- Details
- Category: สภาหอการค้าไทย
- Published: Tuesday, 09 January 2018 19:30
- Hits: 13745
กกร.หนุนรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-ไม่ก้าวก่ายอัตราปรับขึ้นแต่ขอให้เหมาะสม-เป็นธรรม หวั่นกระทบเอสเอ็มอี-ภาคเกษตร
กกร. หนุนรัฐบาลขึ้นค่าแรง พร้อมย้ำจุดยืนควรปรับในอัตราที่ไม่เท่ากันทั้งประเทศ หวั่นกระทบกลุ่มเอสเอ็มอี และภาคเกษตร หลังเงินบาทแข็งค่า และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยืนยันไม่ก้าวก่ายการกำหนดอัตราการขึ้นค่าแรง แต่ขอให้เป็นอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรม
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน 'แถลงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย'” ว่า ในวันนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ได้แถลงจุดยืนเห็นด้วยกับทางภาครัฐที่จะปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน แต่ควรปรับขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากให้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก
โดยคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และ สำนักงานสถิติจังหวัด พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยทางกกร.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายถึงการกำหนดอัตราค่าจ้าง
“อย่าให้ผมต้องพูดเรื่องตัวเลขเลย เพราะจะเป็นการก้าวก่าย ถ้าอยากได้ตัวเลขต้องไปถามคณะอนุกรรมการ ซึ่งเราแสดงจุดยืนไปแล้วว่าเห็นด้วย แต่ขอให้ขึ้นในอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรม และ ไม่ควรขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพราะบางพื้นที่ไม่ได้เอื้อต่อการขึ้นค่าแรง เนื่องจากกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นเอสเอ็มอี และ เกษตรกร เพราะตอนนี้ค่าเงินบาทก็แข็งค่ามากกว่า 10% ค่าน้ำมันก็มีแนวโน้มสูงขึ้นแตะ 80 เหรียญต่อบาร์เรล ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกผู้ประกอบการจะแย่”นายกลินท์ กล่าว
สำหรับ การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน เช่น ผลกระทบผู้ประกอบการ SME และ ภาคการเกษตร โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 60 มีการจ้างงานหรือผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.72 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำในภาคเกษตรจำนวน 12.05 ล้านคน ภาคการผลิตจำนวน 14.79 ล้านคน และภาคบริการและการค้าจำนวน 10.88 ล้านคน
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวโดยเฉพาะการจ้างงานในส่วนภาคการผลิต และ ภาคบริการและการค้ามีจำนวนรวม 25.67 ล้านคน มาพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจสำมโนธุรกิจการค้าและ อุตสาหกรรม ปี 60 และข้อมูลจัดตั้งธุรกิจ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จำนวนการจ้างงานดังกล่าว มีส่วนของการจ้างงาน 11.7 ล้านคน โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 3 ล้านรายรวมอยู่ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาร่วมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมจำนวน 12.5 ล้านคน ที่มิได้รับผลประโยชน์จากการปรับค่าแรงโดยตรง และ อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้การปรับอัตราค่าจ้างครั้งนี้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ ผู้ทำงานภาคเกษตรน้อยที่สุด
โดยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันประเทศไทยพึ่งฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาปัจจัยหลายประการที่ยังมีความผันผวนอยู่ เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไปอาจจะเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจในการลงทุนของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศได้
ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทยเพื่อรองรับ Thailand 4.0
“กกร. และ สมาชิกผู้ประกอบการทุกพื้นที่ยังเห็นพ้องกันควรมีการปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีในประเทศไทย แต่ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศและไม่สูงเกินไป รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงควรเป็นไปตามความสามารถฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และ ทักษะของแรงงาน โดยยึดหลักในการปรับค่าแรงงานประจำปีที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อเกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”นายกลินท์ กล่าว
กกร.เสนอนายกฯ ชู 5 แนวทางประกอบพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงปีนี้
กกร.เสนอแผน 5 แนวทางแก่นายกฯ ประกอบพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงประจำปี 61 ชี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน- ไม่กำหนดอัตราเดียวทั่วประเทศ- คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน- ภาครัฐเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยหลังเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยปี 2561 เนื่องจากกระแสข่าวการปรับอัตราค่าจ้างขึ้น 2-15 บาท สร้างความสับสนในผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
โดยกกร.ได้เสนอแนวทางประกอบการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน คือ
1. ควรปรับให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน ตามกฎหมายพัฒนาส่งเสริมฝีมือแรงงานที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้าง 67 สาขา
2.ไม่ควรกำหนดอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะมีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ ควรให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจ รายได้ประชาชาติต่อหัว ประเภทธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในจังหวัดนั้นๆ
3.การปรับขึ้นค่าแรง ควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมารอบด้าน โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอีและภาคการเกษตร ที่อาจไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สภาพเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว แต่ยังมีความผันผวน การปรับค่าจ้างที่สูงเกินไปอาจกระทบต่อความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย
5. ภาครัฐควรผลักดันไทยให้ก้าวสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน
"การปรับขึ้นค่าแรงควรเป็นไปตามความสามารถฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และทักษะของแรงงาน ยึดหลักการปรับค่าแรงที่เป็มาตรฐานสากล เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายกลินทร์กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย