- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Monday, 30 November 2015 16:11
- Hits: 7506
ขอนแก่นโมเดล แจ้งจับกลับ บิ๊กตร.กับทหาร อยู่คุก-ถูกข้อหา
ทนายความผู้ต้องหาขอนแก่นโมเดล ขึ้นกองปราบฯ แจ้งเอาผิด'ทหาร'มือกฎหมาย คสช.-'ศรีวราห์'ข้อหาหมิ่นประมาท แจ้งความเท็จ ออกหมายจับ'ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม'ผู้ต้องหาขอนแก่นโมเดลทำผิดมาตรา 112 ร่วมทีมก่อเหตุป่วนกรุง-ปองร้ายคนในรัฐบาล ทั้งที่ยังติดคุกในเรือนจำ 'จตุพร'เย้ยทหาร-ตำรวจหน้าแตก กรธ.เคาะแล้วคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครส.ส. ต้องไม่เคยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่เคยถูกไล่ออกจากราชการหรือรัฐวิสาหกิจเหตุทุจริต ส่วนสมาชิกบ้าน 109-111 รอดหมด 'สมบัติ'ค้านเลือกส.ว.ทางอ้อม ชี้จุดอ่อนไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ'คณิน'ยกเหตุผล 7 ข้อแนะล้มศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9133 ข่าวสดรายวัน
ถึงปารีส - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางถึงท่าอากาศยานปารีส-ชาร์ลส์ เดอ โกล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 เมื่อวันที่ 29 พ.ย.
ทนายแจ้งความบิ๊กตร.-ทหาร
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 พ.ย. นางเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม อายุ 49 ปี ที่ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับ คดีมาตรา 112 เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม กองกำกับการ 3 ให้เอาผิดกับ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. หัวหน้าชุดในคดีมาตรา 112 และพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกับพวก
ในข้อหา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 157 ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จว่าได้มีการกระทำความผิดอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 172,173 และ 174 ผู้ใดทำพยานหลักฐาน อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนหรือ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเชื่อได้ว่าได้มีความผิดทางอาญาอย่างใดเกิดขึ้น หรือเชื่อว่าความผิดอาญาที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าที่ความเป็นจริง ตามมาตรา 179 และความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรืออักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ กระทำโดยการกระจายเสียงหรือภาพหรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นๆ ตามมาตรา 328
ปมผู้ต้องหาขอนแก่นโมเดล
นางเบญจรัตน์ ได้นำเอกสารหนังสือยืนยันจากเรือนจำขอนแก่นที่ระบุว่า นาย ธนกฤต ยังถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำตั้งแต่เดือน พ.ค.2557 ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารเพื่อขายรถยนต์ โดยมีอดีตภรรยาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี และภาพข่าวตามสื่อต่างๆ มามอบให้กับพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
นางเบญจรัตน์ กล่าวว่า ได้รับมอบอำนาจมาเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.อ. ศรีวราห์ พล.ต.วิจารณ์ และชุดพนักงานสืบสวนสอบสวน ในคดีนี้หลังจากที่มีการออกหมายจับ นายธนกฤต ซึ่งไม่เป็นความจริง นายธนกฤตไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เพราะขณะนี้นายธนกฤตยังถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำขอนแก่น จะออกมากระทำความผิดได้อย่างไร ในเรือนจำจะมีการใช้โทรศัพท์ได้อย่างไร เชื่อว่าเรือนจำทั่วประเทศ คงไม่ปล่อยนักโทษให้ออกมากระทำความผิดได้ อีกทั้งจากที่ได้สัมผัสมา เรือนจำมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างแน่หนา โดยเฉพาะนักโทษที่มีความผิดทางการเมืองอย่างคดีขอนแก่นโมเดล จะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลความเคลื่อนไหวเป็นกรณีพิเศษในขณะที่ทนายเข้าไปสอบปากคำ ส่วนคนที่จะเข้าเยี่ยมได้นั้นต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนหรือญาติที่ใช้นามสกุลเดียวกันเท่านั้น เพื่อนยังไม่มีสิทธิ์เข้าเยี่ยม
ยอมรับ"ธนกฤต"รู้จักแก๊งป่วน
