- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Wednesday, 12 August 2015 14:14
- Hits: 8446
ปฏิรูป-ตร. เปิดให้เลือกตั้งผบ.เอง สปช.ลงมติ-เสนอครม. ไม่แยกงาน'สอบสวน'กตช.นัด 14 สค.บ่าย 2 ได้แน่-ผบ.ตร.คนใหม่
ศุกร์ที่ 14 ส.ค.ได้ผบ.ตร.คนใหม่แน่นอน ผบ.ตร.'สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง'ย้ำยืนยัน 'นายกฯบิ๊กตู่'จะเป็นประธานประชุมก.ต.ช.เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเอง บิ๊กตู่ปล่อยมุขผบ.ตร. จะยศพล.ต.ต.ไม่ได้ ต้องเป็นพล.ต.อ.เพื่อดูแลพล.ต.ท. พล.ต.ต. ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับล่างลงไป ไม่ต้องห่วงรับรองตั้งได้ดีไม่มีปัญหา ส่วนผบ.ทบ.คนใหม่นั้น ให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการกองทัพที่จะเสนอขึ้นมา เสนอชื่อใครก็จะเซ็นตามนั้น ไม่เคยสั่งหรือก้าวก่าย สปช.เห็นชอบปฏิรูปตำรวจตามที่กรรมการแต่งตั้งขึ้นนำเสนอ สาระคือไม่แยกการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตร.เลือกตั้งผู้นำเอง เตรียมนำส่งครม.ดำเนินการต่อ
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9023 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ว่า ยืนยันว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือก.ต.ช. วันศุกร์ที่ 14 ส.ค.นี้ จะได้ผบ.ตร.คนใหม่แน่นอน แต่ขอไม่เปิดเผยว่าได้เลือกรองผบ.ตร.คนใดไว้ในใจ แต่ตนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานก.ต.ช.โดยตำแหน่ง หากนายกฯ เลือกใครหรือตั้งใครในใจก็ต้องตามใจนายกฯ อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือ หรือคุยนอกรอบกับทั้งนายกฯ และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลงานตร.
ผบ.ตร.กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การเลือกผบ.ตร.คนใหม่จะตามใจนายกฯ แต่ตนยังมีอิสระในการเสนอชื่อรองผบ.ตร. เพื่อแต่งตั้งเป็นผบ.ตร.
ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมก.ต.ช.เพื่อแต่งตั้งผบ.ตร.จะเริ่มเวลา 14.00 น.วันที่ 14 ส.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯในฐานะประธานก.ต.ช.เป็นประธาน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังประชุมครม. ว่า การแต่งตั้งทหารและตำรวจภายในสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จ โดยการประชุมก.ต.ช.จะมีขึ้นวันที่ 14 ส.ค.นี้ก็คงจะเสร็จสิ้น วันไหนก็วันนั้น เมื่อได้มอบหมายและตนได้คุยไปแล้ว ก็ให้ก.ตร.และก.ต.ช.เสนอขึ้นมา ไม่ต้องถามว่าเป็นใคร จะถามกันไปทำไม รู้วันนี้กับรู้วันหน้าไม่ต่างกัน
"อย่างไรตำรวจก็คือตำรวจ เขาก็ทำหน้าที่กันอยู่แล้ว ใครเป็นลูกน้องก็เป็นทั้งชาติ ผมขอใช้คำนี้คนเป็นพล.ต.ต.จะเป็นนายพล.ต.อ. ก็ไม่ได้ พล.ต.อ.ต้องดูแลทั้งพล.ต.ท. พล.ต.ต. และลูกน้องข้างล่างตามลำดับ นายกฯต้องควบคุมตำรวจได้อยู่แล้ว วันนี้ไม่ต้องห่วงอำนาจผม ผมมีเยอะแยะไป แต่ผมไม่ได้ใช้ทั้งหมดอยู่แล้ว อะไรที่มาตามขั้นตอนของเขาได้ก็ทำมา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งผบ.ทบ.คนใหม่ นายกฯกล่าวว่า เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ แต่ละหน่วยงานจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินและเสนอเรื่องขึ้นมาให้ตนตัดสินใจ อย่ามากดดันตนเลย ใครเป็นก็เป็นตามนั้น
"คุณเชื่อผมก็แล้วกัน ผมจะตั้งใคร ผมไม่ได้ตั้งเพื่อตัวผมเอง รวมทั้งตำแหน่งผบ.ทบ.เป็นขั้นตอนของเขาอยู่แล้วจะมาโยนให้ผม คณะกรรมการเสนอขึ้นมาตามขั้นตอน เราเห็นชอบได้ก็เห็นชอบไป เราจะไปสั่งทำไมล่ะ ถ้าไม่ดีไม่ได้เขาก็ทบทวนมาใหม่เท่านั้น เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร" นายกฯกล่าว
เมื่อถามว่าวันนี้ผบ.ทบ.คนใหม่มีชื่อของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. น้องชายของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามทันทีว่า แล้วทำไมเล่า ทำไมเขาเป็นน้องตน มันผิดอะไรหรือเปล่า ตนเคยพูดแล้วเรื่องนี้ว่าในส่วนของกลาโหม เป็นเรื่องของคณะกรรมการและสภากลาโหมพิจารณาขึ้นมา ซึ่งมีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ทำไมถ้าเขาจะเป็น มันเสียหายหรือเปล่า ไม่รู้ หรือถ้าเขาไม่ได้เป็น มันจะเสียหายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตนเป็นของตนมาอย่างนี้ เขาตั้งตนมาทุกตำแหน่ง ถ้าตนไม่ดีเขาไม่ตั้งมาเป็นผบ.ทบ.
ต่อข้อถามว่าในฐานะอดีตผบ.ทบ. มองคุณสมบัติผบ.ทบ.คนใหม่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่คิด คิดไม่ได้ไม่ใช่หน้าที่ของตน อย่าคิดแทนคนอื่นไม่เอา และไม่ใช่เรื่องของการตัดสินใจ เขาทำขึ้นอย่างไรตนก็เซ็นตามนั้น ให้เสนอขึ้นมาก่อน คณะกรรมการเสนอขึ้นมา ตนต้องเซ็นตามนั้นจะไปแก้อะไรได้
เมื่อถามว่าหากพล.อ.ปรีชาได้เป็นผบ.ทบ.คนใหม่ จะส่งผลกระทบกับนายกฯหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า จะมากระทบกับตนเรื่องอะไร สื่อไปมองและวาดภาพออกมาอย่างนี้ไง แล้วทีอดีตรัฐมนตรี นายกฯที่ผ่านๆ มานามสกุลเดียวกัน ทำไมสื่อไม่ไปเล่นงานกันบ้าง ทำไมมาเล่นงานแต่กับตน
"มีหรือไม่ล่ะนามสกุลเดียวกันเป็นญาติกันทั้งหมด ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ผิดบ้างถูกบ้างเห็นชื่นชมกันหมด ทีของผมยังไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง แล้วพูดไปพูดมาน้องชายผมก็น้อยใจผมอีก เพราะผมยังไม่คุยอะไรกับเขาเลยจริงๆ เขาไม่เคยมาคุยมาขออะไรกับผมเลย เพราะผมอยู่กับเขามาแบบนั้นตั้งแต่เด็ก เป็นทหารด้วยกัน เขาต้องโตขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ผมจะไปเอื้อประโยชน์เพราะเป็นน้องของผมให้โตมันไม่ใช่ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น และเป็นอย่างนี้มาตลอด การจะเป็นผู้ใหญ่ในกองทัพ มันไม่สบายต้องลำบาก ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องได้รับการยอมรับจากคนในกองทัพด้วย ไม่ใช่ว่าฉันจะเป็นก็เป็น ถ้าเป็นแล้วมันปั่นป่วนทั้งหมดเขาก็คงไม่ชอบ" นายกฯกล่าว
นายกฯกล่าวด้วยว่า ข้าราชการทหารมีตั้ง 2 แสนกว่าคนจะตั้งใครส่งเดชได้อย่างไร มันจะรวนไปหมด และวันข้างหน้าจะกลับไปเป็นเหมือนหลายหน่วยงานที่ใครก็ได้แล้วเชียร์ให้ขึ้นมาเป็น เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้คงอยู่ต่อไป ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาในเรื่องทหารตั้งผบ.ทบ. กลัวกันเรื่องจะมีปฏิวัติซ้อน มาเลยมาๆ ไม่ต้องปฏิวัติ มาบอกตนยกให้เลย ตนไม่ต้องการอำนาจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จะเอาไปทำไม ตนต้องการทำให้ประเทศชาติมีอนาคต ถ้าไม่ฟัง ก็จะไม่รู้ว่าอนาคตอยู่ตรงไหน อยากถามว่าการวิจารณ์ใครรู้จักตัวเขาดีพอหรือยัง บางคนไม่รู้จักเลย แต่ไปวิจารณ์จนเกิดความเสียหาย ยืนยันตนไม่ตั้งตามคนเชียร์ เป็นเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งขึ้นมา
นายกฯกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องตำรวจ ปีหน้าตนก็จะทำ คิดไว้แล้ว 6-7 อย่าง ฝ่ายความมั่นคงเสนอมาแล้ว คอยติดตามดู อีกทั้งสปช.เสนอมา 15-16 เรื่องซึ่งตรงเป็นกันส่วนใหญ่ แต่ละเรื่องจะทำได้แค่ไหน ไม่ใช่ทำครั้งแรกรื้อหมดเลย มันไม่ได้เพราะบ้านเมืองจะหยุดทุกอย่าง เพื่อรอปรับโครงสร้าง ถ้ามีโจรผู้ร้ายจะทำอย่างไรต้องคำนึงถึงตรงนี้
