- Details
- Category: อาชญากรรม
- Published: Thursday, 18 August 2022 06:50
- Hits: 1746
สอบสวนกลาง โดยปอศ.ร่วมคปภ.จับกุมเครือข่ายโกงประกันภัยโควิด
จากสถานการณ์การระบาดของโควิดปี 2562 ถึงปัจจุบัน ได้นำความเสียหายมาสู่ประเทศไทย ทั้งสุขภาพของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ช่วงการระบาดได้มีกลุ่มคนที่ทำประกันภัยกับบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ฉวยโอกาสในช่องว่างของขั้นตอนการรับเงินประกันนำผลตรวจโรคโควิด ปลอม มายื่นเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
ทั้งยังทำให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิดจริง ได้รับค่าสินไหมล่าช้าหรือไม่ได้รับค่าสินไหม เนื่องจากบริษัทประกัน ขาดสภาพคล่อง ยังมีกลุ่มตัวแทนบริษัทประกันชีวิตบางราย หลอกลวงเก็บเบี้ยประกันไว้ไม่นำเงินส่งบริษัท โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ ในช่วงการแพร่ระบาด
สอบสวนกลาง จึงได้ร่วมคปภ. ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ปลอมเอกสารผลการตรวจโรคโควิด เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากการทำประกันโดยทุจริต และกลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิตแต่ไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตรวมจำนวนทั้งสิ้น 21 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ได้ดำเนินคดีขออนุมัติหมายจับ 21 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอศ. ได้ติดตามจับกุมได้จำนวน 11 ราย และจับกุมกลุ่มที่เป็นตัวแทนประกันภัย 3 ราย รวมทั้งหมด 14ราย ดำเนินคดีต่อไป
ณ สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง ปอศ.ร่วม คปภ.จับกุมเครือข่ายโกงเคลมประกันโควิด นำโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปอศ. นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ และ พ.ต.ท.สาธิต หาวงษ์ชัย พ.ต.ต.รุตินันท์ สัตยาชัย, พ.ต.ต.ชณิตพงศ์ ศิริเวช พ.ต.ต.หญิง สุจิตรา ทองสกุล สว.กก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหารวม 14 ราย ในข้อหาว่า ปลอมและใช้เอกสารปลอม, เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง อีก 3 ราย ข้อหาในข้อหาว่า โดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทฯ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ร่วมกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) แถลงผลความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูล ใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินคดีด้านการฉ้อฉลประกันภัยและการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
นายชัยยุทธ เผยว่า การฉ้อฉลประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันโควิด หรือประกันอื่น ๆ จะทำให้ประชาชนรายอื่นที่จ่ายเบี้ยประกันโดยสุจริตได้รับความเดือดร้อนต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม เพราะบริษัทประกันภัยต้องบริหารความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้เคลมประกัน โดยที่ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นจริง บริษัทก็จะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้เคลมประกันดังกล่าว จากนั้นในปีถัดมา บริษัทก็จะเรียกเก็บเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่จ่ายเบี้ยประกันโดยสุจริตต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กลุ่มคนเหล่านี้ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่ม ซึ่ง คปภ.จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตรวจสอบการเคลมประกัน โดยจะเห็นว่าข้อมูลบางอย่างมีความผิดปกติ ไม่ได้แปลว่าเป็นการฉ้อฉล แต่หมายความว่าเจ้าหน้าที่ คปภ.จะต้องตรวจสอบ
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีคนโกงประกันโควิดจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีฉ้อฉลประกันภัยแล้ว 14 ราย แบ่งเป็นกลุ่มคนที่ฉ้อฉลประกันโควิด-19 จำนวน 11 คน ในข้อหา "ปลอมและใช้เอกสารปลอม, เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง" ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ และประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 11 ราย ซึ่งเคลมเงินประกันไปแล้วทั้งหมด รายละประมาณ 50,000 บาท ส่วนอีก 3 คน เป็นนายหน้าประกัน ดำเนินคดีข้อหา "โดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวนหรือจัดการให้ผู้อื่นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ทำสัญญาให้เกิดขึ้นฯ" ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ ซี่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 53 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวด้วยว่า กลุ่มคนร้ายที่ฉ้อฉลประกันภัยจะชักจูงผู้มีประกันว่าหากอยากได้เงินให้ส่งรายละเอียดส่วนตัวเรื่องประกันไป จากนั้นจะทำเอกสารการติดเชื้อโควิดปลอม ส่งกลับมาให้ผู้เอาประกันนำเอกสารไปยื่นแก่บริษัทฯ เมื่อได้เงินเคลมมาก็จะแบ่งให้ผู้เอาประกัน 20,000 ส่วนคนร้ายได้ไป 30,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับคลินิกรวมถึงแล็บ แจ้งกลับมาว่าไม่พบชื่อของคนไข้ตามเอกสารยืนยันการติดเชื้อแต่อย่างใด แต่นำเอกสารของคนอื่นมาปลอมแปลงชื่อ
เบื้องต้น ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 21 ราย จับกุมแล้ว 14 ราย ยังเหลืออีก 7 รายอยู่ระหว่างการติดตามตัว และจะขยายผลกลุ่มคลินิกและแล็บ รวมถึงผู้ต้องสงสัยรายอื่น ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัยโควิดรวมถึงประกันภัยอื่น ๆ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ ฝากเตือนถึงประชาชนว่าการนำเอกสารปลอมหรือเอกสารอันเป็นเท็จไปเบิกจ่าย ค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต นอกจากจะเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังทำให้ประชาชนผู้เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 จริง เสียประโยชน์จากความล่าช้าในการเบิกค่าสินไหมทดแทน ทั้งยังทำให้รัฐต้องเสียหายจากการนำเงินงบ ประมาณแผ่นดินมาช่วยสนับสนุนบริษัทประกันที่ต้องสูญเสียรายได้ไปจากการกระทำดังกล่าวของกลุ่มคนดังกล่าวด้วย
สำหรับ กลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิตแต่ไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นหรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว ถือว่ามีความผิด ตามกฎหมายและเป็นการซ้ำเติมประชาชนในภาวการณ์ระบาดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ คปภ. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้ กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวน ของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