"ตอนที่รู้ว่านายธนกฤต เป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับในครั้งนี้ก็ยังงงๆ ไม่รู้เรื่อง แต่ยอมรับว่านายธนกฤตรู้จักกับผู้ที่ถูกออกหมายจับประมาณ 3-4 คนในทั้งหมด 9 คน โดยรู้จักในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองขอนแก่นโมเดล ซึ่งการกระทำนี้ทางคสช.และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ" นางเบญจรัตน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายธนกฤต อยู่บ้านเลขที่ 133 ม.6 ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ถูกออกหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ 49/2558 พร้อมพวกอีก 8 คน ได้แก่ จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ นายณัฐพล ณ.วรรณ์เล นายพิษณุ พรหมสร นายวัลลภ บุญจันทร์ นายฉัตรชัย ศรีวงษา นายมีชัย ม่วงมนตรี นายวีรชัย ชาบุญมี นายพาหิรัณ กองคำ ในข้อหา ร่วมกันกระทำความผิดซ้ำในฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ตำรวจยังระบุว่า ผู้ต้องหาเตรียมอาวุธ เข้ามาก่อเหตุในช่วงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในหลายพื้นที่และตำรวจคาด ว่าอาวุธที่อยู่ในครอบครองเพียงพอต่อการประสงค์ร้ายต่อบุคคลสำคัญ และผู้ต้องหายังเชื่อมโยงกับกลุ่มขอนแก่นโมเดล ซึ่งขณะนี้ถูกจับกุมตัวแล้ว 4 คน คือ จ.ส.ต.ประธิน นายณัฐพล นายวัลลภ และนายพาหิรัณ
"จตุพร"เยาะเจ้าหน้าที่หน้าแตก
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ทหารและตำรวจต้องหน้าแตกเมื่อไปออกหมายจับนายธนกฤต ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขอนแก่น แต่กลับบอกว่า อยู่ระหว่างการหลบหนี และถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะที่ยังอยู่ในคุก จึงเป็นคราวซวยไป โดยเขาไม่สามารถออกมาลอบสังหารผู้นำของประเทศได้เลย ถ้าไม่แหกคุกขอนแก่นออกมา
นายจตุพรกล่าวว่า ด้วยการยัดเยียดข้อหาให้คนติดคุก กลายเป็นผู้ร้ายและต้องการฟื้นขอนแก่นโมเดลขึ้นมากลบการทุจริตราชภักดิ์ จึงทำให้นางเบญจรัตน์ ทนายความของนายธนกฤต เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม เพราะทหาร ตำรวจใส่ร้ายให้เป็นผู้ต้องหาป่วนเมือง จนทำให้เสื่อมเสียขณะติดคุกขอนแก่นอยู่
"วิญญัติ"ชี้ข้อพิรุธอื้อ
นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการไทยวอยซ์มีเดียว่า กลุ่มขอนแก่นโมเดล ที่พ้นออกมาจากคุกจะอยู่ในการเฝ้าระวังและจับตาจากทหารและตำรวจอยู่แล้ว และด้วยกฎหมายที่เข้มงวดของคสช. เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มนี้จะรวมตัวกันสร้างความปั่นป่วนหรือจะทำร้ายบุคคลสำคัญ ขณะเดียวกันไม่มีการแสดงหลักฐานชัดเจนอะไรตามข้อกล่าวหา จะเห็นว่าหลังจับตัวผู้ต้อง 2 คน ในตอนแรกมีการตั้งข้อหามาตรา 112 เพิ่ม เพราะข้อกล่าวหาเรื่องการก่อวินาศกรรมไม่มีน้ำหนักพอ อีกทั้งการกล่าวหาด้วย มาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการประกันตัวใช่หรือไม่
ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่บอกว่าอยู่ในขบวนการนี้ด้วย แต่จริงๆ แล้ว เขายังอยู่ในห้องขังตั้งแต่เดือนพ.ค.2557 ที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะออกมาจากคุกเพื่อมาร่วมวางแผนก่อวินาศกรรมตามข้อกล่าวหา จะเห็นว่ามีข้อพิรุธมากมายในการจับกุมครั้งนี้ ทำให้อาจจะเชื่อได้ว่านี่คือความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นจากการตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์หรือไม่ และสิ่งที่เป็นกังวลอย่างมากขณะนี้ คือ ความปลอดภัยของผู้ต้องหากลุ่มนี้ที่คุมขังอยู่ใน มทบ.11 ซึ่งอยู่ในเขตทหาร อาจจะไม่ปลอดภัยถึงชีวิต ดังนั้นขอเรียกร้องให้ คสช.ได้ยึดหลักความยุติธรรมตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้
"บิ๊กตู่"ถกโลกร้อนที่ปารีส
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะประกอบ ด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแสดล้อม เดินทางถึงท่าอากาศยานปารีส ชาร์ลส์เดอโกล สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 ในวันที่ 30 พ.ย. โดยมีเจ้าหน้าที่พิธีการทูตของฝรั่งเศส นายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยข้าราช การชั้นผู้ใหญ่ให้การต้อนรับ
จากนั้น คณะของนายกฯเดินทางต่อไปยังโรงแรม Regina เพื่อหารือกลุ่มเล็กกับ ผู้เกี่ยวข้องเตรียมการสำหรับการประชุมใน วันที่ 30 พ.ย. และในช่วงค่ำ นางศริกานต์ พลมณี อุปทูตรักษาการชั่วคราวสถานเอกอัคร ราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ
"วันชัย"เชื่อมีขบวนการทิ่มรบ.
