- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Sunday, 02 July 2017 15:43
- Hits: 4578
นายกฯ เตรียมตั้งคกก.ปฏิรูปตำรวจทำงานร่วมสตช. กำหนดไทม์ไลน์ช่วงเวลาที่เหลืออีก 9 เดือน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้แนวทางการปฏิรูปตำรวจกับคณะกรรมการฯ ทั้งในส่วนของรัฐบาล ที่เตรียมตั้งขึ้นมาและในส่วนคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน 3 ประการ คือ 1.ให้พิจารณาเรื่ององค์กรว่า โครงสร้าง ระบบ ภารกิจ บทบาท และหน้าที่จะเป็นอย่างไร 2.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะมีกฎระเบียบกติกาอย่างไร แนวทางป้องกันการทุจริต ระบบการสอบสวนจะเป็นอย่างไร และ 3.บุคลากร การเลื่อน ลด ปลด ย้าย ตลอดจนสวัสดิการที่ควรจะได้รับ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาในการทำงานอีก 9 เดือน ดังนั้นในช่วง 2 เดือนแรกให้ดำเนินการรวบรวมปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น จากนั้น 4 เดือนต่อไปจะเป็นการกำหนดวิธีการปฏิบัติหลังจากศึกษาปัญหาแล้ว และอีก 3 เดือนสุดท้าย เป็นการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนให้เข้าใจถึงผลดีของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่จะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องในอดีตอย่างไร เพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้การขับเคลื่อน สตช.ได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปว่า ขณะนี้มีรายชื่อคณะกรรมการแล้ว โดยรวบรวมไว้ที่ฝ่ายกฎหมาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดตัวบุคคลได้
พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เสนอให้ใช้มาตรา 44 ระงับการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจทั้งหมดจนกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จ เพราะเห็นว่าจะกระทบในวงกว้าง โดยรัฐบาลจะต้องคุ้มครองสิทธิให้กับนายตำรวจที่มีการโยกย้ายอย่างถูกต้อง และควรพิจารณาเป็นรายกรณีๆ ไป
นายกฯ ยืนยันไม่เคยคิดตั้งพรรคการเมือง ขอเดินหน้าทำงาน-ออก กม.ลูกนำไปสู่การเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันไม่เคยคิดตั้งพรรคการเมือง โดยขอเดินหน้าทำงานในเรื่องการออกกฏหมายลูก ส่วนกรณีกระแสข่าวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมลาออกเพื่อเตรียมพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น เชื่อว่าไม่กระทบการทำงานของรัฐบาล พร้อมอวยพรขอให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางการเมือง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ปฏฺเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีความเห็นต่างในระบบการคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวต เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาหาข้อยุติ โดยต้องกำหนดวิธีการ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าจนกระทบต่อโรดแมพที่วางไว้
สำหรับ กรณีที่กลุ่มการเมืองเตรียมยื่นศาลตีความร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมาโดยตลอดในรูปแบบต่างๆ และในขั้นตอนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ได้มีการปรึกษากับฝ่ายกฎหมายมาตลอด แต่หากศาลรับคำร้อง ก็พร้อมยอมรับในคำวินิจฉัยของศาล
นายกรัฐมนตรี ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้างความรับรู้ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา
อินโฟเควสท์