- Details
- Category: 3 จ.ใต้
- Published: Tuesday, 05 January 2016 18:32
- Hits: 11269
เจรจาดับ'ไฟใต้' โอกาสในปี 59 ฝันหรือเป็นจริง
มติชนออนไลน์ : นับเป็น 3 วันติดๆ ก่อนเวลาจะเดินทางข้ามเข้าสู่ปี พ.ศ.2559 ที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เป็นความพยายามของคนร้ายที่ต้องการสร้างความเสียหายให้เกิดแก่ทรัพย์สินและชีวิต
ทั้งนี้ในช่วงส่งท้ายปี 2558 คือ ระหว่างวันที่ 28-30 ธันวาคม 2558 ได้เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่นราธิวาสทั้งสิ้น
30 ธันวาคม 2558 คนร้ายวางระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่ทหารชุดลาดตระเวนเส้นทางให้คณะครู สังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 3 ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 33 บนถนนสายมะนังตายอ บ้านโคกสุมุ หมู่ 8 ต.บางปอ แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ถนนกับรถกระบะของเจ้าหน้าที่ได้รับความเสียหาย
29 ธันวาคม 2558 คนร้ายบุกยิงนายบุญเลิศ จินดาธนะนันท์ ปลัด อบต.ร่มไทร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ถึงสำนักงาน อบต.เสียชีวิต คนร้ายจับนายบุญเลิศเอามือมือไพล่หลัง ก่อนจ่อยิงท้ายทอย
วันที่ 28 ธันวาคม 2558 คนร้ายลอบวางระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ทหารชุด รปภ.ครู สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4802 กรมทหารพรานที่ 48 บริเวณเสาราวเหล็กกั้นขอบทางข้างสะพานบ้านลูโบ๊ะบาตู หมู่ 4 ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี มีทหารบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย
เมื่อคลี่ดูตัวเลขยอดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนหนึ่งของ จ.สงขลา จากหน่วยงานหนึ่งของกองกำลังทหารภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 6 พฤศจิกายน 2558 พบว่าเกิดเหตุ 6,947 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2,588 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4,138 คน
แบ่งประเภทของเหตุการณ์หลังมีการสืบสวนสอบสวนแล้วออกเป็น 1.การก่อความไม่สงบ 2,585 ครั้ง 2.ก่ออาชญากรรม 2,058 ครั้ง 3.การกระทำเชิงสัญลักษณ์ 2,108 ครั้ง และ 4.การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ 196 ครั้ง
ในส่วนของการก่อความไม่สงบนั้น พบว่าปัตตานีเกิดเหตุรวม 1,004 ครั้ง นราธิวาส 916 ครั้ง ยะลา 606 ครั้ง และสงขลา 56 ครั้ง
จากตัวเลขแยกย่อยจะพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดและเป็นวิธีการถนัดของคนร้ายมากที่สุดคือ การใช้มือระเบิดประกอบวัตถุระเบิดแล้วต่อชนวนจุดคอยดักกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ยานพาหนะเข้าสู่กับดักที่วางไว้
ท่ามกลางเสียงระเบิด การสูญเสียและความเสียหายที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่หรือข้าราชการหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเดินหน้าป้องกันและสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น มิให้เกิดช่องว่างระหว่างความหลากหลายของเชื้อชาติในพื้นที่
ในส่วนของรัฐบาล ได้ตั้งคณะเจรจาหาแผนสงบศึก สยบเหตุการณ์ให้บางเบาลง โดยมีเป้าหมายต้องสิ้นเสียงปืนและเกิดสันติสุขให้บังเกิดขึ้น ใช้วิธีการนำการเมืองเข้าเจรจากับตัวแทนของกลุ่มคนร้ายในห้วงที่ผ่านมาที่ไม่เปิดเผยและเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มีการเปิดตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวในชื่อ'มารา ปาตานี'มาจากการรวมตัวของ 6 กลุ่ม มีการแถลงข่าวเปิดตัวชัดเจนที่ประเทศมาเลเซีย ที่อ้างสิทธิถึงความเป็นกลุ่มก้อนของตนเองที่จะคุยกับตัวแทนเจรจาของฝ่ายไทย ประกอบด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็น รวมไปถึงกลุ่มพูโลที่แยกย่อยออกเป็นกลุ่มๆ
