- Details
- Category: กองทัพบก
- Published: Monday, 12 October 2015 11:49
- Hits: 10952
ทบ.แจง เปล่าเลิกชุด'บิ๊กโด่ง' จตุพรชี้สารบิ๊กตู่ ปฏิบัติการทหาร ติงกรธ.หลงทิศ วงเสวนาอัดยับ'ซิงเกิลเกตเวย์'
กองทัพบกแจงเปลี่ยนแบบชุดลายพราง ยันไม่ได้ยกเลิกชุดสมัย'บิ๊กโด่ง''จตุพร' ชี้สารนายกฯ แค่ปฏิบัติการทางทหาร บอกถ้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบปิดลับ ก็ไม่ควรมีกรธ. 'นิกร" ยันไม่มีล็อบบี้เลือกประธานสปท. 'อลงกรณ์' ย้ำพร้อมหลีกทางคู่แข่งนั่งรองปธ. เพื่อไทยไม่เห็นด้วยศึกษาร่างรธน.ฉบับปี"17 รวมถึงการตั้งองค์กรคุมนโยบายพรรคการเมือง ฉุดประเทศถอยหลัง'ปึ้ง' จี้สนช.สรรหาป.ป.ช. คนใหม่แทน'ภักดี' หลังสตง.มีหนังสือแจ้งพ้นสถานภาพ
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9084 ข่าวสดรายวัน
เกตเวย์ - นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์มธ. นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์ ร่วมเสวนาเรื่อง "พิพากษ์เต็มรูปแบบซิงเกิล เกตเวย์ อินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นคง?" ที่คณะศิลปศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.
ทบ.แจงเปลี่ยนเครื่องแบบสนาม
วันที่ 11 ต.ค. พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) เผยว่า พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรงระดับกองทัพภาคลงไป หลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เพื่อหารือเกี่ยวกับเครื่องแบบสนามใหม่ที่ทบ.อนุมัติให้ใช้เพื่อพลางไปก่อนเมื่อกลางปี 2558 สาเหตุที่ต้องมีการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากในห้วงที่ผ่านมา ทบ.ได้รับข้อมูลและเสียงสะท้อนจากหน่วยและกำลังพลหลังจากได้ใช้งานเครื่องแบบสนามเพื่อพลางมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบว่ามีข้อจำกัดและเสนอว่าควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานยิ่งขึ้น เช่น วัสดุบางอย่างที่ใช้ประกอบเสื่อมสภาพได้ง่าย ข้อจำกัดของแขนเสื้อ กำลังพลที่มีรูปร่างอ้วนรู้สึกไม่สบายในการสวมใส่ รวมทั้งด้านราคา
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ผู้บังคับหน่วยหลายคนแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางจนในที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่า เครื่องแบบสนามที่ ทบ.อนุมัติใช้เพื่อพลางไปก่อนหน้านี้นั้น มีข้อจำกัดหลายประการจริง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและไม่เป็นภาระกำลังพลมากนักจึงได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบบางประการของเครื่องแบบสนามใหม่ โดยนำเอาเครื่องแบบสนามที่คณะทำงานของ ทบ. ออกแบบไว้ เมื่อปี 2557 แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้เนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ นำมาพิจารณาร่วมกับแบบใหม่ที่ได้อนุมัติใช้ เพื่อพลางเมื่อปี 2558 จนได้ข้อสรุปของชุด เครื่องแบบสนามล่าสุด คือใช้เครื่องแบบสนามที่คณะทำงานของทบ.เคยออกแบบไว้เมื่อปี 2557 และให้แก้ไขกระเป๋าเสื้อด้านล่างเป็นแบบเฉียงซ่อนใน ไม่มีซิป ส่วนเครื่องหมาย เป็นแบบเย็บติดทั้งหมด สำหรับเครื่องแบบสนามที่ประกาศใช้เมื่อปี 2558 นั้นยังสามารถนำมาใช้งานได้ต่อไป
ยันไม่ได้ยกเลิกชุดปี 58
"ขอย้ำว่า ทบ.ยังไม่ได้ยกเลิกเครื่องแบบสนามที่มีการประกาศใช้เพื่อพลางเมื่อปี 2558 แต่เครื่องแบบสนามที่ได้พิจารณาล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.นั้น เป็นเครื่องแบบสนามอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ให้กำลังพลสามารถนำไปสวมใส่ได้ตามความเหมาะสมของภารกิจ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ ราชการสนาม ภารกิจกองกำลังใช้แทนการปฏิบัติงานในหน่วยที่ตั้งปกติ" รองโฆษกกองทัพบกกล่าว
พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าวว่า ขอเรียนว่า ทบ. ได้ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องแบบสนามมาเป็นระยะ โดยเฉพาะในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากชุดลายพรางปกติ พัฒนามาเป็นชุดลายพรางดิจิตอล ซึ่งมีความกลมกลืนกับภูมิประเทศและเป็นเครื่องแบบสนามที่มีอนุมัติใช้อยู่ในปัจจุบัน ต่อมาในปี 2557 มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องแบบสนามเพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบเครื่องแบบสนามให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจนได้รูปแบบที่ชัดเจน แล้ว แต่ยังไม่ทันได้ขออนุมัติใช้เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ จนเมื่อในปี 2558 ได้พิจารณากำหนดรูปแบบขึ้นมาใหม่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดที่กำลังพลจำนวนมากท้วงติง ซึ่งเครื่องแบบสนามชุดนี้ได้อนุมัติให้ใช้เพื่อพลางแล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติเพื่อใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น เพื่อให้ชุดเครื่องแบบสนามของ ทบ.มีความเหมาะสมสำหรับใช้งานมากที่สุดและไม่เป็นภาระแก่กำลังพล จึงได้เชิญหน่วยขึ้นตรงซึ่งมีกำลังพลที่สัมผัสกับชุดเครื่องแบบสนามมากที่สุดมาร่วมประชุมพิจารณาจนสามารถกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมตามที่กล่าว
"ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้ใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในทุกด้าน ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพล ในทุกนโยบายและทุกการเปลี่ยนแปลงของทบ. จึงขอให้สื่อมวลชนเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และขออย่านำไปเชื่อมโยงกับเรื่องใดๆ จนอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด นอกจากนี้ บางข่าวที่นำเสนอเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่อาจยังไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอ และคาดการณ์ไปเอง สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะได้ จึงขอให้ตระหนักในการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงด้วย" พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าว
ไก่อูแจงรบ.ไม่มีจ่ายสวนยาง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราที่ ก.ก.ละ 60 บาท และให้ชะลอการโค่นยางตามนโยบายทวงคืนผืนป่า และอื่นๆ อันเนื่องมาจากปัญหาราคายางตกต่ำ หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือจะมีชาวสวนยางออกมาเคลื่อนไหวนั้น รัฐบาลขอเรียนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยการจ่ายเงินอุดหนุนราคา หลายรายการด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนกลไลตลาด นำไปสู่ความเสียหายในระยะยาว เช่น เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดเดียวกันจนผลผลิตล้นตลาด และปริมาณเงินที่รัฐอุดหนุนจะเพิ่มขึ้นมากเป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มไม่เฉพาะแต่ชาวสวนยางเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปประเทศด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตร ทั้งการ ช่วยเหลือเรื่องลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมตลาด ให้เงินอุดหนุนเฉพาะเรื่องตามสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกหรือโซนนิ่ง และอีกหลายๆ เรื่อง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จึงขอวิงวอนให้ชาวสวนยางเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐบาล เราไม่ต้องการแก้ไขปัญหาแบบที่ผ่านๆ มาด้วยการให้เงินแต่เพียงอย่างเดียวจนเป็นนิสัย ทำให้ประเทศต้องเป็นหนี้ และเกษตรกรเองก็จะต้องประสบปัญหาเช่นนี้ซ้ำซาก รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจ่ายเงินอุดหนุนให้ทุกครั้ง วันนี้ราคายางในตลาดโลกก็ไม่ได้สูงนักเพราะความต้องการยางโดยภาพรวมยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รายได้จากการส่งออกยางก็ได้รับผลกระทบ รัฐก็จัดเก็บภาษีจากการขายยางดิบไม่ได้มากด้วยเช่นกัน ขอให้ชาวสวนยางเห็นใจรัฐบาลและเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งรัฐบาลต้องดูแลด้วย
วอนเห็นใจยันไม่ได้ละเลย
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯเห็นใจพี่น้องชาวสวนยาง ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการ ช่วยเหลือระยะสั้นต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ เพราะเข้าใจดีว่าภาคการเกษตรเป็นกำลังหลักของประเทศ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจและเห็นใจรัฐบาลด้วย ไม่อยากให้บังคับว่ารัฐบาลต้องทำแบบนั้นแบบนี้ รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนแต่เรากำลังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งการเพิ่มความต้องการใช้ยาง สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เช่น ล้อยาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง จัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นแทนยางโดยดูความต้องการของตลาด นอกเหนือจากนั้นจะเร่งผลักดันการบริหารกฎหมายคือ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ให้มีองค์คณะกรรมการ ที่ครบถ้วน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การออกระเบียบว่าด้วย การจัดสรรเงินกองทุน ค่าธรรมเนียมการ ส่งออกยาง เพื่อใช้เป็นสวัสดิการให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตลอดจนการซื้อยางโดยอาศัยกลไกตลาดเพื่อยกระดับราคา ทั้งนี้ก็ไม่ได้ละเลยที่จะพิจารณามาตรการการอุดหนุนเงินช่วยเหลือแต่ต้องมีเหตุผลรองรับมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ชี้เหตุผล"บิ๊กตู่"ออกสารถึงปชช.
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการทำงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมความพร้อมเรื่องดังกล่าว มีประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมข้อมูลเอกสารส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมั่นใจว่าจะสามารถแถลงต่อรัฐสภาและสาธารณะได้ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลคืบหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน หรือการขับเคลื่อนงานของกระทรวงต่างๆ งานหลายด้านมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ ทั้งการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ปัญหาปราบปรามการค้ามนุษย์ ภัยแล้ง เศรษฐกิจ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ การบริหารงานของแต่ละกระทรวงทั้ง 11 ด้าน ยังมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้มีปัญหาในเรื่องของงบลงทุนแต่จากการรายงานของกระทรวงต่างๆ พบว่าเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ และผลงานที่สำคัญในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาคือ รัฐบาลสามารถทำให้ประเทศขับเคลื่อนได้ แม้มีปัญหาเรื่องการส่งออกแต่สามารถเดินหน้าประเทศไปได้ด้วยความสงบเรียบร้อย
นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสื่อสารกับประชาชนจึงได้มีการแถลงสารจากใจเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยพยายามให้ทุกอย่างดำเนินการอย่างราบรื่น เป็นไปตามที่รัฐบาลวางไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ และการสร้างความปรองดอง เพราะขณะนี้ประเทศอยู่ในช่วงเวลาของการปฏิรูป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเร่งรัดการทำงานหลายด้านเพื่อให้งานต่างๆ เดินหน้าไปด้วยกัน จึงย้ำเรื่องเหล่านี้กับประชาชนอีกครั้ง
ปรองดองคนละเรื่องกับนิรโทษ
ส่วนที่ในสารจากใจนายกฯ ระบุว่า อยากให้ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศเป็นครั้งสุดท้ายนั้น นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ถ้าไม่อยากให้ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้างเมืองอีก ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ประชาชน ข้าราชการ ฯลฯ และต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาในประเทศไทยนั้นเรื้อรัง จึงต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
"ส่วนการสร้างความปรองดองผมคิดว่าเป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึก ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน การพูดคุยสร้างความเข้าใจมีความสำคัญ และ 1 ปีผ่านมาทุกฝ่ายก็ทำกันอยู่ แต่ต้องเน้นเชิงคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามการสร้างความปรองดองกับการนิรโทษกรรมจะเอามารวมกันไม่ได้ แม้แต่ ละเรื่องจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่จะจับมาเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกันคงไม่ได้ เพราะต้องดูในรายละเอียด แต่ละเรื่องมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และคิดว่ากระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญที่สุด" นายสุวพันธุ์กล่าว
เมื่อถามว่า ในส่วนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะรู้สึกกดดันจากความคาดหวังของสังคมหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นงานยาก ขณะนี้ กรธ.กำลังตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกหลายชุดเพื่อแยกกันดูตามความเหมาะสม เชื่อว่าการทำงานของ กรธ.จะมีความคืบหน้าเป็นระยะๆ ขณะที่การทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องมีความเชื่อมโยงกับงานของรัฐบาล และต้องมีการพูดคุยเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งต้องรอให้ สปท.เป็นรูปเป็นร่างก่อนจะมีการคุยกัน
"จตุพร"ชี้ปฏิบัติการทางทหาร
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ทางยูทูบ ตอนหนึ่งว่า กรณีพล.ต.สรรเสริญ แถลงสารของพล.อ.ประยุทธ์ ถึงเป้าหมายการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ตนไม่เชื่อว่าสารที่พล.ต.สรรเสริญ นำมาเผยแพร่นั้นเป็นสารของ พล.อ.ประยุทธ์ เขียนเอง แต่คงเป็นคณะปฏิบัติการข่าวทางทหาร หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการไอโอ เพื่อป้องกันผลกระทบไปถึงผู้นำทางอำนาจ แต่หลักใหญ่ของประชาธิปไตยสากลนั้นอยู่ที่อำนาจเป็นของประชาชน จะตัดสินใจถูกผิดอย่างไรก็เป็นอำนาจของประชาชน ส่วนสิทธิมนุษยชนนั้นต้องยอมรับว่า คสช.โชคดีกว่าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (รสช.) เพราะประชาชนให้โอกาส แม้จะเลื่อนโรดแม็ปหลายครั้ง แต่ประชาชนเห็นว่าบ้านเมืองบอบช้ำจากเหตุการณ์ปิดเมืองหลวง ปิดภาคใต้ เมื่อพวกตนออกมาเพียง 12 วันก็ถูกอ้างเหตุมายึดอำนาจ
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นอำนาจต้องเป็นของประชาชน เพราะคนในประเทศมีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งเป็นหลักใหญ่และเป็นที่มาของอำนาจ ถ้า นายกฯ วุฒิสภา และองค์กรอิสระ ไม่ได้มาจากประชาชนก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย สำหรับการปราบปรามการคอร์รัปชั่นตนเห็นว่าไม่มีคนไทยแม้คนเดียวจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่การสร้างกระแสต้านคอร์รัปชั่นเพียงเพื่อหยิบยกมากลบที่มานายกฯ ที่มาวุฒิสภา และองค์กรอิสระที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
นายจตุพร กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญถ้าเขียนเป็นความลับ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ก็ไม่ต้องตั้ง กรธ. ข้อสงสัยของประชาชนเป็นโอกาสให้ กรธ.ได้ชี้แจง ประเทศไม่เสียหาย เพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบกับความมั่นคงใดๆเลย ส่วนปัญหาเผด็จการรัฐสภานั้นเชื่อว่าเป็นวาทกรรมของเผด็จการเสียงข้างน้อย เมื่อสู้เสียงข้างมากไม่ได้จึงกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ ดังนั้น ต้องยึดเสียงประชาชนที่เป็นเสียงข้างมาก
"วรชัย"ชี้ออกสารกลัวไม่ผ่านประชามติ
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ แถลงสารแนะนำให้นักการเมือง กลุ่มการ เมือง และนักวิชาการ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้ให้ ดีกว่าแสดงความเห็นผ่านสื่อว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการบังคับใช้กับประชาชนซึ่งทุกคนมีส่วนได้เสีย ดังนั้น การระดมความคิดเห็นในที่สาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญ รัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ต้องมีลักษณะเปิดกว้างให้คนแสดงความเห็นได้ ส่วนการเสนอไปยังกรธ.ก็มีข้อจำกัด แต่ถ้าให้สื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารไปยังกรธ.เท่ากับว่าประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ อีกทั้งสื่อยังเป็นตัวเชื่อมไปถึงผู้มีอำนาจ ตนจึงเห็นว่าไม่ควรมีการปิดกั้นแต่ควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
นายวรชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปิดกว้างในส่วนนี้ เพราะประชาชนมีส่วนได้เสียโดยตรง กรธ.เป็นตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ และกรธ.เองต้องรับฟังความเห็นประชาชนผ่านสื่อได้ และถ้ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจะกลัวอะไร หรือกลัวว่าถ้า บางประเด็นที่กรธ.ร่างออกมาประชาชนไม่ถูกใจจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แล้วกลัวว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในการทำประชามติ
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจส่งสารถึงประชาชนอีกในวันเสาร์เหมาะสมหรือไม่ นายวรชัยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดเท่าไร ช่องทางไหนก็ได้เพราะเป็นผู้อำนาจ แต่เนื้อหาสาระที่พูดเป็นอย่างไร มีคนฟังแค่ไหนต้องพิจารณา ทางที่ดีควรเชิญคนที่ไม่เห็นด้วยมาร่วมแสดงความเห็น อาจจะแสดงความเห็นกันคนละวันก็ได้
นิกรชี้คนเป็นปธ.ต้องแข็งแรง
นายนิกร จำนง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการลงมติเลือกประธานและรองประธานสปท.วันที่ 13 ต.ค.นี้ว่า ขณะนี้ตนยังไม่มีใครในใจ ส่วนรายชื่อว่าที่ประธานและรองประธานทราบจากการรายงานข่าวเท่านั้น โดยไม่มีสมาชิกมาล็อบบี้ให้เลือกใครเป็นพิเศษ ส่วนตัวคิดว่าจะตัดสินใจเลือกบุคคลที่เหมาะสมในวันลงมติเลือกประธานและรองประธานสปท.ในวันที่ 13 ต.ค.นี้ทีเดียวเลย
นายนิกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสำหรับ สเป๊กหรือคุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานสปท.ตามความเห็นส่วนตัวนั้น คิดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สามารถทำหน้าที่ควบคุมการประชุมตามข้อบังคับการประชุมได้ดี และต้องมีสุขภาพที่ดีสามารถนั่งควบคุมการประชุมครั้งละนานๆ ได้ และที่สำคัญจะต้องมีความอาวุโสเป็นที่เกรงใจและเป็นตัวแทนของสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับ
"อลงกรณ์"พร้อมหลีกทางคู่ชิง
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปท. กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อชิงตำแหน่งรองประธานสปท.คนที่ 1 ว่า ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ ซึ่งขณะที่กำลังพิจารณาอยู่หากมีบุคคลที่เหมาะสม ตนก็พร้อมสนับสนุน และหลีกทางใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะพิจารณา เพราะตนอยู่ที่ไหนทำงานตรงไหนก็ได้ ตนก็พร้อมทุ่มเทเพื่อการปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมาเป็นเลขาฯ วิป สปช.ก็ทำงานเรื่องการปฏิรูปมา ครั้งนี้ถือเป็นการโอนการทำงานและต่อยอดการปฏิรูปมาสู่การปฏิบัติ จึงต้องมีการทำงานที่เข้มแข็งภายในเวลาที่กำหนด เพราะการทำงานของ สปท.ครั้งนี้ไม่ใช่การทำหนึ่งใหม่ ต้องประสานการทำงานใกล้ชิดกับ ครม.และ สนช.
