- Details
- Category: คอรัปชั่น
- Published: Wednesday, 18 March 2015 09:46
- Hits: 6221
ตามไปดูที่เคมบริดจ์ มีระบบป้องกันคอร์รัปชันกันอย่างไร ?
แนวหน้า
ถึง อาจารย์ต่อ
มีเรื่องมาเล่าให้พ่อฟัง
เมื่อวานฝ่ายทะเบียนภาควิชา ที่เคมบริดจ์ติดต่อมาว่า ผมหายไปไหน ถ้าไม่มาทำงานที่ภาค ก็ขอให้ช่วยไปทำแบบศึกษาออนไลน์สักหัวข้อ จะได้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ดี ผมจึงเข้าไปเลือกดูว่ามีหัวข้อไหนน่าสนใจบ้าง จนได้พบกับเรื่องระเบียบการป้องกันคอร์รัปชันของมหาวิทยาลัย ด้วยว่างานวิจัยของผมศึกษาคอร์รัปชันในประเทศไทย จึงอยากรู้เหมือนกันว่า ในสถาบันที่มีชื่อเสียง เขามีระบบป้องกันคอร์รัปชันอย่างไรบ้าง
โห...สุดยอดเลยพ่อ มหาวิทยาลัยนี้มีระเบียบละเอียดและรัดกุมมาก บังคับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องศึกษาและต้องผ่านแบบทดสอบ และยังส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วย ในแบบศึกษานี้ชี้แจงว่ากรณีไหน เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร กรณีที่ไม่ชัดเจน มหาวิทยาลัยมีฝ่ายกฎหมายให้คำแนะนำ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยชี้ชัดว่าจะ“ไม่อดทน” กับการคอร์รัปชัน ไม่ว่ากรณีใดๆ ดังที่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่และสมาชิกมหาวิทยาลัยเคยถูกไล่ออกและดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง จุดเด่นคือสื่อการสอนนี้ออกแบบดีน่าติดตาม และมีการให้ตอบโต้ตลอดการศึกษา ในเวลาที่กระชับ ไม่เกิน 20-30 นาที
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คือ กระบวนการตรวจสอบความเชื่อมโยงกันในการจัดซื้อจัดจ้าง กระบวนการนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องชี้แจงความเกี่ยวข้อง การติดต่อที่ผ่านมา และความสัมพันธ์กับผู้เสนอราคา เพื่อนำไปประเมินความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน ยิ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นเครือญาติกัน ความเสี่ยงก็ยิ่งสูง และอาจนำไปสู่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายได้ โดยไม่ต้องรอให้มีพลเมืองดีร้องเรียน
แบบศึกษานี้ เป็นหนึ่งในหลักฐานที่อธิบายว่า ทำไมประเทศอังกฤษจึงได้รับการวัดผลโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกมาโดยตลอด เพียงองค์กรหนึ่ง เช่นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นี้ ยังมีกฎระเบียบที่ละเอียด รัดกุม และมีการบังคับให้บุคคลากรศึกษาอย่างเป็นระบบ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีกฎระเบียบมากมาย เช่น พรบ.ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน พรบ.การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พรบ.ฮั๊วประมูล และระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันเพื่อผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่มาก ทำให้ในภาพรวม เรายังคงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงอย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย ที่อยากจะสารภาพกับพ่อคือ ตอนจบของแบบศึกษานี้ เขามีให้ทำข้อสอบวัดผล ผมมั่นใจมากว่าได้เต็มแน่ๆ เพราะคิดว่าตัวเองศึกษาเรื่องการคอร์รัปชันมาจนแตกฉาน ผลคือ...ไม่ผ่าน ถ้าไม่เพราะมาตรฐานการตีความคอร์รัปชันของไทยที่ผมศึกษามาจะต่ำกว่ามาตรฐานของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็คงเพราะมาตรฐานความรู้ของผมมันด้อยเอง ขอตัวไปสอบซ่อมก่อนนะครับพ่อ
คิดถึงพ่อเสมอ
ต่อภัสสร์
ลูกรัก
ดีใจที่ลูกมีโอกาสได้ไปศึกษาเรื่องการป้องกันและปรามปรามการคอร์รัปชัน ในมหาวิทยาลัยที่มีระเบียบและระบบด้านนี้ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี
พ่อเห็นด้วยว่า กระบวนการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้มีตำแหน่ง รับเงินเดือนจากประชาชนนี้ ถ้ามีกระบวนการตรวจสอบความเชื่อมโยง และคุณสมบัติอย่างโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เสียดายที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทั่วโลก แต่ประเทศไทยเองไม่สามารถนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลได้
นอกจากนี้ ลูกรู้ไหมว่า ด้วยระเบียบและระบบเช่นนี้ ได้หล่อหลอมนักต่อสู้คอร์รัปชันที่เรารู้จักกันดีแล้วหลายคนด้วยกัน ดังเช่น ลี กวน ยู นักเรียนวิชากฎหมาย อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ผู้มีความตั้งมั่นในการสร้างรัฐบาลที่สะอาดและมีประสิทธิผล จนสามารถนำพาประเทศไปสู่อันดับหนึ่งของประเทศที่โปร่งใสที่สุดในโลกในปี 2010 ผู้นำของไทยเช่นคุณอานันท์ ปันยารชุน ปริญญาตรีกฎหมาย อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ริเริ่มแนวความคิดเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการภาครัฐ และเป็นผู้ผลักดันระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
ที่พ่อเล่าให้ฟัง เพราะต้องการจะสื่อให้ลูกรู้ว่า นอกจากระเบียบและระบบที่ดีแล้ว คนก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งคนที่ออกแบบระบบ และคนที่บังคับใช้ระเบียบ ความท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรให้ได้คนที่มีความตั้งใจจริงในการต่อต้านคอร์รัปชันมาทำหน้าที่นี้ ดังเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งที่ว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ..ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย" ...'พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในพิธีเปิดงานลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ 11/12/2512'
คิดถึงลูกเสมอ
พ่อ