- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Thursday, 21 May 2015 10:50
- Hits: 5957
7 พันโรฮิงยารอด พม่ายอม อินโด-มาเลย์ช่วย ให้พักพิง 1 ปี-ยุติผลักดัน ที่เคว้งกลางทะเลพ้นทุกข์ เมียนมารับปากครั้งแรก ไทยยังรอถก 15 ปท.ก่อน ออกหมายจับเพิ่ม 6 คน!
พม่ารับปากแล้ว ยินดีช่วยชาว โรฮิงยา รับรู้สึกกังวลวิกฤตลี้ภัย รมช.ต่างประเทศพม่าเผยต้องพิสูจน์สัญชาติ ถ้าให้รับกลับประเทศ พร้อมส่งตัวแทนถกร่วม 15 ปท. ขณะที่อินโดฯ- มาเลย์ให้ที่พักพิง 1 ปี สั่งยุติมาตรการผลักดันเรือผู้อพยพ เร่งช่วยอีก 7,000 คนขึ้นฝั่ง ด้านโป๊ปฟรานซิสทรงห่วงโรฮิงยาด้วย ขณะที่ บิ๊กตู่รอดูท่าทีถก 29 พ.ค. บิ๊กโด่งย้ำไม่มีผลักดัน รมช.บัวแก้วระบุไทยดูแลมาตลอด ฝากขังโกโต้ง-พวก 3 คน ออกหมายจับอีก 6 ระนองจับ 2 โรฮิงยาหนีเข้าเมือง
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8940 ข่าวสดรายวัน
พม่าแถลงพร้อมช่วยโรฮิงยา
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ทางการเมียนมาแถลงท่าทีในเชิงบวกครั้งแรกเกี่ยวกับชาวโรฮิงยาว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกคน โดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาแถลงว่า รัฐบาลเมียนมามีความกังวลต่อวิกฤตลี้ภัยของชาวโรฮิงยาเช่นเดียวกับประชาคมโลก และยินดีจะช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ ลี้ภัยทุกคนที่กำลังเดือดร้อนจากการล่องเรือในทะเล ถือเป็นคำแถลงในเชิงประนีประนอมครั้งแรกของรัฐบาลเมียนมา และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกระบวนการช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมียนมาเพิ่งปฏิเสธความรับผิดชอบ กล่าวว่าชาวมุสลิมโรฮิงยาเป็นชาวบังกลาเทศ ไม่ใช่ประชาชนของ เมียนมา รวมถึงส่งสัญญาณว่าอาจไม่เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อแก้วิกฤตผู้ลี้ภัย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. ที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากทางการไทยไม่มีมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามอาชญากรรมค้ามนุษย์ ส่งผลให้มีการลักลอบค้าชาวโรฮิงยาผ่านไทยก่อนส่งต่อไปยังมาเลเซีย ทำให้กลายเป็นการลอยแพผู้ลี้ภัย เพื่อหนีความผิดของขบวนการค้ามนุษย์
อินโดฯ-มาเลย์ให้ที่พักพิง
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าเอเอฟพี บีบีซี ซีเอ็นเอ็น รายงานสถานการณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงยาอย่างต่อเนื่องว่า หลังจากถูกประชาคมโลกกดดันอย่างหนัก รัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลมาเลเซียแจ้งว่าได้ยุติมาตรการผลักดันเรือผู้อพยพแล้ว พร้อมช่วยเหลือผู้อพยพโรฮิงยาทางเรือจากพม่าและบังกลาเทศที่ยังลอยลำในทะเลราว 7,000 คนขึ้นฝั่ง เพื่อพักพิงได้ภายใน 1 ปี โดยอินโดนีเซียให้ความช่วยเหลือรับผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลขึ้นชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
ชีวิตใหม่ - เรือบรรทุกชาวโรฮิงยาลอยลำเข้าสู่น่านน้ำอินโดนีเซีย หลังรัฐบาลยอมให้ขึ้นฝั่งเพื่อช่วยเหลือ ภายหลังรมว. ต่างประเทศ 3 ชาติ คืออินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย ประชุมกัน ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 20 พ.ค. |
"การใช้เรือลากหรือใช้การยิง เพื่อผลักดันเรือออกไปจะไม่เกิดขึ้นอีก เรายินดีจะให้ที่ พักพิงคนกลุ่มนี้ชั่วคราว ระหว่างดำเนินกระบวนการของประชาคมโลก เพื่อหาที่ตั้งรกรากใหม่หรือส่งกลับประเทศภายใน 1 ปี" นายอานิฟาห์ อามัน รมว.ต่างประเทศมาเลเซียกล่าว ภายหลังการประชุมร่วมกับนางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย และพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศของไทย ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย แต่พล.อ.ธนะศักดิ์ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวดังกล่าว นายอานิฟาห์จึงต้องกล่าวแทนว่า ตัวแทนรัฐบาลไทยยังสงวนท่าทีที่จะร่วมช่วยเหลือ โดยกล่าวว่าขอไปหารือกับคณะรัฐบาลก่อน
