- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Sunday, 05 July 2015 00:02
- Hits: 9287
โครงสร้าง ‘กระทรวงตำรวจ’ ฉบับ สนช. 1 กระทรวง 16 กรม-ผุดอธิบดี-โละบิ๊ก ตร.
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (แฟ้มภาพ) โล่เงิน
โครงสร้าง'กระทรวงสีกากี'ฉบับ สนช. 1 กระทรวง 16 กรม-ผุดอธิบดี-โละบิ๊ก ตร.
มติชนสุดสัปดาห์ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2558
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเวทีใหญ่ สัมมนาและรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ว่าด้วยเรื่อง'การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ'
โดยมี "บิ๊กกุ้ย" พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ
และมีเหล่าอดีตบิ๊กสีกากี ร่วมเป็นคณะอนุฯ ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ พล.ต.ท.ชุมพล วงศ์กำแหง พล.ต.ต.อรรถกิจ กรณ์ทอง พล.ต.ต.โชคชัย ดีประเสริฐวิทย์ พ.ต.อ.อภิเชษฐ จรณี พ.ต.อ.บรรจง วิสาสะ พ.ต.อ.อำพล บุญเพิ่ม มี พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ รวมทั้ง นายบัญชา เกิดมณี พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ
ในวงสัมมนาเปิดโมเดล 'สำนักงานตำรวจแห่งชาติ'โฉมใหม่ ภายในแนวคิด ปรับโครงสร้างการบริหารองค์กร กระจายอำนาจ ลดการแทรกแซงทางการเมือง
ปรับปรุงระบบอำนวยความยุติธรรม ดึงท้องถิ่นชุมชน เอกชนให้มีส่วนร่วม
และสร้างระบบธรรมาภิบาล เป็นแนวคิดการ "ปฏิรูป" ที่เกิดจากการตั้งสมมติฐานปัญหาขององค์กรตำรวจ
"แนวคิด"ของคณะอนุฯ พลิกโฉม "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จากหน่วยงานที่มีฐานะเป็น "นิติบุคคล" อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ยกฐานะให้เป็น หน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง คงชื่อ Royal Thai Police หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เช่นเดิม
โมเดลใหม่ ยังคงมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าหน่วย แต่จากที่เคยใช้อำนาจอธิบดี และอำนาจในฐานะปลัดกระทรวงควบคู่กัน ลดบทบาท ผบ.ตร. ลง ให้ ผบ.ตร. มีบทบาทในฐานะปลัดกระทรวง โยกอำนาจอธิบดี เป็นของอธิบดีกรมต่างๆ ทั้งหมด และแยกหน่วยงานปฏิบัติการในพื้นที่ออกเป็น 16 กรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มี 16 อธิบดี ยศ พล.ต.ท. เป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยสำนักงาน ผบ.ตร. จัดเป็น 1 ใน 16 กรมด้วย
คอนเซ็ปต์คณะอนุฯ จัดกรุ๊ปหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ ตั้งเป็น 16 กรม ประกอบด้วย
1.สำนักงาน ผบ.ตร.
2.กรมตำรวจตระเวนชายแดนและกิจการพิเศษ มีตำรวจน้ำอยู่ในกรมนี้
3.กรมตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่ปรับตำรวจท่องเที่ยวเข้ามาในสังกัด
4.กรมตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
5.กรมตำรวจปราบปรามยาเสพติด
6.กรมตำรวจสอบสวนกลางมีกองปราบปราม กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในสังกัด
7.กรมตำรวจนครบาล และ
8.-16.กรมตำรวจภูธรภาค 1-9 ที่ตัดศูนย์ฝึกอบรมออกไปสังกัดหน่วยอื่น
พล.ต.อ.วัชรพลแจกแจงว่า โครงสร้างใหม่พิจารณาให้ปรับยุบศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เข้าไว้ในกรมตำรวจภาค 9 เพื่อ "ปลดล็อก" ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย การหมุนเวียนกำลังพลของ ศชต. ให้ตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้สลับหมุนเวียนกับตำรวจในภาคใต้ตอนล่าง หรือ ภาค 9 ได้
นอกเหนือจาก 16 กรมแล้ว ยังมีหน่วยงาน เป็น "ส่วนราชการ" 16 หน่วย อยู่ในสังกัด (กรม) สำนักงาน ผบ.ตร. ประกอบด้วย
1.สำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ ที่รวมกองวินัยเข้าด้วย
2.สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ
3.สถาบันการศึกษาและวิจัยและพัฒนาข้าราชการตำรวจประกอบด้วยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบัญชาการศึกษา กองวิจัย และศูนย์ฝึกอบรม ทั้ง 3 หน่วยงานนี้กำหนดให้มีผู้บังคับบัญชาระดับ พล.ต.อ. เป็นผู้กำกับดูแลแต่ไม่ใช่อธิบดี
4.กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
5.สำนักงานกฎหมายและคดีที่โยกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการจากสอบสวนกลางมารวมด้วย
6.สำนักงานกำลังพล
7.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
8.สำนักงานงบประมาณและการเงิน
9.สำนักงานตรวจสอบภายใน
10.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจซึ่งรวมกองสารนิเทศเข้าด้วย
11.สำนักงานส่งกำลังบำรุง
12.สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
13.โรงพยาบาลตำรวจ
14.สำนักงานตำรวจจราจรและขนส่งมีกองบังคับการตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ และกองบินตำรวจ อยู่ในสังกัด ฯลฯ
15.สำนักงานกิจการต่างประเทศ
และ 16.สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ โดยใน 13 หน่วยงาน ในสำนักงาน ผบ.ตร .มี "ผู้บัญชาการ" ยศ พล.ต.ท.
