- Details
- Category: กองทัพบก
- Published: Sunday, 21 September 2014 16:31
- Hits: 11125
คสช.ย้ำมีช่องทางเสนอความเห็น ชี้คนดีไม่เดือดร้อนกฎอัยการศึก
แนวหน้า : พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยถึงข่าวการห้ามกลุ่มบุคคลต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์หรือเคลื่อนไหวในขณะนี้ว่า โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุมตัวนายนิธิ เอียวศรีวงศ์และผู้ร่วมบรรยายในกิจกรรม “ห้องเรียนประชาธิปไตย”ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า ความจริงแล้วคสช.ไม่ได้ห้ามแต่ตอนนี้มันมีช่องทางที่ให้เสนอแนะได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาหรือการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือศูนย์ต่างๆ ที่เราเปิดให้ แต่ถ้าไปพูดกันในกลุ่ม ในวง ซึ่งมันหมิ่นเหม่ต่อการที่จะมีแนวคิดที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือแนวความคิดที่อ่อนไหวต่อสภาวะขณะนี้ก็ต้องขอกัน เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ปกติ
“กรณีที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เขาใช้ดุลพินิจอย่างมากในการที่จะเข้าไปพูดคุย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปเลย แต่ก่อนหน้านั้นได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกันก่อนแล้วทั้งทางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่และคณะ(จัด ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะเข้าไปเลย ที่ผ่านมาคสช.พยายามที่จะทำให้เกิดการยอมรับในเหตุและผล อยากให้ใช้ช่องทางที่เปิดไว้ดีกว่า อย่าไปพูดกันอยู่ในวงของตัวเองโอกาสที่จะได้รับการแก้ไขก็จะไม่มี ดังนั้นหากจะใช้วิธีแบบเดิม ๆ ก็ต้องขอร้องกันว่าวิธีแบบนั้นมันอ่อนไหวต่อการที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดความไม่เข้าใจกัน ก็ต้องขอร้องกัน”พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.เป็นห่วงหรือไม่ว่าหากไม่เปิดช่องให้เขาระบายกันบ้าง อาจจะเกิดการอัดอั้นจนเอาไม่อยู่ ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า คิดว่าขณะนี้สังคมโดยรวมมีความเข้าใจดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมหาวิทยาลัยหรือส่วนที่เกี่ยวข้องเช่นนักการเมืองก็ดี หรือคนที่ทำงานด้านการเมือง เขาเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ เขาก็ให้เวลา ให้ทุกอย่างได้เดินไปตามที่มันควรจะเป็นความไม่เข้าใจจะมีน้อยมาก
เมื่อถามว่า ต่างประเทศเขาจะเข้าใจเราหรือไม่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า คนไทยเข้าใจ ส่วนคนต่างประเทศถ้าดูในภาพรวมกับท่าทีต่าง ๆ ที่แสดงกลับมา ก็ยังเป็นปกติ แต่แน่นอนจะให้เป็นปกติเหมือนในอดีตคงเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยเหตุและผลเขาอาจจะเข้าใจ แต่การยอมรับทั้งหมดก็ต้องอยู่ในดุลพินิจของแต่ละประเทศเขา แต่เราก็มีเหตุผลของเรา คนไทยยอมรับ ซึ่งคนต่างประเทศก็น่าจะเคารพการตัดสินใจของประเทศไทย
เมื่อถามว่า หากยังคงมีเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คสช.ก็อาจจะต้องเลื่อนการยกเลิกกฎอัยการศึกออกไปอีกใช่หรือไม่ ทีมโฆษกคสช.กล่าวว่า คนที่ดำเนินชีวิตปกติ ไม่ได้ทำอะไรที่ทำให้สังคมเดือดร้อน ทำผิดกฎหมาย เขาไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำว่ามีกฎอัยการศึก เพราะในอีกมุมหนึ่งกฎอัยการศึกสามารถทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลหรือจัดระเบียบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมายได้ ขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำสิ่งผิดกฎหมาย ก็จะไม่ชอบและคิดว่ากฎอัยการศึกเป็นอุปสรรคต่อเขาที่จะทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
“กฎอัยการศึกไม่ได้ทำให้การดำเนินชีวิตของคนปกติรู้สึกอึดอัดเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลกับตรงนี้ จะเลิกหรือไม่เลิก จะอยู่หรือไม่อยู่ มันไม่ได้ทำให้คนดีรู้สึกอะไรเลย เพราะเราไม่ได้มีธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ได้ไปบุกรุกป่าไม้ หรือตั้งรีสอร์ทอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนที่จะต้องมากลัวว่าตำรวจหรือทหารจะใช้กฎอัยการศึกเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ” ทีมโฆษกคสช. กล่าว
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายกฯพูดชัดเจนว่าเข้ามาแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง มีโรดแมปชัดเจน โรดแมประยะที่1 และ 2 ประชาชนให้การยอมรับแล้ว ดังนั้นช่วงนี้ก็ขอเครื่องมือในการทำงานเพื่อทำให้เกิดโรดแมปในระยะที่ 3 สังคมไทยก็น่าจะให้โอกาสคสช.เหมือนที่ให้โอกาสมาในระยะที่ 1 และ 2 เพราะถ้าคสช.มีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน มีความร่วมมือจากประชาชน จากทุกภาคส่วนที่เห็นว่าเราต้องปรับปรุง แก้ไข ยกระดับประเทศ ก็น่าจะให้โอกาส คสช. อย่าได้เร่งรัดมากจนทำให้คสช.รู้สึกว่ามากดดันกันในขณะที่เราก็ตั้งใจทำงาน
ส่วนที่ผลการสำรวจของโพลล์ อยากให้รัฐบาลอยู่ปีกว่านั้น ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า เรื่องนี้ทางนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มีความตั้งใจและบอกสังคมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตั้งใจมาทำแค่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง