- Details
- Category: ศาล
- Published: Monday, 20 April 2015 23:45
- Hits: 9207
ศาลรับฟ้อง บุญทรงกับพวก 21 ราย ปมทุจริตระบายข้าวจีทูจี
แนวหน้า : ศาลรับฟ้อง ‘บุญทรง’กับพวก 21 ราย ปมทุจริตระบายข้าวจีทูจี สั่งเปิดคดีนัดแรก 29 มิ.ย. โทษหนักคุกตลอดชีวิต
นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี หมายเลขดำ อม.ที่ 25 /2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 19 ราย ร่วมกันเป็นจำเลยรวม 21 ราย ฐานทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจีว่า หลังองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 9 คน พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาเห็นว่า คดีครบองค์ประกอบความผิด และอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาฯ จึงให้ประทับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา
นายธนฤกษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 09.00 น. โดยจำเลยทั้งหมดต้องเดินทางมาศาลในวันดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ องค์คณะผู้พิพากษายังได้มีมีมติให้ตน เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ด้วย ซึ่งตนไม่รู้สึกหนักใจ เพราะพิจารณาคดีไปตามพยานหลักฐานในสำนวน พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับ ผู้พิพากษา 9 คนที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยมีคะแนนสูงสุดเรียงลำดับดังนี้ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา นางทัศนีย์ จั่นสัญชัย ธรรมเกณฑ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา นางพฤษภา พนมยันตร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา นางนวลน้อย ผลทวี ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา และนายอภิรัตน์ ลัดพลี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
โดยคดีนี้ อัยการและปปช.ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน 205 ลัง 1,628 แฟ้ม จำนวนกว่า 70,000 หน้า ยื่นฟ้อง นายบุญทรงและพวก รวม 21 ราย ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และที่เหลือเป็นนิติบุคคล กับกรรมการผู้มีอำนาจในนิติบุคคล เป็นจำเลย ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ ฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 มาตรา 4 , 9 , 10 , 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 , 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งการยื่นฟ้อง อัยการสูงสุด ยังขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท ซึ่งค่าปรับดังกล่าวคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าว 5 หมื่นตัน ที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับด้วย