นี่คือ หน้าตาของโครงสร้างหน่วยงาน ในกระทรวง "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"
ขณะที่ด้านโครงสร้างตำแหน่งคณะอนุฯ มีแนวคิด "ลดชั้นการบังคับบัญชา" และปรับระบบ "ยศ" และ "ตำแหน่งข้าราชการตำรวจ" ตามโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย ตำแหน่ง ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาและวิจัยและพัฒนาข้าราชการตำรวจ มียศ พล.ต.อ. ตำแหน่งผู้บัญชาการ และอธิบดี มียศ พล.ต.ท. ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ รองอธิบดี ผู้บังคับการ มียศ พล.ต.ต.
ขณะที่ ชั้นยศ ร.ต.ต.-ร.ต.อ. ยังเรียกรองสารวัตร ยกเลิก สิบตำรวจตรี ถึง ดาบตำรวจ เปลี่ยนเป็น นายตำรวจตรี ถึงนายตำรวจเอก เรียกตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สำหรับนายตำรวจตรี และเจ้าหน้าที่ชำนาญการ 1-2 สำหรับนายตำรวจโท-นายตำรวจเอก ส่วนตำแหน่งระดับ พ.ต.ต.-พ.ต.อ. นั้น คณะอนุฯ ยังไม่เสนอในครั้งนี้
การลดชั้นการบังคับบัญชา เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ประธานคณะอนุฯ เสนอ โดยเผยว่า ให้ยุบเลิกตำแหน่งที่ไม่จำเป็น นั่นคือ ที่ปรึกษา (สบ10) ยศ พล.ต.อ. และผู้ช่วย ผบ.ตร. เสีย โฟกัสที่ระดับชั้นยศ พล.ต.ท.-พล.ต.อ. ในโครงสร้างใหม่ จะมีเก้าอี้หายไป มีตำแหน่งลดลงไปถึง 25 ตำแหน่ง เหลือเพียง 54 ตำแหน่ง จากปัจจุบันมีถึง 79 ตำแหน่ง
ตามโครงสร้างใหม่ มี ผบ.ตร. 1 ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. 7 ตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ 1 ตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ 1 ตำแหน่ง และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาและวิจัยและพัฒนาข้าราชการตำรวจ 1 ตำแหน่ง เก้าอี้ชั้นยศ พล.ต.อ. ปรับเกลี่ยใหม่ หายไป 4 ตำแหน่ง
ระดับชั้นยศ พล.ต.ท. ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. รองจเรตำรวจแห่งชาติ รองหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ยุบทิ้งทั้งหมด ให้เหลือเพียง ตำแหน่งอธิบดี 15 ตำแหน่ง ผู้บัญชาการหัวหน้าส่วนราชการ 14 ตำแหน่ง จเรตำรวจ (สบ8) 10 ตำแหน่ง และนายตำรวจราชสำนักประจำ (สบ8) 4 ตำแหน่ง ซึ่งในชั้นยศ พล.ต.ท. เก้าอี้ใหญ่หายไปถึง 21 ตำแหน่ง
เหล่านี้คือภาพรวม โครงสร้างหน่วยงานและโครงสร้างตำแหน่ง ของ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เวอร์ชั่น 1 กระทรวง 16 กรม ที่ดีไซน์โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ ซึ่ง "บิ๊กกุ้ย" นำมาเปิดเผยในเวทีสัมมนา และยอมรับว่าได้ร่างกฎหมายกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการใหม่ และร่างพระราชบัญญัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่สอดรับกับแนวคิดนี้ไว้แล้ว ทว่าพร้อมปรับปรุงแก้ไขหากมีเสียงติง คิดต่าง
อย่างไรก็ตาม นี่คือแนวทาง แนวคิด โมเดลหนึ่งในการ "ปฏิรูปตำรวจ" เท่านั้น ยังมีคณะทำงาน "ปฏิรูปตำรวจ" ชุดใหม่เอี่ยมหลังจากโละชุดเก่า ตั้งโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ อีกชุดที่ทำงานคู่ขนานเดินหน้าออกไอเดียปรับโฉมตำรวจไทยเช่นกัน
ดังนั้น แม้ว่า 'โมเดล' นี้จะใกล้เคียงบทสรุปของคณะอนุฯ ที่สุดแล้ว แต่ทว่ายังคงไม่ใช่บทสรุปของโฉมใหม่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ?!