- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Saturday, 08 August 2015 16:57
- Hits: 9095
แฉตร. 2 แสน ติดหนี้ท่วมตัว กว่าหมื่นนาย จ่อล้มละลาย
ตร.หนี้ท่วม-ผงะทั่วประเทศมากถึง 2 แสนนาย จ่อล้มละลายอีกนับหมื่น ผบ.ตร.เผยพยายามเจรจากับธนาคารแล้ว แต่ไม่เป็นผล ระบุมาจากบันทึกข้อตกลงกับแบงก์ออมสินที่ให้ตร. กู้ยืมได้โดยใช้บุคคลค้ำประกันไปมา ทำให้ตร.บางนายใช้เงินเกินตัว แถมยังเป็นหนี้สหกรณ์อยู่ด้วย จึงไม่มีเงินมาใช้ผ่อนชำระ โดยแต่ละนายกู้เงินมาหลักล้าน แต่ละบช. มีผู้กู้มากถึง 2 หมื่นนาย บางคนนำไปใช้ฟุ่มเฟือย-เล่นพนัน-ซื้อรถ ล่าสุดมีตร.อุดรฯล้มละลาย-ให้ออกแล้ว 5 นาย เตือนให้ระวังเรื่องการใช้จ่าย ด้านผบช.ภ.4 เผยตร.อีสานจ่อล้มละลาย 2.5 พันนาย เตรียมปลดอีกนับ 100 นายที่เป็นหนี้ แฉเป็นหนี้มากสุด 2 ล้าน-ยศ พ.ต.อ.ก็มี รวมตร.ในหน่วยเป็นหนี้มากถึง 9 พันล้านบาท เตรียมใช้เงินสหกรณ์ตำรวจช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ชี้ปัญหาหนี้สินเป็นต้นเหตุ ตร.ฆ่าตัว
วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9019 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจว่า ได้รับรายงานจากพล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 ว่ามีตำรวจในสังกัดบช.ภ.4 จำนวน 5 นาย เป็นหนี้ธนาคารออมสินและถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย โดยเป็นการกู้เงินมาใช้สอยส่วนตัว เท่าที่ทราบเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต เมื่อครั้งตร.ทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคารออมสินในปี 2554 ให้ตำรวจกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน โดยใช้บุคคลค้ำประกัน เฉพาะบช.ภ.4 มีนับหมื่นราย และกำลังถูกฟ้องร้องล้มละลาย 600 นาย
"ตั้งแต่ผมรับตำแหน่งผบ.ตร.ใหม่ๆ เข้าไป ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ ลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายหรือโรคร้าย พบมีปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาพยายามแก้ไข โดยสั่งการให้กองสวัสดิการไปเจรจากับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ตำรวจเป็นหนี้สินอยู่ แต่ไม่สามารถทำข้อตกลงหรือแก้ไข ปัญหาหรือลดหย่อนหนี้ได้ เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ตำรวจอยู่แล้ว กู้ใหม่ได้ก็ไปกู้ หนี้จึงซ้ำซ้อนจนไม่สามารถผ่อนชำระได้ พอไม่ผ่อนชำระสถาบันการเงินก็ฟ้องร้องล้มละลาย เท่าที่สำรวจในช่วงแรกพบมีข้าราชการตำรวจทั่วประเทศอยู่ในข่ายถูกฟ้องล้มละลายประมาณ 2,000 กว่านาย ตามระเบียบเมื่อถูกฟ้องล้มละลายต้องถูกออกจากราชการ โดยตำรวจบช.ภ.4 ทั้ง 5 นายที่ถูก ออกจากราชการนั้น เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว ปัญหาเกิดจากมีการเปิดช่องให้ตำรวจกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ ตำรวจเหล่านั้นก็ใช้จ่ายเกินตัว กู้ทั้งธนาคาร กู้ทั้งสหกรณ์ไม่สามารถผ่อนชำระได้ จึงเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เท่าที่ทราบแต่ละรายกู้เป็นล้านทั้งนั้น เป็นปัญหาที่แต่ละคนไปสร้างขึ้นเอง" ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่าแต่ละรายกู้เป็นหลักล้านทั้งนั้น มองว่าการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาผิดพลาด ตนไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของนโยบายนี้ที่เอาตร.เซ็นเอ็มโอยูกับธนาคารออมสินเพื่อเปิดโอกาสให้ตำรวจกู้ยืมได้ โดยใช้บุคคลค้ำประกัน กลายเป็นค้ำกันไปมา ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า จำนวนเงินกู้มหาศาลเป็นเรื่องที่บุคคลเหล่านั้น ก่อขึ้นเอง ทำขึ้นเอง ตนได้แต่พยายามเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้ถอนฟ้อง แต่สถาบัน การเงินไม่ยินยอม เนื่องจากเป็นระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงินที่ต้องทำตามกฎหมาย เช่นกัน
เมื่อถามว่า สามารถขอเจราจาพักหนี้เหมือน ข้าราชการครูได้หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า พยายาม แล้ว พยายามทุกวิถีทางแล้ว แต่ระเบียบสถาบัน การเงินแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เราพยายามขอให้ปรับโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารปฏิเสธที่จะเจรจาเรื่องการพักหนี้ ต้องหาหลักประกันไปให้ ไปบอกว่าเมื่อพักหนี้จะจ่ายอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือตำรวจเหล่านั้นไปสร้างหนี้ แล้ว มูลหนี้เกินกำลังที่ตัวเองจะรับผิดชอบผ่อนชำระได้ ต้องบอกตำรวจทั้งประเทศว่า การกู้หากกู้แล้วต้องคิดว่าตัวเองต้องชดใช้ได้ หรือกู้ไปใช้สิ่งที่ผิดไม่สามารถบริหารได้ จึงเกิดปัญหานี้
"ผมไม่มีวิธีจะทำอย่างไร จะไปเอาเงินมาจากไหน 2,000-3,000 ล้านบาท เพื่อใช้หนี้แทน อันนี้เรื่องสุดวิสัย ผมพยายามทำเรื่องนี้มา 1 ปีแล้ว พูดมานานแล้วว่ามี 2,000 นาย กำลังถูกฟ้องร้องล้มละลายและอาจต้องถูกออกจากราชการ ต้องขอเตือนให้ระวังการใช้จ่าย มาใช้เกินตัวไม่ดี เท่าที่ทราบแต่ละกองบัญชาการภาคมียอดผู้กู้ภาคละ 20,000 นาย รวมทุกภาคก็จำนวนมหาศาล ตรงนี้ต้องถามว่าถ้ากู้แล้วรู้ตัวว่าชำระไม่ไหวจะไปกู้ทำไม ถามว่าที่สำคัญกู้ไปทำอะไร เอาไปใช้จ่ายฟุ่ม เฟือยหรือไม่ เอาไปทำสิ่งที่เกิดคุณประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเราไปแก้ปัญหาให้คนที่สร้างปัญหา ทั้งหมด ถามว่าแล้วคนที่ไม่สร้างปัญหาล่ะ จะทำอย่างไร ถ้าเราแก้ปัญหาวันนี้ วิธีแก้คือต้องปรับพฤติกรรม ปรับทัศคติตำรวจว่าอย่ากู้ ไม่จำเป็นอย่ากู้ หากรู้ว่าไม่สามารถชำระคืน กู้ไปฟุ่มเฟือย ซื้อรถ ซื้อโทรศัพท์ พูดง่ายๆ คนเหล่านี้ใช้จ่ายเกินตัว บางคนกู้ไปเล่นการพนัน สิ่งเหล่านี้เกิดกับข้าราชการระดับล่างทุกกระทรวงมีหมด เพียงแต่ไม่เป็นข่าว ปัญหานี้แก้ไม่ได้ ถ้าคนเหล่านั้นไม่ปรับพฤติกรรมและความคิด" ผบ.ตร.กล่าว
วันเดียวกัน พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 เปิดเผยถึงกรณีตำรวจในสังกัด มีปัญหาหนี้สินว่า ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหา หนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ และได้ปลดข้าราชการตำรวจ ระดับชั้นประทวนในสังกัด บก.ภ.จว.อุดรธานี 5 นาย หลังถูกฟ้องล้มละลาย และเตรียมที่จะปลดอีกประมาณ 100 นาย โดยเป็นข้าราชการตำรวจในกองบังคับการภูธรจังหวัด 12 แห่ง มีทั้งบก.ภ.จว.อุดธานี บก.ภ.จว.ขอนแก่น บก.ภ.จว. หนองบัว ลำภู บก.ภ.จว.มุกดาหาร และบก.ภ.จว. ร้อยเอ็ด
พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า ตร.มีนโยบายดูแลตำรวจไม่ให้ฆ่าตัวตาย บช.ภ.4 จึงนำมาปฏิบัติและพบว่าสาเหตุหลักที่ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายคือ เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและหาทางออกไม่ได้ จึงตัดสินปัญหาด้วยการ ฆ่าตัวตาย ในเรื่องนี้เมื่อตำรวจมีหนี้สินล้น พ้นตัวและถูกให้ออกจากราชการ ปัญหา จึงเกิดขึ้นกับสังคมอย่างมากมายในทางที่ เสียหายกับสังคมของประเทศ และตร.ได้ขาดกำลังพล จึงต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของข้าราชการตำรวจ เพราะไม่ต้องการ ให้ตำรวจ ตัดสินปัญหาชีวิตของตัวเองด้วยการ ฆ่าตัวตาย
พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าวต่อว่า ในส่วนของตำรวจทั่วประเทศมีสถิติฆ่าตัวตายเฉลี่ย 29 นายต่อปี โดยในปี 2555 มากที่สุดถึง 47 นาย ส่วนใหญ่เป็นตำรวจชั้นประทวน สายงานที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ สายงานป้องกันปราบปราม หน่วยงานที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือบช.ภ.5 โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาจากหน้าที่การงาน ปัญหาสุขภาพ และอื่นๆ ในส่วนของ บช.ภ.4 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีตำรวจในสังกัดฆ่าตัวตาย 4 นาย
ผบช.ภ.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินนโยบาย แก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลายและเงินไม่พอใช้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมี.ค.2558 โดยพบว่าตำรวจในสังกัดบช.ภ.4 จำนวน 21,000 นาย เป็นหนี้ธนาคารออมสินประมาณ 12,000 นาย แต่ละนายจะมีหนี้สินตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท จนเป็นยอดเงินทั้งหมดที่ข้าราชการตำรวจเป็นหนี้สินมากถึง 9,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีตำรวจ บช.ภ.4 ที่ถูกธนาคารออมสินฟ้องร้อง ตั้งแต่เริ่มผิดสัญญา นำเข้าสู่การฟ้องร้องที่ศาล และสุดท้ายถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ธนาคารออมสินฟ้องศาลให้เป็นบุคคลล้มละลายที่ได้สำรวจแล้วมีประมาณ 2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นตำรวจชั้นประทวน และบางนายเป็นตำรวจ ชั้นสัญญาบัตร ซึ่งมียศถึงพ.ต.อ.
พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในบก.ภ.จว.อุดรธานี ศาลจังหวัดอุดรธานีสั่งให้ตำรวจชั้นประทวน 5 นาย เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งขาดคุณสมบัติในการรับราชการตำรวจ จึงให้ออกจากการเป็นข้าราชการตำรวจ บช.ภ.4 ทำให้ต้องกระตุ้นเตือนให้ตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 ที่เป็นหนี้สินธนาคารออมสินไปเจรจาแก้ปัญหาหนี้สินก่อนที่ธนาคารจะฟ้องศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยขณะนี้ได้ประสานกับธนาคารออมสินภาค 10 และภาค 11 เข้ามาเจรจากับตำรวจสังกัด บช.ภ.4 ที่เป็นหนี้สินธนาคารออมสิน เพื่อปรับโครง สร้างหนี้ โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจ บช.ภ.4 เข้าไปแก้ปัญหาหนี้สินกับธนาคารออมสิน ถ้าตำรวจนายนั้นผ่อนไม่ไหวต้องมีการลดเงินต้น เพื่อให้ดอกเบี้ยน้อยลง ค่างวดแต่ละงวดจะได้ลดลง โดยให้สหกรณ์ตำรวจ บช.ภ.4 ออกเงินกู้ส่วนหนึ่งไปปลดหนี้ส่วนหนึ่งกับธนาคาร เพื่อเป็นการลดยอดหนี้ให้น้อยลง เพื่อเป็นการยืดเวลาลดดอกเบี้ยลงมา และนำมาเข้าสู่ระบบแก้ปัญหาหนี้สิน ตอนนี้มียอดตำรวจในบช.ภ.4 ประมาณ 100 นาย ที่ต้องรีบเข้าไปเจรจากับธนาคารออมสิน ก่อนที่ศาลจะสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ด้านพล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตำรวจอุดรธานีมีหนี้สินมากที่สุดใน 12 จังหวัด จึงมอบหมายให้ พ.ต.อ.สมเกียรติ เกิดจงรักษ์ รองผบก.ภ.จว. อุดรธานี เป็นประธานแก้ไขปัญหา ทั้งกลุ่ม ที่เริ่มขาดผ่อน กลุ่มขาดผ่อนมานานและ กลุ่มถูกฟ้อง ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป ส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้ตำรวจที่เป็นหนี้อยู่ 5 นายเป็นบุคคลล้มละลาย ก็มีผลทำให้ตำรวจเหล่านั้นขาดคุณ สมบัติจากการเป็นข้าราชการ จึงต้องมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่หากตำรวจ นายใดไปแก้ไขหนี้สินจนศาลถอนคำสั่งล้มละลาย หากจะขอกลับเข้ารับราชการก็เป็น อำนาจของตร.
ส่วนด.ต.ธนกฤต หรือประทีป ภักดีผล ผบ.หมู่ ผช.พงส.สภ.เมืองอุดรธานี 1 ใน 5 ตำรวจที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ เพื่อรับเบี้ยบำเหน็จบำนาญ หลังศาลมีคำสั่งเป็นบุคคล ล้มละลายจากการกู้เงินของธนาคารออมสิน ได้เดินทางมาในชุดพลเรือนทั่วไป เพื่อเซ็นรับทราบคำสั่งให้ออกจากราชการ และเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปที่บังคับคดีที่กทม. กับเพื่อนตำรวจอีกคนที่ล้มละลาย เพื่อยื่นเรื่องของประนอมหนี้หลังล้มละลาย โดยแสดงเจตนาจะชำระหนี้เต็มคือคนละ 1,200,000 บาท แต่จะเป็นการชำระก่อน 50 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือหักจากเงินบำนาญ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเหลือเงินเพื่อ ใช้จ่าย 70 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 23,000 บาทต่อเดือน หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากศาลในการเพิกถอนคำสั่งล้มละลาย คาดกว่าอีกประมาณเดือนเศษน่าจะรู้ผล
"ผมยังต้องต่อสู้เรื่องหน้าที่การงาน วันนี้มาเซ็นรับทราบคำสั่งออกจากราชการ โดยในวันที่ 10 ส.ค. จะมายื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งกับ ผู้บังคับบัญชาที่ให้ออกจากราชการ เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมไปถึงเตรียม ฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้กลับเข้ามารับราชการ อีกครั้ง ระหว่างนี้จะใช้เวลาเรียนกฎหมายต่อ หากไม่ได้กลับมารับราชการก็จะไปเป็นทนาย ความหรือที่ปรึกษากฎหมาย"ด.ต.ธนกฤตกล่าว
ขณะที่ตำรวจอีกนายที่เป็นบุคคลล้มละลาย และถูกให้ออกจากราชการ เปิดเผยว่า ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้กู้เงินจากธนาคารออมสินมาใช้หนี้สินและปรับปรุงบ้าน 1 ล้านบาท โดยมีเพื่อนตำรวจค้ำประกันกลุ่ม 3 คน มียศ ร.ต.ต. และด.ต. โดยกู้คนละ 1 ล้าน เช่นกัน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระเดือนละ 9,200 บาท แต่มีเพียงคนเดียวมีปัญหาไม่ผ่อน ตนกับเพื่อนตำรวจที่ผ่อนชำระ พยายามติดตาม เพื่อนที่มีปัญหาไปพบเจรจากับธนาคาร แต่ไม่เป็นผลจนธนาคารฟ้องแพ่ง รวมทั้งฟ้องล้มละลายและนำหมายศาลไปติดที่บ้าน โดยลูกเรียนอยู่ ป.5 มาถามเรื่องจะถูกยึดบ้าน จึงไป ปรึกษากับธนาคารและเดินทางไปบังคับคดีที่กทม. ได้รับคำแนะนำให้นำเงิน 350,000 บาท มาวางไว้กับธนาคาร เพื่อขอเลิกค้ำเพื่อนตำรวจ คนนั้น ซึ่งต้องรอส่วนกลางตัดสินใจ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นคาดว่ามีตำรวจที่เป็นหนี้มากถึง 2 แสน นาย ในจำนวนนี้มีนับหมื่นนายที่ศาลเตรียมมีคำสั่งเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องออกจากราชการ