WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Rohinja22


บิ๊กป้อมบินถกอินโด 
ลุยแก้โรฮิงยา'พม่า'โชว์ช่วย ล็อตแรก 208 คน รุดมอบตัวอีก 2

         'บิ๊กตู่' ย้ำอีก-ไม่สร้างศูนย์พักพิงโรฮิงยา เผยตอนนี้มีศูนย์ อพยพตามแนวชายแดนแล้ว 9 แห่ง ใน 8 จว. รับดูแลอยู่ 1.4 แสนคนปมความร่วมมือแก้ปัญหาโรฮิงยา ด้าน 'บิ๊กตู่'ย้ำอีก-ไม่สร้างศูนย์พักพิงโรฮิงยา เผยตอนนี้มีศูนย์อพยพตามแนวชายแดนแล้ว 9 แห่งใน 8 จว. รับดูแลอยู่ 1.4 แสนคน ระบุไม่สามารถรับเพิ่มเติมได้แล้ว-หวั่นบานปลาย รอหารือกลุ่มอาเซียน 29 พ.ค. ส่วนผู้ต้องหาค้ามนุษย์มอบตัวอีก 2 พร้อมนำตัวโกเซี่ย-พวกรวม 9 คนไปฝากขัง

 

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8942 ข่าวสดรายวัน

 

 

        เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการบช.ภ.9 ส่วนหน้า จ.สงขลา พล.ต.ต.พุทธิชาติ เอกฉันท์ รองผบช.ภ.9 แถลงความคืบหน้าคดีค้าชาวโรฮิงยาว่า มีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวอีก 2 คน คือ นายศราวุธ พรหมกะหมัด และนายทนงศักดิ์ เหมมัน เครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.สงขลา รวมผู้ต้องหาทั้งที่มอบตัว จับกุมและอายัดตัวแล้ว 46 คน จากที่ออกหมายจับ 77 คน ยังเหลืออีก 31 คน ที่ยังหลบหนี ส่วนการยึดทรัพย์เครือข่ายนั้นขณะนี้มียอดเพิ่มขึ้นกว่า 85 ล้านบาท


ส่งศาล-เจ้าหน้าที่คุมตัว 9 ผู้ต้องหาคดีมนุษย์ชาวโรฮิงยา เครือข่ายนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง ส่งฝากขังผัดแรกที่ศาลจังหวัดนาทวี จ.สงขลา โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวทุกคน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.

 

      "อัยการสูงสุดยังแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเข้าร่วมประชุมกับทีมสอบสวน เพื่อให้ขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานรวดเร็วและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้เสร็จตามกำหนดเวลาภายในกลางเดือนมิ.ย. ก่อนส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากรายละเอียดทั้งพยานและหลักฐานของคดีนี้มีมาก" พล.ต.ต.พุทธิชาติกล่าว

     พล.ต.ต.พุทธิชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการสอบสวนนายโปเซี๊ย อังโชติพันธุ์ หรือโกเซี่ย เครือญาตินายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกอบจ.สตูล นายสมพล อาดำ ส.จ.สตูล นายสมบูรณ์ สันโด หรือกำนันดีน อดีตกำนันต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล นายสมเกียรติ แก้วประดับ นายอับดุลลาซีด มันตะสุม นายหมัดยุโส๊ป บิลเหล็ม นายเจ๊ะเต๊ะ ยะฝาด นายหมิด หมอชื่น และ        นายอูเซ็น ชาวบังกลาเทศ ทั้งหมดยังให้การปฏิเสธและขอสู้คดีในชั้นศาล เจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนาทวีฝากขังผัดแรก ขณะที่นายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์ อดีตตำรวจจ.สตูล ยังอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม

       วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในช่วงที่สอง ครบรอบ 1 ปี คสช. ถึงการแก้ปัญหาโรฮิงยาว่า กำลังแก้โรฮิงยาอยู่ แต่เรื่องศูนย์อพยพ ที่พักพิงต้องไม่เกิดขึ้น เพราะวันนี้เรามีศูนย์อพยพพักพิงอยู่แล้ว 9 ศูนย์ 8 จังหวัด 140,000 คน 20 ปีแล้ว แต่ก่อนมี 4-5 แสนคน ออกไปได้ 20 กว่าปียังเหลืออยู่แสนเก้าเลย จะทำยังไง นี่คือหน้าที่ที่เรามีต่อยูเอ็นอยู่แล้ว

