- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Wednesday, 15 June 2022 08:13
- Hits: 2261
มท.1 นำประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนฯ (อขจพ.) พร้อมเตรียมนำผลงานสำคัญเสนอต่อที่ประชุม คจพ.
ที่ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในฐานะคณะอนุกรรมการฯ อาทิ นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายนิวัฒน์ น้อยผาง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กลไกทุกระดับมีแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ครบถ้วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและแนวทาง คจพ. โดยในขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของขั้นตอนการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของพื้นที่ ขณะนี้ถือว่า มีความคืบหน้าตามลำดับ และนอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ของผู้ปฏิบัติได้มีเสียงสะท้อนจากระดับพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขับเคลื่อนฯ ที่จำเป็นต้องหารือเพื่อเสนอต่อที่ประชุม คจพ. พิจารณา จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะฝ่ายเลขานุการที่ประชุม ได้รายงานผลความก้าวหน้า โดยจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจปัญหาและเป็นเป้าหมายที่ต้องให้ความช่วยเหลือตามระบบ TPMAP มีจำนวน 647,139 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจและแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ตามเมนูแก้จนใน 5 มิติ ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ พบสภาพปัญหา 133,872 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 71,947 ครัวเรือน 2) มิติความเป็นอยู่ พบสภาพปัญหา 134,901 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือ แล้ว 66,315 ครัวเรือน 3) มิติการศึกษา พบสภาพปัญหา 134,044 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 79,153 ครัวเรือน 4) มิติรายได้ พบสภาพปัญหา 314,667 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 150,403 ครัวเรือน และ 5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ พบสภาพปัญหา 2,649 ครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 1,215 ครัวเรือน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ได้สะท้อนว่ายังมีครัวเรือนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนนอกเหนือจากตัวชี้วัดของระบบ TPMAP ซึ่งสภาพปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและช่วยเหลือ และที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม คจพ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาให้กลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นได้รับการกำหนดเป็นเป้าหมายในระบบ TPMAP
'คนเราเวลามีปัญหาจะรอไม่ได้' ต้องเข้าไปแก้ทันที เช่น ถ้าเขามีหนี้ และเราช่วยหาวิธีการทำให้เขาหมดหนี้ และมีเงินทุนในการประกอบอาชีพ แบบนี้เรียก ‘สำเร็จ’ แต่ถ้าเขาไปเจอสาธารณภัยซ้ำทำให้ล้มเหลวอีก เราก็ต้องไปประเมินหาทางช่วยเหลือต่อไป เพราะของเก่าก็แย่ ของใหม่ก็แย่ไปอีก ก็ต้องช่วยกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เสร็จในคราวเดียว ซึ่งเปรียบคนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่เรียนหนังสือในห้องเรียน จะมีคนกลุ่มหนึ่งเรียนอ่อน ซึ่งเราก็ติวเสริมพิเศษให้ แล้วก็ต้องสอบปลายภาค โดยนักเรียนคนที่เราติวไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเก่งเลย ในปีต่อไปถ้าเขาเก่งขึ้นจนช่วยตัวเองได้ เราก็จะติวต่อไป และต้องทำให้สำเร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนตามอำนาจหน้าที่ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสื่อสารให้สังคมเกิดความตื่นตัว ทำให้สังคมรับรู้ว่าเราไม่ได้นิ่งเฉยกับการดูแลคนที่ยากลำบาก”พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย