที่ 19 ยังยื่นขอสินเชื่อเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ โดยขอเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 19 ไม่ตั้งใจทำโครงการตามที่อ้างขอเสนอสินเชื่อ ซึ่งโครงการที่ขอสินเชื่อนั้นถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินสูง แต่จำเลยกลับไม่มีรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นประกอบการ
ขอสินเชื่อ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการ
@ ชี้ปล่อยกู้มิชอบ-กรุงไทยเสียหาย
ศาลวิเคราะห์ว่า ในการตรวจสอบก่อนจะเสนอขอสินเชื่อของบริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 5-17 ซึ่งเป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ โดยจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นประธานกรรมการพิจารณาสินเชื่อที่มีบริษัทกฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 เป็นลูกค้า ก็ย่อมจะรู้ดีอยู่แล้วถึงข้อมูลว่าบริษัทจำเลยที่ 18-19 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 20 ซึ่งเป็นหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง จนถูกห้ามก่อหนี้เพิ่ม และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่จำเลยที่ 5-17 ยังคงเสนอให้อนุมัติสินเชื่อให้กับจำเลยทั้งสอง โดยให้ความเห็นว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงพอรับได้
การกระทำดังกล่าวยังเป็นในลักษณะเร่งรีบเพื่อปล่อยกู้ให้ทัน เป็นการเปิดช่องให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินอื่นและซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้คืนเพื่อให้จำเลยที่ 20 กลับมามีอำนาจการบริหารในอนาคต จากเดิมที่มีสถานะไม่มั่นคง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ซึ่งเป็นกรรมการสินเชื่ออนุมัติยินยอมอนุมัติวงเงินให้จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ สร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยและประชาชนที่ฝากเงิน
@ ขายหุ้นบุริมสิทธิก็ถือว่าให้กู้
ศาลวิเคราะห์อีกว่า ส่วนที่ ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร เป็นเงิน 1,185,735,380 บาท ให้กับบริษัท แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำเลยที่ 22 นั้น การที่นายวิโรจน์ให้เครดิตการชำระเงินขายหุ้นนานถึง 4 เดือน และยังมอบฉันทะให้บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ฯออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ
บริษัทกฤษดามหานคร แม้ว่าหุ้นจะไม่ใช่สินเชื่อ แต่ลักษณะของการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องนโยบายสินเชื่อในการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวทำให้ธนาคารกรุงไทยขายหุ้นไปโดยไม่ได้รับการชำระค่าหุ้น และการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 เข้าประชุมผู้ถือหุ้นจนมีการลงคะแนนเสียงลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทำให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเช่นกัน เพราะเป็นการให้สินเชื่อในกรณีพิเศษ
ยังไม่ชัดอ้าง'บิ๊กบอส'คือ'ทักษิณ'
ศาลวิเคราะห์ว่า ส่วนที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่า'บิ๊กบอส' หรือ 'ซุปเปอร์บอส' ได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19
ในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่า 'บิ๊กบอส' หรือ 'ซุปเปอร์บอส'คือ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่ แม้จะมีอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลย โอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่า'บิ๊กบอส' หรือ 'ซุปเปอร์บอส' คือจำเลยที่ 1 ดังนั้น ชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1
@ คุก'เสี่ยวิชัย-ลูก 12 ปี-ใช้คืน 1 หมื่นล.
ศาลจึงพิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และนายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 2-4 และจำเลยที่ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11,13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี
สำหรับ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดามหานคร (รวมถึงนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายนายวิชัย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 26) มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 23-27 คนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20, 25 และ 26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
@ คุมตัว 16 คนเข้าเรือนจำทันที
นอกจากนี้ ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, จำเลยที่ 22 และจำเลยที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท จำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11 และ 19 ร่วมรับผิด 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีจำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุกรวม 16 คน ภายหลังฟังคำพิพากษาญาติจำเลยมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำรถเรือนจำมารับจำเลยไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที
นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ เรือนจำได้รับตัวผู้ต้องขัง 16 รายคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้โดยทุจริตให้เครือบริษัทกฤษดามหานคร ในจำนวน 16 ราย มีผู้ต้องขัง 4 ราย ต้องโทษ 18 ปี จะพิจารณาให้ไปอยู่เรือนจำที่อยู่ในอำนาจการควบคุม
@ เผยรายชื่อจำเลย 6 กลุ่ม 27 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อจำเลยคดีนี้ทั้ง 27 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มนักการเมือง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อปี 2555 ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหนีคดี ไม่มารายงานตัวต่อศาล
2.กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ จำเลยที่ 2, นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4
3.กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5, นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6, นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7, นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8, นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9, นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11
4.กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12, นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13, นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14, นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15, นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16 และนางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17
5.กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18, บริษัทโกลเด้นฯ โดย
นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19, บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 20, บริษัท โบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 และบริษัท แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22
6.กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23, นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24, นายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 25, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ จำเลยที่ 26 และนายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27
@ ย้อนรอยคดีประวัติศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับเครือบริษัทกฤษดามหานคร เมื่อปี 2549 ต่อมามีการรัฐประหาร และตั้ง คสต.ตรวจสอบเรื่องต่างๆ รวมถึงกรณีดังกล่าว จนถึงปี 2551 คสต.หมดวาระลง จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คน โดยส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา แต่ อสส.เห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อสส.กับ ป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลาพิจารณานานกว่า 4 ปี จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2555 อสส.จึงมีมติยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
ต่อมาศาลฎีกาฯมีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อเดือนกันยายน 2555 และนัดพิจารณาคดีนัดแรกในเดือนตุลาคม 2555 แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากอยู่ระหว่างหลบหนีคดีการประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ของ ธปท. ไปตั้งแต่ปี 2551 ศาลฎีกาฯจึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณและจำหน่ายคดีชั่วคราว ส่วนจำเลยที่เหลือให้ดำเนินการต่อไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 จนถึงนัดอ่านคำพิพากษาดังกล่าวในวันที่ 26 สิงหาคม