โป๊ปฟรานซิสทรงห่วง
ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย เรือประมงอินโดนีเซียได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาและบังกลาเทศมากกว่า 102 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงราว 26 คน และเด็กอีก 31 คน ซึ่งลอยเรืออยู่กลางทะเลด้วยความหิวโหยและขาดน้ำอย่างรุนแรง ส่วนทางการท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์ตะวันออกระบุว่า ได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอีก 272 คน ที่เดินทางขึ้นฝั่งในช่วงเช้าตรู่ของวันเดียวกัน
นายอูเบย์ดุล ฮาเก หนึ่งในชาวโรฮิงยาที่ขึ้นฝั่งจังหวัดอาเจะห์ ให้สัมภาษณ์ว่าเรือลำดังกล่าวลอยลำอยู่ในทะเลนานกว่า 4 เดือน และเมื่อเครื่องยนต์ใช้งานไม่ได้แล้ว คนขับเรือก็หนีเอาตัวรอด พวกตนต้องการเดินทางไปมาเลเซีย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง
นอกจากนี้ยังพบเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนที่หายไปนานกว่า 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ หลังเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่ง กับเหตุผลว่าผู้ลี้ภัยต้องการเดินทางไปมาเลเซีย
ช่วยโรฮิงยา - พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ จับมือกับรมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ระหว่างประชุมหารือเรื่องการช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงยา ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. |
ด้านนายคริส เลวา จากกลุ่มยะไข่โปรเจ็กต์ กลุ่มสังเกตการณ์เส้นทางลี้ภัยของชาวมุสลิม โรฮิงยา กล่าวยืนยันว่า เรือลำดังกล่าวที่พบเป็นเรือลำเดียวกันที่ขาดการติดต่อไปก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ลี้ภัยอยู่ในสภาพอิดโรย ขาดน้ำและอาหารอย่างรุนแรง หลังจากถูกผลักดันออกจากน่านน้ำไทย 3 ครั้ง และน่านน้ำมาเลเซียอีก 2 ครั้ง โดยผู้ลี้ภัยบนเรือให้การว่า ครั้งที่ 2 ที่ทางการมาเลเซียปฏิเสธไม่ให้พวกตนขึ้นฝั่ง มีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธปืน พร้อมประกาศว่าพร้อมจะยิงเรือหากกลับเข้ามาในน่านน้ำมาเลเซียอีกครั้ง
วันเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ตรัสระหว่างเป็นประธานในพิธีมิสซาในนครรัฐวาติกัน โดยทรงเปรียบเทียบผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงยากับเหยื่อความรุนแรงจากกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นห่วงชาวโรฮิงยา เนื่องจากต้องอพยพหนีจากการถูกข่มเหง โดยไม่รู้ว่าต้องเผชิญอะไรในวันข้างหน้า
บิ๊กตู่รอดูท่าที-ถก 15 ปท.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียลงนามตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับชาวโรฮิงยาว่า เรายังยืนยันเหมือนเดิม เพราะเราเป็นประเทศกลางทาง วันเดียวกันนี้เป็นการประชุมในระดับรมว.ต่างประเทศของ 3 ประเทศ และข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีปัญหามากกว่าเขา แต่เราเห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะรับที่ไหนก็ค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้เหมือนกับเขาต้องการรับ โดยแต่ละประเทศแบ่งๆ กันรับ ถามว่ารับได้หรือไม่ ขอให้ตอบมาว่ารับได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวตอบว่าก็ดีที่แต่ละประเทศช่วยกันแบกรับปัญหาดังกล่าว โดยไทยไม่ต้องแบกรับปัญหาฝ่ายเดียว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "เขามี 9,000 คน แบ่งประเทศละ 3,000 คนรับมั้ย ไปคิดใหม่ ซึ่งจะรับหรือไม่รับไม่รู้กำลังไปพูดคุยอยู่ ผมไม่พูดอะไร แต่ขอร้องว่าอย่าไปทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับทุกประเทศ"