นายอลงกรณ์กล่าวถึงกรณีที่อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ สปท.สายข้าราชการ ลาออก เพื่อรับเงินเดือนตำแหน่งเดียว ว่า ในมุมมองของตนเรื่องคุณสมบัติของ สปท.ไม่มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว ถ้ามองมุมบวกจะเห็นว่าการทำหน้าที่ สปท.และตำแหน่ง อื่นด้วยเป็นการเสริมการทำงานมากขึ้น พรรคการเมืองควรคิดมุมบวก อย่าคิดแค่เรื่องเล็กน้อยขอให้มองภาพกว้างภาพใหญ่ ยิ่งคนที่เป็น สปท.มีคุณสมบัติมีประสบการณ์มาก จะมีส่วนเชื่อมโยงการทำงานในการบริหารขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้นได้เร็ว และ สปท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและกำหนดกติกาใดๆ จึงไม่มีสาระสำคัญเรื่องบทบาทหน้าที่ แม้ สปท.จะสวมหมวกหลายใบแต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน จึงอยากให้อดีต ส.ส.เสนอเรื่องปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมในมุมสร้างสรรค์เข้ามามากกว่า
ปชป.ฝากกรธ.4 ข้อ
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกิจกรรมพิเศษภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากฝาก กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานว่า การร่างรัฐธรรมนูญควรคำนึงถึงการร่างฯบนพื้นฐานของประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยนำบทเรียนชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาพิจารณา ว่าทำไมร่างฯ จึงไม่ผ่านมติของสมาชิก สปช. จึงขอเสนอเพิ่มเติมเพื่อจะเป็นข้อสังเกตในการร่างฯ ดังนี้
1.นำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2517 มาศึกษาวิเคราะห์ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอไว้ 2.เพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง ไม่ใช่จ้องแต่จะยุบหรือบั่นทอน 3.นำหลักธรรม หรือ ธรรมาธิปไตยที่สอดคล้องกับจารีตประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นพื้นฐานในการร่างฯ ไม่ตามนักวิชาการที่ฝักใฝ่ฝรั่งมากจนสร้างความบิดเบี้ยวให้สังคมไทย โดยอ้างสากล จนลืมรากเหง้า และ 4.ทำความเข้าใจกับ กรธ.ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มาจากโครงสร้างและการเมือง พรรคการเมือง เพื่อจะได้หาทางป้องกันแยกนักการเมืองที่ดีกับเลวออกจากกันป้องกันระบบประชานิยม และเผด็จการรัฐสภา
"ผมยังเชื่อว่าแม้นายมีชัย จะไม่ใช่สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแต่ด้วยประสบการณ์อย่างโชกโชน คงไม่ปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นเหมือนร่างฯเดิม เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมกลับมาร่มเย็น อยู่เย็นเป็นสุขอีกครั้ง" นายภูมิสรรค์กล่าว
พท.เตือนกรธ.ตั้งโจทย์ผิด
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นคนส่วนใหญ่เชื่อมั่นการทำงานของกรธ.สามารถทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ว่า ถ้าดูรายละเอียดโพลดังกล่าวในส่วนที่ตอบไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ถึงไม่เชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่ากรธ.ชุดนี้มาจากการคัดเลือกของรัฐบาลและคสช. ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เชื่อว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกตนเอง เป็น สิ่งที่กรธ.ต้องรับฟังและระมัดระวังเรื่องการวางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรมาควบคุมการจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เพราะวันนี้การเมืองและสังคมไทยเดินมาไกลเกินกว่าการรับรู้ของกรธ.เป็นอย่างมาก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หลายเรื่องเป็น หลักฐานชัดว่าคนกลุ่มนี้ต้องการแช่แข็งและฉุดประเทศให้ถอยหลังไปให้ไกลที่สุด เท่าที่จะไกลได้ ทั้งการบอกว่าจะไปศึกษารัฐธรรมนูญปี 2517 หรือให้มีองค์กรควบคุมการจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง กรธ.มโนภาพนโยบายประชานิยมจนน่ากลัวเกินเหตุแล้วพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้สังคมคล้อยตาม จึงพยายามไปเขียนใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลืมมองดูนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ที่พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน เข้าช่วยเอสเอ็มอี หรือคิดว่าเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประชารัฐแล้ว ปัญหาจะจบไม่เป็นประชานิยมอีกต่อไป ถ้ากรธ.ตั้งโจทย์ผิด แทนที่จะทำให้การลงทุนรัฐประหารไม่เสียของด้วยการสร้างกติกา วางโครงสร้างให้ประเทศเดินหน้าด้วยประชาธิปไตย แต่กลับไปสร้างเงื่อนไขวางกับดัก ให้รัฐบาลหลังจากนี้เข้ามาแล้วไม่สามารถดำเนินนโยบายอะไรได้ ที่สุดวงจรอุบาทว์ก็กลับมาและจะเกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวง
ต่างชาติจับตามองเสรีภาพในไทย
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภายุโรปออกแถลงการณ์ 23 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และคืนกระบวนการประชาธิปไตยให้กลับคืนมาโดยเร็ว ว่า น่าเสียดายที่ท่าทีที่สำคัญนี้ถูกเพิกเฉยและเบี่ยงเบนตามเคย เห็นชัดว่าโรดแม็ปที่ไปชี้แจงต่อนานาชาติในที่ประชุมสหประชาชาติ ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจใดๆ ขึ้นมาได้เลย ลำพังหลักการที่ให้กระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงทำความเข้าใจทางการทูตนั้นคงยังไม่พอ เพราะสิ่งที่ปฏิบัติจริงก็เห็นๆ กันอยู่ว่าสวนทางกับที่ชี้แจงต่างชาติ เรียกว่าโฆษณากับคนในประเทศอย่าง ทำจริงอีกอย่าง ไปแถลงกับต่างประเทศอีกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองนั้นถือเป็นสิทธิ ขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ ขนาดแค่เสนอแนะแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.ยังทำได้ลำบาก ถูกผู้มีอำนาจกดดันสารพัด วันนี้ต่างชาติเขาจับตามองอย่างเข้าใจและเข้าถึงมากกว่าคนในประเทศบางกลุ่ม เขาเชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยที่ต้องเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ถ้าไม่มีคำตอบที่ชัดเจนหรือแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้การแถลงหรือท่าทีกดดันจากนานาอารยประเทศจะมีอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ
"เตือนใจ-ชาติชาย"ส่อฉลุยนั่งกสม.
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกมธ.เมื่อ วันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน คือ นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตเลขาฯ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และนายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เข้าแสดง วิสัยทัศน์และตอบคำถามของกมธ.ถึงการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าว โดยการแสดงวิสัยทัศน์ของนางเตือนใจได้เน้นถึงกระบวนการ และหลักสิทธิมนุษชน ขณะที่นายชาติชาย เน้นเรื่องการบริหารจัดการองค์กร โดยเห็นว่าหน่วยงานกสม.ไม่ควรมีคณะกรรมการต่างๆ มากมาย แต่ขอให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้วย ซึ่งพร้อมจะนำแนวทางดังกล่าวไปประสานกับกสม.คน อื่นๆ ด้วย
นายวัลลภ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมปรากฏว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน ไม่พบมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่สำคัญคือจะต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งพบว่าทั้ง 2 คนมีผลงาน และมีความเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กมธ.จะทำรายงานสรุปเสนอต่อประธานสนช.เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป
"ปึ้ง"จี้สนช.สอบ"ภักดี"
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ส่งหนังสือ เลขที่ ตผ 0020/0507 ลงวันที่ 29 เม.ย.2558 ถึงส สนช. ให้ดำเนินการต่อสถานภาพนายภักดี โพธิศิริ ตามอำนาจหน้าที่นั้นว่า กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับหนังสือที่ตนเคยยื่นหนังสือลงวันที่ 25 ธ.ค. 2557 ให้สตง. ตรวจสอบเพื่อเรียกเงินคืนจากนายภักดี ซึ่งสตง.ตรวจสอบแล้วเห็นว่านายภักดี ไม่ได้เป็นกรรมการป.ป.ช. มาตั้งแต่ วันที่ 22 ก.ย. 2549 เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายในวันที่ 6 ต.ค. 2549 ตามกำหนด 15 วัน ตามที่มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 บัญญัติบังคับไว้ว่าถ้าผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัทที่ มุ่งหาผลกำไรภายใน 15 วัน ให้ถือว่าผู้นั้น มิเคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.
นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อ สตง.ตรวจสอบได้ข้อยุติแล้วจึงส่งหนังสือให้สนช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หมายความว่าสนช. ต้องดำเนินการให้มีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ต่อไปภายใน 30 วัน แต่จากการติดตามข่าวสารของทางราชการตามสื่อต่างๆ พบว่าสนช.ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ตนจึงยื่นหนังสือให้ประธาน สนช.ทราบถึงข้อกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่านายภักดี ไม่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายในกำหนด 15 วัน ตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 11 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการป.ป.ช. ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 แต่อย่างใด เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบและเห็นว่า นายภักดี ไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทางสนช.ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้มีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ต่อไปตามเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยสนช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ใดที่จะไปดำเนินการเพื่อลงมติให้นายภักดี พ้นจากตำแหน่งได้เลย แต่เมื่อสนช. ยังไม่มีการดำเนินการตามที่สตง.เสนอ ดังนั้น ในวันที่ 13 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสนช.เพื่อให้รีบดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยเร็ว
ชี้ซิงเกิลเกตเวย์ คือ กะลาภิวัฒน์
วันที่ 11 ต.ค. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดม จัดเสวนา "วิพากษ์เต็มรูปแบบ Single Gateway อินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นคง?" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มธ. นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงไซเบอร์ และนายยิ่งชีพ อัฌชานนท์ กลุ่ม iLaw อินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โดยมีน.ส.ลูกแก้ว โชติรส เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว ยังมีนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนหนึ่ง
นายยุกติ กล่าวว่า ตนมองว่านโยบายซิงเกิล เกตเวย์ ไม่สามารถเป็นไปได้ แต่ที่ตนสนใจคือ แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายนี้ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมที่ครอบตัวเองอยู่ในกะลา ซึ่งนโยบายดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่รัฐไทยพยายามจะสร้างกระบวนการหนึ่ง ซึ่งตนเรียกว่า "กะลาภิวัฒน์" เป็นกระบวนการที่จะทำให้สังคมไทยอยู่ในกะลาภายใต้โลกใบใหญ่ที่กำลังก้าวหน้าไปมาก ซึ่งมี 4 ลักษณะ คือ 1.สื่อ ซึ่งสังคมกะลาภิวัฒน์ยังจินตนาการ เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารในระบบของคลื่นวิทยุโทรทัศน์ โดยคิดว่ามีแหล่งกำเนิดคลื่น และเขาจะไปควบคุมแหล่งกำเนิดคลื่นแค่นั้นก็เสร็จ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้
นายยุกติกล่าวต่อว่า 2.ต้องการเห็นสังคมในลักษณะสังคมเชิงเดี่ยว เป็นสังคมที่มีความสงบ ราบเรียบ ผู้คนสามัคคีกัน และคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด ทั้งที่จริงแล้ว สังคมแบบนั้น ไม่เคยมี เป็นสังคมที่มีแต่ในจินตนาการเท่านั้น ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเชิงซ้อนมาตลอด ไม่สามารถปิดหู ปิดตาได้ อย่างไรก็ตาม คนพวกนี้เป็นคนที่ไม่อยากเห็นสังคมที่ใหญ่กว่า แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยากก้าวหน้า เพราะถ้าเขาไม่อยากก้าวหน้า หรือเป็นห่วงลูกหลานที่จะต้องติดอยู่ในกะลา ก็คงจะไม่ส่งลูกไปเรียนยังต่างประเทศ เพียงแต่เขาอยากใช้กะลาในการควบคุมคนอื่นว่าให้เงียบ 3.สังคมแบบคุณพ่อรู้ดี คือจะคิดอะไรก็ต้องตามพ่อ ไม่สามารถโต้แย้งได้
"นี่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน เครื่องมือของฝ่ายประชาธิปไตยค่อยๆ ถูกทำลายลงเรื่อยๆ เราเห็นมาตั้งแต่การยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อตบตาฝรั่ง และนำ ม.44 มาใช้ รีบผ่านพ.ร.บ.การชุมนุม รวมถึงการเรียกคนไปรายงานตัว และการใช้ศาลทหาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ทั้งนี้ การสูญเสียของนโยบายนี้ เป็นการสูญเสียของวิสัยทัศน์แคบๆ ที่คิดแค่เพียงว่าจะแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกมส์ ป้องกันสื่อลามก ควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันสูงสุด ซึ่งในส่วนของการแก้ปัญหานั้นมีอีกหลายวิธี โดยปัญหาเยาวชนติดเกมส์นั้น ครอบครัวสามารถดูแลกันเองได้" นายยุกติกล่าว