WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

IOD-BanditCAC เชิญ 8 ผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนเสริมกระบวนการรับรอง

    ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชนมาร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) เพื่อเสริมมาตรฐานและความเข้มแข็งให้กับกระบวนการรับรอง ได้แก่ ดร. กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองและรองประธานคณะกรรมการ CAC, นายประสัณห์ เชื้อพานิช กรรมการผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชี, นายยุทธ วรฉัตรธาร กรรมการผู้ชำนาญด้านธรรมาภิบาล, นายสุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ กรรมการผู้แทนจากสมาคมผู้ตรวจสอบภายใน, นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย, นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรองจาก CAC, นายยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรองจาก CAC, นายอนุวัฒน์ จงยินดี กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรองจาก CAC

     การเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรองจะทำให้ระบบการรับรองของ CAC เข้มแข็งมากขึ้นจากประโยชน์ที่จะได้จากความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิในภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการรับรองของ CAC ที่จะต้องรองรับจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก" ดร. บัณฑิต กล่าว

    นอกจากนี้ ทาง CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการขอการรับรอง รวมถึงได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือนหลังการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ หลังจากนั้นบริษัทจะต้องรอเวลาอีก 6 เดือนก่อนจะสามารถขอยื่นเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ใหม่

     การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูลและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน

     CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมโดยสมัครใจเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชัน ล่าสุดมีจำนวนบริษัทเอกชนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับ CAC แล้ว 485 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 280 บริษัท) ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 122 จาก 78 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2557

      อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!