นายกฯ กล่าวว่า อันที่สองคือตามแนวชายแดน เนื่องจากประเทศรอบบ้านเรามีประชาชนอยู่ใกล้กับเขตแดนไทย การศึกษาเล่าเรียน การเข้าโรงพยาบาล รัฐบาลไทยดูแลทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราที่มีต่อพันธสัญญาโลก ในเรื่องมนุษยธรรม ฉะนั้นคงไม่สามารถไปรับอะไรเพิ่มเติมได้มากไปกว่านี้ โดยไม่จำเป็น แต่เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการดูแลเรื่องมนุษยธรรมก่อน ต่อไปก็สอบถามความสมัครใจเขา เพราะมีกฎของยูเอ็นอยู่แล้ว เขาอยากทำอะไร อยากไปไหน เราต้องถามเขาก่อน แต่ถ้าเข้ามาในเขตไทยมีกฎหมายไทยอยู่ชัดเจน เข้ามาต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม ดำเนินคดีตามกฎหมาย อันนี้ไม่ใช่ศูนย์อพยพพักพิงแล้ว แต่เป็นพื้นที่ควบคุม ขอให้เข้าใจด้วย กฎหมายไทยเป็นอย่างนั้น 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้าอยู่ตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะบานปลายไปเรื่อย แล้วทำยังไง วันนี้ก็หารือกัน และจะประชุมกันวันที่ 29 พ.ค. ก็ไปคุยกันในนั้นว่าจะทำยังไงต่อไป ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ไทยจะต้องเอาปัญหาของเราให้เขาทราบด้วยว่าคนแสนเจ็ดหมื่นคนจะทำยังไงต่อไป แล้วที่กำลังควบคุมอยู่ในเรื่องการผิดกฎหมายข้ามแดน มีทั้งโรฮิงยา มีทั้งหลายประเทศ อยู่ในที่ควบคุมของตม. เยอะแยะ เราต้องขยับขยายให้มันมีความสุข ความสบายขึ้น ไม่งั้นเราก็โดนองค์กรต่างๆ มาตำหนิอีก นี่คือสิ่งที่ดูแลอยู่แล้ว ต้องตามหลักมนุษยธรรม ตามกฎกติกาของโลก เป็นมติก็ทำทั้งหมด แต่เรื่องจะรับผิดชอบอะไรอย่างนี้ขอว่ากันอีกที ตามเหตุผลและความจำเป็น ของเราก็มีเยอะอยู่แล้ว บางคนลืมไปแล้วว่าเรามีศูนย์ที่พักพิงอยู่แล้ว 9 ศูนย์ 

        ส่วนพล.ต.คงชีพ ตันตะวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงการเดินทางเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะว่า การเดินทางในครั้งนี้ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย โดยได้เข้าเยี่ยมคำนับและหารือกับพล.อ.ไรอามิซาร์ด ไรอาซูดู รมว.กลาโหมอินโดนีเซีย ถึงความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงร่วมกัน นอกจากนี้ยังหารือถึงความร่วมมือสนับสนุนผลักดันการแก้ปัญหาที่สำคัญใน 2 เรื่องคือ 1.การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงยา โดยหารือร่วมกันถึงการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม พร้อมทั้งเชิญอินโดนีเซียเข้าร่วมหารือแก้ปัญหา ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดในวันที่ 29 พ.ค. และ 2.ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยกำลังเร่งแก้ปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมายสากล ทั้งเรื่องการรายงาน การจดทะเบียนและการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมงไทยที่ทำผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียและมีแรงงานไทยถูกจับกุมอยู่ปัจจุบัน โดยประเทศไทยประสงค์ที่จะช่วยลูกเรือประมงไทยที่ติดค้างให้กลับประเทศได้ทั้งหมด จึงขอให้กระทรวงกลาโหมช่วยประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการแก้ปัญหา โดยตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมกันทั้งสองฝ่าย

     ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า กองทัพเรือพม่าได้ช่วยเหลือเรือที่มีผู้อพยพชาวโรฮิงยา 208 คน ขึ้นฝั่งที่เมืองเมาก์ดอว์ รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ผู้อพยพมักใช้เป็นจุดเริ่มต้นเดินทางลงพื้นที่ตอนใต้ ระหว่างการลาดตระเวนของกองทัพ หลังเผชิญหน้ากับกระแสกดดันจากนานาชาติต่อกรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาและชาวบังกลาเทศ

กองทัพเรือพม่าตรวจพบเรือ 2 ลำ ลำหนึ่งมีผู้อพยพ 208 คน ส่วนอีกลำว่างเปล่า จึงช่วยเหลือผู้อพยพทั้งหมดขึ้นฝั่ง จากนั้นนำไปพักที่ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวเมืองเมาก์ดอว์ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล อาหาร และน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม นายทิน มวงสเว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐยะไข่ เปิดเผยว่าผู้อพยพทั้งหมดเป็นชาวเบงกาลีมาจากประเทศบังกลาเทศ เป็นการย้ำว่าผู้อพยพเหล่านี้ข้ามพรมแดนเข้ามา

       ทั้งนี้ ชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ถูกทางการพม่าปฏิเสธการรับรองเป็นพลเมืองมาโดยตลอด อีกทั้งมีการปลุกกระแสชาตินิยมพุทธศาสนาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศ ส่งผลให้ชาวโรฮิงยาจำนวนมากอพยพย้ายถิ่น และตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมค้ามนุษย์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่สหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะต่อกฎหมายใหม่ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำพม่า ที่สอดรับกับการรณรงค์ของพระสงฆ์สายสุดโต่งในพม่า ขณะที่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรคฝ่ายค้าน ยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตชาวโรฮิงยาที่เกิดขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!