โดยทำการเปิดตัวต่อคณะสื่อมวลชนต่างชาติและของไทยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 และมีการเจรจากับฝ่ายไทยก่อนหน้าเพียง 2 วัน พร้อมมีข้อเสนอให้รัฐบาล 3 ข้อ ประกอบด้วย ให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ให้ไทยยอมรับว่ากลุ่มมารา ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มเห็นต่าง ยังอยู่บนโต๊ะการเจรจา และสุดท้ายให้ไทยใช้กฎหมายคุ้มครองคณะพูดคุยของมารา ปาตานี จำนวน 15 คน
ขณะที่คณะของ พล.อ.อักษรา เกิดผล ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ได้เสนอกลับไปเช่นกันคือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับผู้เห็นต่าง ใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวชี้วัด ต่อมาเป็นเรื่องที่อยากให้กลุ่มเห็นต่างแจ้งความต้องการที่อยากให้เห็นการพัฒนาในพื้นที่
สุดท้ายเป็นเรื่องความอยุติธรรมที่รัฐบาลไทยจะใช้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลให้อย่างชัดเจน
ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2558 สื่อมวลชนได้สอบถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงข้อเรียกร้องของมารา ปาตานี โดยเฉพาะการรับรองชื่อกลุ่มเป็นตัวแทนในการเจรจากับฝ่ายไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องพิสูจน์ความไว้วางใจกันก่อน และให้กลุ่มไปสร้างความยอมรับกันเองให้หมดก่อน เนื่องจากมีหลายกลุ่ม รัฐบาลไทยเป็นเอกภาพแล้ว ส่วนของกลุ่มก็ต้องเป็นเช่นกัน
นายกฯยังกล่าวตอนหนึ่งที่ทำให้เห็นชัดว่ามีการจัดวางกลุ่มมารา ปาตานีไว้ที่ระนาบไหน
โดยเฉพาะเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า 3 ข้อเสนอของมารา ปาตานีนั้น รัฐบาลจะรับหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทันทีว่า "ยัง และอย่ามากดดันผมให้รับ ท่านรับเขาหรือไม่ ถ้ารับแล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น ท่านรับผิดชอบได้ไหม นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จะพูดจะตัดสินใจอะไร เสนอข่าวอะไรระวังด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ล่อแหลมละเอียดอ่อน จึงต้องหาวิธีการสร้างความเข้าใจ ถ้าไม่ได้อย่างนี้จะไปอย่างไร เขาเรียกว่าต่อรอง"
วันนี้ความพยายามของรัฐบาลไทยพร้อมจะเปิดการเจรจาทำให้ทุกอย่างจบลงที่โต๊ะเจรจา แต่ก็เข้าใจฝ่ายเห็นต่างอย่างถ่องแท้เช่นกันว่า ยังขาดความเป็นเอกภาพ ขาดผู้นำที่จะทำให้ทุกกลุ่มต้องหยุดนิ่ง หยุดการกระทำ เพราะหลังจากการเจรจาเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แม้เหตุการณ์จะลดลง แต่ยังเกิดขึ้นให้เห็นเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญานของรัฐบาลไทยต่อการใช้แผนเจรจาดับไฟใต้ ยังไม่ถึงกับเงียบหายเสียทีเดียว
การแถลงผลงานของรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า พร้อมจะทำให้ในปี 2559 สามารถจะยุติสถานการณ์ลงได้อันเนื่องมาจากการดำเนินการในส่วนของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และศาล พร้อมกับความร่วมมือของภาคประชาชน มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเป็นลำดับเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งโครงการพาคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 ยังดำเนินไปด้วยดี มีคนกลับใจเข้าร่วมกว่า 2 พันคน
ในงานแถลงผลงานรัฐบาลเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในส่วนของมหาดไทยว่า "สำหรับปัญหาชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประวิตรได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้แนวทางการเมืองแก้ปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่การทหาร เดินหน้าพัฒนาชุมชน แผนงานต่างๆ ต้องตอบสนองความต้องการของพื้นที่และเกิดความพึงพอใจต่อประชาชน