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า รัฐบาลนี้อยู่มาปีครึ่งกว่าแล้ว ถือได้ว่าการเมืองในระยะต่อไปนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นสถานการณ์ที่แหลมคม อะไรๆ พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเป็นธรรมดาของรัฐบาล ยิ่งอยู่นานคะแนนนิยมยิ่งลดลงและจะมีปัญหาตามมาหลังจากที่คะแนนนิยมลดลง ที่ผ่านมารัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้นั้น อยู่ที่สองเรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นและเรื่องความแตกสามัคคีกันเองในกลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งขณะนี้กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลพยายามเอาสองเรื่องนี้เข้ามาตอกลิ่มและเสี้ยมรัฐบาลอย่างหนัก โดยมีการทำเป็นขบวนการในหลายระดับหลายวิธี มีทั้งกล่าวหาว่าโครงการ อุทยานราชภักดิ์มีการโกงกินคอร์รัปชั่น ซึ่ง ผู้มีอำนาจและรัฐบาลต้องรับผิดชอบ และพยายามทิ่มตำให้ผู้มีอำนาจในกองทัพและรัฐบาลขัดแย้งแตกแยกกันเอง ขยายแผลแห่งปัญหาให้มีรอยปริและมีวงกว้างมากยิ่งขึ้น
"คนพวกนี้เก่ง มีความพร้อมทุกด้านใน การดิสเครดิตพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล รวมทั้งกองทัพ แต่เชื่อว่ากลุ่มคนพวกนี้จะไม่ หยุดและจะเอาเรื่องนี้ชูเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว ดังนั้น รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรู้เท่าทันแผนการ ไม่ตกหลุมพรางและกับดักของคนพวกนี้ และที่สำคัญรัฐบาลต้องรีบเร่งทำความจริงให้ปรากฏเปิดเผยต่อสาธารณะโดยเร็วอย่าปล่อยให้อึมครึมต่อไป เพื่อเป็นเกราะกำบังและกำแพงหนุนที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยและอยู่อย่างมั่นคง" นายวันชัยกล่าว
เพื่อไทยเหน็บกลับ"มาร์ค"
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่ารู้สึกแปลกใจที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พิจารณา ตนเองว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์แปลกใจใน เรื่องที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้ ทั้งๆ ที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เรียกร้องเช่นกัน ทำไมไม่แปลกใจ ขอถามนายอภิสิทธิ์ว่าใช้บรรทัดฐานอะไรในการทำงานการเมือง ขอถามว่ารู้จักนักการเมืองที่ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในกรณีที่มีการโกงสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง หรือรู้จักนักการเมืองที่มีคำสั่งสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิต 99 ศพ แต่นักการเมืองเหล่านั้นไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ ท่านรู้จักนักการเมืองพวกนั้นหรือไม่
"ส่วนที่ลูกพรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทุจริตใน กทม.ในฐานะหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง เคยพูดไว้ไม่ใช่หรือว่าความรับผิดชอบทางศีลธรรมสำคัญกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย ขอเสนอให้นายอภิสิทธิ์ไปสะสางปัญหาในกทม. ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มาจากพรรคประชาธิปัตย์ และปัญหายังแก้ไม่ได้ แค่นัดผู้ว่าฯกทม.ยังไม่สำเร็จเลย" นายสมคิดกล่าว
แจ้งจับ - นางเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กก.3 บก.ป. ให้เอาผิดกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และพล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฐานแจ้งความเท็จ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. |
กรธ.เคาะคุณสมบัติว่าที่ส.ส.
รายงานข่าวจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรธ. ได้พิจารณาบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.เสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา หลักการสำคัญส่วนใหญ่ยังคงไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เช่น ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องไม่เคยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้นกรณีความผิดในคดีลหุโทษ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรธ.ได้เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามแบบใหม่บางประการเข้าไป เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กำหนด เช่น การไม่ให้ผู้เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีสิทธิ สมัครส.ส.แม้ว่าจะได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินก็ตาม เพราะกรธ.เห็นว่าคุณสมบัติของนักการเมืองระดับชาติควรต้องถูกยกระดับมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอื่น นอกจากนี้ ยังกำหนดอีกว่า ผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม จะไม่มีสิทธิสมัครส.ส.เช่นกัน
สมาชิกบ้าน 109, 111 ได้เฮ
อย่างไรก็ตาม กรธ.หลายคนได้สอบถามในที่ประชุมว่าหากกำหนดลักษณะต้องห้ามในลักษณะดังกล่าวจะทำให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและได้รับโทษจนครบตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจะสามารถลงสมัครส.ส.ได้หรือไม่ เช่น สมาชิกบ้านเลขที่ 109,111 ซึ่งฝ่ายเลขานุการชี้แจงว่ามีสิทธสมัครได้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวการในการ กระทำผิดทุจริตเลือกตั้งหรือได้ใบแดง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีความผิดฐานทุจริตจะไม่มีสิทธิลงสมัครส.ส.อย่างเด็ดขาด
ส่วนเรื่องการไม่ให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้รับสิทธิ สมัครส.ส.นั้น ทางกรธ.ยังคงหลักการในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แต่ที่ประชุมกรธ. ไม่ได้มีการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่ากรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนนั้นจะสามารถลงสมัครส.ส. ได้หรือไม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การ ประชุมกรธ.ในวันที่ 30 พ.ย.จะดำเนินการ ดูถ้อยคำทั้งหมดอีกครั้งและอาจแถลงต่อสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวต่อไป
สนช.เปิดเวทีฟังเสียงคนใต้
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. ตนและนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะสนช.และตัวแทนกรธ. จะลงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งภาคใต้จะเป็นภาคแรกในจำนวน 4 ภูมิภาคที่สนช.จะลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ โดยการรับฟังครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ 2,000 คน มาจากประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ ประเด็นหลักที่จะเน้นคง เป็นปมปัญหา เช่น ที่มา ส.ส. และส.ว. ที่มานายกฯ เป็นต้น และสนช.จะนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรธ.ลงพื้นที่รับฟังความเห็นจะไม่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำ เพราะกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม สนช.ลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนทุกกลุ่ม และเปิดให้ประชาชนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น เพราะความเห็นต่างๆ จะนำเข้าประกอบการพิจารณาออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก เนื่องจากสนช.จะต้องเป็นผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ
"สมบัติ"ค้านเลือกส.ว.ทางอ้อม
ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงข้อเสนอของกรธ. ที่ระบุให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมว่า แม้ขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นนี้อย่างแน่ชัด แต่ถ้ากล่าวถึงวิธีการเลือกตั้งทางอ้อมนั้น ประเทศฝรั่งเศสก็ใช้วิธีดังกล่าว โดยให้สภาท้องถิ่นเป็นผู้เลือกส.ว. ซึ่งไม่ได้มีความซับซ้อน มีความชัดเจนอยู่แล้วว่ามีใครบ้างเป็นสมาชิกในสภาตามที่กฎหมายกำหนด แต่การที่กรธ.ระบุว่าจะให้เลือกตั้งทางอ้อมตามกลุ่มวิชาชีพนั้น ตนยังไม่เคยเห็นว่ามีประเทศไหนใช้วิธีนี้
หากระบุว่ากลุ่มวิชาชีพจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจะกลายเป็นจุดอ่อนคือไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ซึ่งจะต้องรอดูต่อไปว่า กรธ.จะเขียนมาตรการอย่างไรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวิชาชีพ รวมถึงจะทำให้คนที่มีวิชาชีพที่ไม่ได้ถูกรับรองตามกฎหมายมีส่วนร่วมอย่างไร และถ้ากรธ.ไม่สามารถวางมาตรการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวิชาชีพได้ อาจจะเกิดข้อร้องเรียนตามมา โดยรวมแล้วการเลือกตั้งแบบนี้มีกระบวนการที่ซับซ้อนและอาจใช้เงินทุนมาก เพื่อให้ได้สภาที่มีอำนาจอันน้อยนิด จะทำให้เกิดคำถามขึ้นอีกว่าการทำเช่นนี้จะ คุ้มค่าเหมาะสมหรือไม่
อัดกรธ.ทำการบ้านน้อย
