- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Saturday, 03 September 2022 17:06
- Hits: 1159
มหาดไทย จับมือ สภาพัฒน์ และสกสว. สร้างรากฐานการดำรงชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุล ด้วยการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ กับแนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ เสริมความรู้ พัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ เพื่อ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว และมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นสักขีพยาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้แก่พี่น้องประชาชน ในทุกพื้นที่ของประเทศ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริอารยเกษตร ไปปฏิบัติในการสร้างรากฐานการดำรงชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเริ่มจากการพัฒนาคนในชุมชนให้มีความคิดที่จะ Change for Good ร่วมกันสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีๆให้แก่ชุมชนตนเอง ร่วมมือกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆของชุมชน
ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ที่เน้นการพึ่งพาตนเองในปัจจัยสี่ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง ที่เน้นการรวมกลุ่มกันสร้างสิ่งที่ดีงามพร้อมรักษาวิถีวัฒนธรรมประเพณี เมื่อชุมชนมีความพร้อม ก็จะไปถึงทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ที่จะได้นำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ของ สกสว. ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ โดยตอบสนองความต้องการ และแก้ไขของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ไปแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
โดยใช้ต้นแบบจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการแก้โจทย์ที่ซับซ้อนของพื้นที่ในทุกระดับของจังหวัด ที่นักวิจัยและพี่น้องประชาชนในชุมชนร่วมกันศึกษาปัญหาและหนทางแก้ไขปัญหาของพื้นที่ สามารถนำมาปรับเป็นแผนโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ตามภารกิจหลักในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้กับพี่น้องประชาชน ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีในระดับจังหวัด และมีนายอำเภอ เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีในระดับอำเภอ เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมโยงการทำงานของทุกกรมทุกกระทรวง องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย 7 ภาคี ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการประสานแผนเชิงภารกิจ และเชิงพื้นที่ในระดับต่าง ๆ ให้เชื่อมโยง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงแผนพัฒนาภาคที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กำหนดให้สอดคล้องเข้ากับแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีความก้าวหน้า และเติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของภูมิภาค และสามารถตอบยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อันจะเป็นฐานในการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย
และแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ครอบคลุมทุกมิติ ผ่านการดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยแนวทาง 2 มิติ คือ’มิติยาฝรั่ง’ ทำให้อยู่รอด ไม่เดือดร้อน ทำให้มีบ้าน ได้เรียนหนังสือ มีปัญหาขอรับความช่วยเหลือได้ทันที โดยส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา และ’มิติยาไทย’ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปสู่วิถีชีวิตของประชาชน ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs ซึ่งกระทรวงมหาดไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่
การร่วมกันลงนามในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ ในวันนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นโอกาสให้ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกัน Change for Good นำองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรม มาต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศ
เกิดการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด และเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน อันจะเป็นทางรอดสำหรับอนาคต ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพี่น้องประชาชน ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ ให้วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเรา คือ พี่น้องประชาชน และประเทศชาติ ที่พร้อมใจกันนำพาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SEP for SDGs) ได้อย่างแน่นอน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้าย