ด้านพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงตัวเลขผู้อพยพ 9,000 ราย ว่า ในวันนี้จากข้อมูลเบื้องต้น มีรายงานว่าชาวโรฮิงยาทั้งหมดมีประมาณ 1.4 ล้าน-2 ล้านคน ในความหมายของนายกฯ คือต้องการให้รอผลการประชุม 15 ประเทศ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ก่อน และเห็นว่าทั้ง 3 ประเทศ ที่คุยกันใน วันนี้จะรีบไปทำไม เพราะภาพใหญ่ของอาเซียนยังไม่ได้คุยกัน และยังไม่ควรจะไปตกลงอะไรกันในตอนนี้ อย่างไรก็ตามถ้าไปรับมาดูแลในวันนี้ ขณะที่ยังไม่รู้ตัวเลขแท้จริง ก็ไม่รู้ว่าจะมีผู้อพยพนั้นมาอีกเท่าไร อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกลางทางที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้
บัวแก้วชี้ไทยดูแลมาตลอด
ที่โรงแรมเดอะ เซนท์ ริจิส นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวหลังการหารือทวิภาคีกับนายตัน จ่อ รมช.ต่างประเทศพม่า เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ถึงประเด็นที่มาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศพร้อมให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงยา แต่ดูเหมือนไทยจะยังสงวนท่าที นายดอนกล่าวว่า ไม่ใช่ นายกฯ บอกแล้วว่าไทยดูแลคนเหล่านี้มาตลอด เราใช้กฎหมายภายในประเทศดูแลในลักษณะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และดูแลในส่วนจำเป็น ซึ่งไม่ต่างจากเพื่อนบ้านที่ระบุว่าจะรับดูแลเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปีก่อนจะให้ออกไป
นายดอนกล่าวอีกว่า ขณะนี้มี 17 ประเทศ และ 3 องค์กรระหว่างประเทศที่ตอบรับจะเข้าร่วมประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พ.ค. รวมถึงพม่าและบังกลาเทศ โดยการประชุมจะมองในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ยังลอยเรืออยู่ในทะเล ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งแล้ว จะได้รับการดูแลให้ที่พักพิงชั่วคราว ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว จะมุ่งไปที่ผู้ที่ยังไม่ได้เดินทางออกมาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เดินทางออกมาอีก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการไหลบ่าของผู้คนออกมาอีก
โกโต้ง - ตำรวจควบคุมตัวนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล พร้อมด้วยนางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์, นายอนุสรณ์ สุขเกษม หรือโกเล้ง และพ.ต.ท. ชาญ อู่ทอง สว.ธร.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงยา ไปฝากขังต่อศาลจังหวัดนาทวี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. |
เมื่อถามว่าระหว่างนี้จะทำความเข้าใจกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างไร เพราะมีเสียงเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศให้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียช่วยกันดูแลคนเหล่านี้ นายดอนกล่าวว่า ไม่แปลกใจที่มีเสียงเรียกร้อง เพราะถ้ามองจากข้างนอกเข้ามาเห็นว่าเรือยังไม่ขึ้นฝั่ง ก็อาจทำให้เกิดความห่วงกังวล จึงเป็นธรรมดาที่จะมีการแสดงท่าทีให้ประเทศที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบ แต่การแสดงความรับผิดชอบของไทยมีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเห็นได้จากการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วและสามารถอธิบายได้ เพราะตั้งแต่มีการใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ด้านอย่างเป็นระบบ และมีความตั้งใจจริงมากขึ้น
พิสูจน์สัญชาติ-รับกลับพม่า
ด้านนายตัน จ่อ ให้สัมภาษณ์ว่า พม่ากำลังพิจารณาจะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมระดับ ผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่อาวุโส ว่าด้วยเรื่อง โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พ.ค. ภายหลังที่ได้หนังสือเชิญจากไทยแล้ว ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่าผู้แทนจากหลายประเทศได้ตอบรับเข้าร่วมประชุม รวมถึงผู้แทนองค์กรสหประชาชาติ โดยเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้หารือพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหานี้ เพราะพม่าเห็นว่าเราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน
เมื่อถามว่าพม่าพร้อมจะรับคนเหล่านี้กลับประเทศหรือไม่ นายตัน จ่อ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมีคือการพิสูจน์สัญชาติให้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้มาจากพม่าจริงหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องมีขั้นตอนดำเนินการ หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นชาวพม่าจริง ก็เป็นไปได้ที่พม่าจะพิจารณารับกลับประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าพม่าระบุว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะสามารถให้รายละเอียดได้หรือไม่ นายตัน จ่อ กล่าวว่า หากพวกที่อยู่ในทะเลประสบปัญหาในน่านน้ำของพม่า เราก็จำเป็นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพราะเป็นพันธกรณีของทุกประเทศ ดังนั้นหากพบเรือในน่านน้ำของพม่า รัฐบาลพม่าก็จะให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมกับบุคคลเหล่านั้น
เมื่อถามว่า การประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะมีผลอะไรเป็นรูปธรรมหรือไม่ นายตัน จ่อ กล่าวว่า การหารือที่จะมีขึ้นมีเป้าหมายด้านมนุษยธรรม ดังนั้นเชื่อว่าจะเป็นการประชุม ที่ดี เพราะเรามุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก แต่หากจะมุ่งเป้าไปที่เรื่องการเมืองก็เชื่อว่าจะทำให้เรื่องซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น
บิ๊กโด่งย้ำไม่มีผลักดัน
ที่กองการบิน ขส.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. กล่าวถึงการช่วยเหลือชาวโรฮิงยา โดยเปิดสถานที่พักคอยชั่วคราวว่า ประเด็นนี้ต่างจากศูนย์พักพิงที่มีอยู่ 9 ศูนย์ ซึ่งเป็นภาระ เมื่อก่อนศูนย์พักพิงดังกล่าวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยประชาชนที่มาอาศัยจะหลบหนีภัยการสู้รบและตอนนี้ลดระดับลงแล้ว แต่กรณีชาวโรฮิงยาเป็นคนละกรณีกัน เพราะเป็นการหลบหนีเข้าเมืองที่ไม่ถูกต้อง และสถานที่ต่างๆ เป็นสถานที่ควบคุมคนหลบหนีเข้าเมือง โดยมีตำรวจเป็น ผู้ดูแล ส่วนเด็กและสตรี เป็นการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบ ทั้งหมดที่หลบหนีเข้ามาเราดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ทหารไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมตัว แต่จะดูแลด้านความมั่นคง ถ้าพบเห็นคนหลบหนีเข้าเมืองก็จะควบคุมตัว ส่งตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมาย ขณะเดียวกันถ้ามีคนหลบหนีเข้ามามาก และสถานที่ ควบคุมไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้นโยบายจัดเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลโดยตรง ตอนนี้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ยังดูแลผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองได้อยู่
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า สำหรับมาตรการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยา ขอเน้นย้ำว่าไม่มีการผลักดัน หรือผลักไสไล่ส่งใดๆ เพราะเราเป็นประเทศกลางทาง ที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของชาวโรฮิงยา หากแต่พวกเขาต้องการไปยังประเทศที่ 3 แต่เมื่อมีคนเคลื่อนย้ายมาทางทะเลนั้น เจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบและเข้าไปดูแลว่ามีปัญหาอะไร หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วย จะนำเข้ามารักษาพยาบาล ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้ว และต้องการเดินทางไปประเทศที่ 3 ทางเราไม่สามารถขัดวัตถุประสงค์พวกเขาได้ แต่ถ้าไม่ต้องการเดินทางต่อไปประเทศที่ 3 ก็จะนำตัวเข้ามาสู่ระบบการควบคุมตัว ในลักษณะคนหลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย โดยการปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ฝากขังโกโต้ง-พวก 3 คน
ที่จ.สงขลา พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันท์ ผบช.ภ.9 และพล.ต.ต.พุทธิชาติ เอกฉันท์ รอง ผบช.ภ.9 ร่วมแถลงถึงความคืบหน้าคดีค้าชาวโรฮิงยาว่า ขณะนี้ออกหมายจับไปแล้ว 71 ราย จับกุมได้ 34 ราย และยังหลบหนีอีก 37 ราย รวมทั้งยึดทรัพย์เพิ่มเติมจากที่ได้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวประมาณ 81 ล้านบาท
"เจ้าหน้าที่จะควบคุมผู้ต้องหา 4 คน ที่เข้ามอบตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนาทวีเป็นผัดแรก หลังสอบสวนเสร็จแล้ว ประกอบด้วย นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีต นายกอบจ.สตูล นางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ นายอนุสรณ์ สุขเกษม หรือโกเล้ง และพ.ต.ท. ชาญ อู่ทอง สว.อก.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี โดยทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ ส่วนร.ต.ท.นราธร สัมพันธ์ รองสว.สส.ภ.จว.ระนอง ยังอยู่ระหว่างสอบสวน" พล.ต.ต.พุทธิชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีญาติของนางทัศนีย์ หนึ่งในผู้ต้องหา พร้อมทนายความเดินทางมายังสภ.หาดใหญ่ เพื่อยื่นเรื่องจากศาลขอตัว นางทัศนีย์ ไปฉีดคีโมที่ร.พ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและแพทย์นัดหมายในวันที่ 21 พ.ค. โดยญาติยังเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้นางทัศนีย์ว่า ไม่เคยมีความสัมพันธ์หรือรู้จักกับโกโต้งตามที่เป็นข่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่ยอมรับว่าพี่สาวของนางทัศนีย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าแรงงานพม่า และได้ยืมรถกระบะซึ่งเป็นชื่อของนางทัศนีย์ไปใช้
ต่อมาเจ้าหน้าที่นำตัวนายปัจจุบัน นางทัศนีย์ นายอนุสรณ์ และพ.ต.ท.ชาญ ไปขออำนาจศาลจังหวัดนาทวีฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน และระหว่างการคุมตัวไปฝากขัง โกโต้งเปิดเผยว่าตนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและพร้อมที่จะสู้คดีทุกคดีตามที่ถูกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดและยังเป็น ผู้บริสุทธิ์ พร้อมกับชูนิ้วสัญลักษณ์ไอเลิฟยูหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี
รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลจังหวัดนาทวีได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 6 คน จากเดิมออกหมายจับไปแล้ว 71 คน รวมผู้ต้องหาถูกออกหมายจับแล้ว 77 คน
จับ 2 โรฮิงยาหนีเข้าเมือง
ที่ จ.ระนอง ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ ลิ่มมังกูร รอง สวป.สภ.เมืองระนอง รับแจ้งมีบุคคลต้องสงสัย 2 คน เดินอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม หน้าปั๊มน้ำมัน ม.1 ต.บางนอน อ.เมืองระนอง จึงรุดไปตรวจสอบพบและคุมตัวมาสอบสวน ทราบว่าเป็นชาวโรฮิงยาและถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมไว้เกือบ 30 วัน ก่อนผลักดันไปเกาะสองและถูกตำรวจเกาะสองประเทศเมียนมาจับกุมอีกครั้ง ก่อนผลักดันออกมาทันที ด้วยการว่ายน้ำกลับเข้ามาฝั่งไทย โดยผูกขวดน้ำและแกลลอนเป็นทุ่น เมื่อขึ้นฝั่งได้ขอข้าวอาหารชาวบ้านทานแล้วเดินมาเรื่อยๆ ตามถนน ก่อนถูกตำรวจจับกุม
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่นายอภิชาต แสงประดับ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี สั่งการให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าออกทำการลาดตระเวนชายฝั่งและหมู่เกาะกลางลำน้ำกระบุรี ที่ต้องสงสัยมีชาวโรฮิงยาหลบหนีเข้าเมือง โดยลาดตระเวนรวมระยะทางกว่า 30 ก.ม. แต่ไม่พบร่องรอยหรือการหลบซ่อนของชาวโรฮิงยาแต่อย่างใด
ที่จ.สตูล นายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.สตูล พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนา รอง ผบช.ภ.9 และรรท.ผบก.ภ.จว.สตูล ตรวจยึดเรือ 3 ลำ โดยบางลำติดตราสัญลักษณ์กรมการปกครอง ซึ่งลำแรกเป็นสปีดโบ๊ต เป็นของนายสมบูรณ์ หรือกำนันดีน สันโด กำนันต.เกาะสาหร่าย ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ ลำที่ 2 สปีดโบ๊ต เป็นของนายสาและ โต๊ะดิน ญาติของนายมาเลย์ โต๊ะดิน ผู้ต้องหาคดีฆ่าโรฮิงยา และลำสุดท้ายเป็นเรือของนายชาติ หรือชาญ มีภูมิลำเนาอยู่ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ส่วนตราสัญลักษณ์กรมการปกครองพบว่ามีการซื้อมาติดเอง