นายสมบัติกล่าวว่า ถ้าอยากให้เป็นวิธีการได้มาซึ่งส.ว. เป็นไปตามความต้องการของประชาชนจริงๆ ตนขอเสนอว่าให้มีการเลือกตั้งโดยตรง แต่เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องเครือญาติที่มีฐานเสียงเดียวกันกับส.ส. ก็ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น กำหนดให้ผู้สมัครมีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือกำหนดให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใดติดต่อกันไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือถ้าอยากให้เข้มมากกว่านี้ กำหนดว่าไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น การกำหนดเช่นนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องเครือญาติในสภาได้ และจะทำให้ได้ส.ว ที่มีความสามารถจริงๆ วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งใช้งบไม่เยอะ และที่ดีที่สุดคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือก ซึ่งสามารถพูดเต็มปากเต็มคำได้ว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของประชาชน
"พฤติกรรมของกรธ. ที่ผ่านมาจะมีลักษณะ คิดไม่สุด ไม่คิดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนนำมาเสนอต่อประชาชน อย่างเรื่องที่มาส.ว. ที่ระบุว่าใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้เลือกตามกลุ่มวิชาชีพ ก็พูดออกมาทั้งๆ ที่ยังคิดกลไกไม่ได้เสร็จเรียบร้อยดี เหมือนเป็นการทำการบ้านน้อยไป ซึ่งสร้างปัญหาต่อมา คือเมื่อมีคนวิจารณ์ จะไปตอบโต้คนเหล่านั้น ดังนั้นจึงควรคิดให้สุดก่อนที่จะนำมาแถลง เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความสับสนวุ่นวาย" นายสมบัติกล่าว
"คณิน"ซัดให้ศาลดับวิกฤต
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 กล่าวถึงกรณีที่กรธ.คิดจะเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการผ่าทางตันกรณีเกิดวิกฤตของประเทศแทนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ตามร่างฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ และใช้อำนาจระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 นับว่ามากเสียจนกลายเป็นซูเปอร์ คอร์ตไปแล้ว ยังไม่พออีกหรือ จะเพิ่มอำนาจกันไปถึงไหน และที่อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีบทบาทใน การดับวิกฤตและผ่าทางตันของประเทศนั้น เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจแบบไม่ระมัดระวังจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตและความขัดแย้งเสียเองอย่างที่เคยเกิดขึ้นมา แล้วหลายครั้งหลายหนในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550
นายคณินกล่าวว่า ส่วนที่อ้างว่าถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นี้ ทหารจะได้ไม่ปฏิวัติอีกนั้น ก็เป็นข้ออ้างเดียวกับที่เมื่อตอน ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ที่ให้ ผู้บัญชาการสี่เหล่าทัพ และผบ.ตร.เข้าไปอยู่ในนามของ คปป. ซึ่งความจริงรู้ๆ กันอยู่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนก็ไม่มีทางป้องกันการปฏิวัติได้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ไม่เห็นว่า จะมีฉบับไหนที่ป้องกันการปฏิวัติได้ ดังนั้น อย่ามาหลอกกันเสียให้ยากเลยว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการปฏิวัติ
ยก 7 ข้อ-จี้ล้มศาลรธน.
"ความจริงประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งเขามีความจำเป็นต้องควบคุมร่างกฎหมายของรัฐหรือแคว้นต่างๆ มิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐหรือของสหพันธ์ แต่สำหรับประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นราชอาณาจักร เช่นประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติไว้ว่าร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีองค์กร คณะบุคคล หรือแม้แต่ ศาลมาคั่นกลาง เพราะเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา" นายคณินกล่าว
นายคณินกล่าวว่า ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ กรธ.จะทบทวนและไตร่ตรองดูให้ดีว่าประเทศ ไทยสมควรที่จะมีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ เพราะ 1.ในประเทศไทยศาลปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง ตัดสินเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นการมีศาลรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มาเกี่ยวข้องพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยใช่เหตุหรือไม่
2.ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญมาคั่นกลางระหว่าง รัฐสภากับพระมหากษัตริย์ 3.การมีศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว เป็นการขัดแย้งกับบทบัญญัติ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางศาลรัฐธรรมนูญ
ระวังเป็นองค์กรเหนือรธน.
นายคณินกล่าวอีกว่า 4.หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความ เห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปทั้งฉบับ จะกลายเป็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ถึงแม้จะได้รับคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยินยอม ทำให้ระบบการเมืองของไทยผิดเพี้ยนไป ทั้งจากหลักประชาธิปไตยและทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ
5.ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกฯ ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร และประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจอธิปไตยสามฝ่าย อย่างชัดเจน 6.ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
และ 7.ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า สิ่งที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 7 หรือไม่ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรม นูญไปโดยปริยาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐธรรม นูญทั้งฉบับก็ไม่มีความหมาย