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการโยกย้ายนายทหารประจำปี ว่า นัดทุกเหล่าทัพส่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จากนั้นตนจะนัดหมายเพื่อกำหนดวันประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลที่มีด้วยกัน 7 คน โดยมีตนเป็นประธาน อีก 6 คนคือ รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ โดยพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จะเป็นผู้รวบรวมบัญชีรายชื่อทั้งหมด ก่อนนัดวันประชุม เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก โดยนายกฯบอกว่าท่านจะไม่เข้ามายุ่ง ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนพิจารณาในคณะกรรมการ สำหรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรต้องหนักใจจนถึงขั้นต้องโหวตตัดสิน
ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ.คนที่ 1 กับพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ.คนที่ 2 ใครเหมาะสมกับตำแหน่งผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ใครก็ได้ทั้งนั้น แต่ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ซึ่งนายกฯบอกไว้แล้วว่า ต้องพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ตลอดจนผลงานที่ผ่านมาของแต่ละคน ซึ่งก็ใกล้เคียงกันหมด เราต้องดูว่าใครเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะนี้ตนยังไม่มีชื่อของผบ.ทบ.คนใหม่อยู่ในใจ และยังไม่เห็นบัญชีรายชื่อการปรับย้ายนายทหารประจำปี
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. คนที่ 1 เป็นประธานประชุมสปช. พิจารณารายงานการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ของคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ที่มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ปัญหาการแทรกแซงกิจการตำรวจ ที่กระทบต่อการบริหารงานในองค์กร และทำให้ผบ.ตร.ขาดความเป็นอิสระ อยู่ในการครอบงำของฝ่ายการเมือง จึงเสนอให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจ คือ
1.การปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มี 16 คน เพื่อให้การบริหารงานของก.ตร.เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง โดยกำหนดอำนาจเพิ่มเติมให้ก.ตร.มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งผบ.ตร. ซึ่ง ตำแหน่งประธานก.ตร.ให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับรองผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยการลงคะแนนเลือกจากตำรวจระดับยศพ.ต.อ.ขึ้นไป
2.การปฏิรูปคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มี 11 คน โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายการเมือง กระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่เฉพาะกำหนดนโยบายการทำงานในองค์กร ไม่มีอำนาจแต่งตั้งผบ.ตร. เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง
3.การปฏิรูปการแต่งตั้งผบ.ตร.ให้ดำเนินการโดยก.ตร.เพียงองค์กรเดียว ด้วยการคัดเลือกจากตำแหน่งรองผบ.ตร.หรือเทียบเท่า จเรตำรวจแห่งชาติ (ยศพล.ต.อ.) 3 คน แล้วให้ตำรวจระดับพ.ต.อ.ขึ้นไป ลงคะแนนเลือกเหลือ 1 คน เพื่อเสนอก.ตร.พิจารณานำเสนอนายกฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป เพื่อให้คนที่เป็นผบ.ตร.ต้องสั่งสมผลงานมาเป็นระยะยาว เป็นผู้ประพฤติดีมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่วิ่งเต้นรับใช้นักการเมืองอย่างเดียว
4.การวางมาตรฐานแต่งตั้งโยกย้ายข้าราช การตำรวจ ให้พิจารณาโดยยึดความอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถ และ 5.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตำรวจให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงรับไปดูแล
สำหรับ การปฏิรูปการสอบสวนเสนอให้ปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวน ด้วยการพิจารณาจากคุณภาพของสำนวนการสอบสวน ไม่ใช่การนับเฉพาะจำนวนคดีเช่นในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ หน่วยปฏิบัติที่มีอำนาจในการสอบสวน ซึ่งการรับแจ้งความของพนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความทุกคดี ผู้กำกับการสถานีและหัวหน้าพนักงานสอบสวนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารคดี เพื่อเชื่อมโยงระหว่างการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีชุดฝ่ายสืบสวนในคดีอาญาทำหน้าที่สืบสวนเฉพาะคดีที่เกิดเหตุ (สืบสวนหลังเกิดเหตุ) เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานให้ทราบตัวผู้กระทำผิด และติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปงานของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ จากการปฏิรูประบบงานสอบสวนตามแนวทางข้างต้น งานสอบสวนยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนมีอิสระและปลอดการแทรกแซงในทางคดี โดยหัวหน้าสถานีจะเป็นแต่เพียงผู้บริหารคดี บูรณาการระหว่างการสืบสวนและสอบสวนเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่า สำนวนการสอบสวนจะมีการสั่งการด้วยความถูกต้อง และมีการดำเนินการทางคดีที่ครบถ้วน อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
จากนั้นสมาชิกสปช.อภิปรายสนับสนุนรายงานดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ให้ก.ตร.แต่งตั้งผบ.ตร. โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า ส่วนใหญ่ตนเห็นด้วย และอยากให้ปฏิรูปอย่างจริงจัง แต่อาจไม่เห็นด้วยบางส่วน เช่น การแต่งตั้งผบ.ตร.โดย ก.ตร. ที่ให้มีจเรตำรวจและรองผบ.ตร.มีส่วนร่วม เพราะอาจเกิดปัญหา เนื่องจากจะเกิดการวิ่งเต้น และมีระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้น ส่วนเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนมองว่าไม่ควรแยก เพราะจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรแก้ปัญหาเรื่องจิตวิญญาณของตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการหาผลประโยชน์ ต้องยกเลิก โดยผบ.ตร.ที่จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่ต้องประกาศให้ชัดเจน รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรงและจริงจัง และต้องให้ประชาชนมีโอกาสประเมินการทำงานของตำรวจทุกปี
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปช. อภิปรายว่า รู้สึกผิดหวังกับรายงานฉบับนี้ที่ทำเหมือนรายงานครูประจำชั้น ไม่ใช่การปฏิรูปหรือเป็นเพราะพวกท่านใส่สูท ใส่รองเท้าหนังต่างประเทศ จึงไม่เห็นใจคนจน ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากยากเย็นอะไร โดยเฉพาะการแยกการสอบสวนออกจากตร. การแยกการสอบสวน เด็กๆ ที่ดูหนังต่างประเทศก็รู้ว่าสามารถทำได้ ถ้ารายงานทำแบบนี้ไม่ต้องปฏิรูปดีกว่า
"รายงานนี้ไม่ต้องเอาออกไป อายประชา ชน ให้ลืมไปเลยว่ามีการปฏิรูป เพราะรายงานนี้ผิดเพี้ยนตั้งแต่เริ่มตั้งคณะกรรมการแล้ว รายงานนี้ไม่มีเจตนาช่วยประชาชนที่ยากไร้ ซึ่งผมไม่ได้ให้ปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ตำรวจเจริญก้าวหน้า แต่อยากให้ทำเพื่อประชาชน ปฏิรูปเพื่อประชาชน ถ้าทำไม่ได้ สักวันผมจะให้พวกเขาลุกขึ้นมาเอง แล้วพวกเขาคงจะทำกันได้" พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบรายงาน ดังกล่าว ก่อนนำส่งครม.เพื่อดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 125 ต่อ 28 งดออกสียง 31 คะแนน