WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

jsccib logoกกร.ตั้งเป้าลดปริมาณใช้น้ำประปาลง 30% ภายในมิ.ย.59 รับมือวิกฤตภัยแล้ง

     คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กกร.ตระหนักถึงวิกฤตภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการร่วมรณรงค์และหาแนวทางเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง พร้อมประกาศเจตนารมณ์เพื่อลดการใช้น้ำ โดยได้ริเริ่มโครงการ "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง" เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรรม ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ได้ตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และร่วมมือกันรับมือกับปัญหาดังกล่าว  

     วัตถุประสงค์หลักของโครงการ ได้แก่ (1) รณรงค์ให้หน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันลดปริมาณการใช้น้ำประปาเพื่อรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง (2) ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งให้กับชุมชน และภาคเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง (3) สร้างเครือข่ายหน่วยงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเห็นคุณค่าของการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (4) ความตระหนักรู้ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

    ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของโครงการ "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง" คือร่วมกันลดปริมาณการใช้น้ำประปาของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการลง 30% ภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ ตั้งเป้าหมายมีหน่วยงานภาคเอกชนร่วมลดการใช้น้ำประปาลง ไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยงาน สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่จะดำเนินการ ได้แก่ (1) ประชาสัมพันธ์บทบาทภาคเอกชน ในการรณรงค์เพื่อลดการใช้น้ำในช่วงที่ประเทศประสบกับวิกฤตภัยแล้ง ผ่านทาง Website และ Facebook (2) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านสุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำลดราคาสินค้าลงในช่วงที่ ประเทศประสบกับวิกฤตภัยแล้ง (3) สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ลดการใช้น้ำประปาในหน่วยงาน รวมทั้งการแบ่งปันน้ำให้กับชุมชนและภาคเกษตรที่อยู่รอบข้าง (4) สนับสนุนโครงการของหน่วยงานภาคี เช่น การประปานครหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินกิจกรรม

     นอกจากนี้ กกร. จะจัดงานสัมมนา "กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัด ภัยแล้ง" ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 12.30 - 17.00 น. ณ ห้อง World Ballroom B-C โรงแรม Centara Grand at Central World ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการลดการใช้น้ำ และการรับมือปัญหาภัยแล้ง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ลดรายจ่าย-แก้วิกฤติภัยแล้งแบบยั่งยืน

     บ้านเมือง : ที่ผ่านมาการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในพื้นที่ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มักเป็นไปในรูปแบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านกว่า 70,000 แห่งที่ใช้ระบบน้ำประปาเพื่ออุปโภค บริโภค รวมถึงทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ แต่ประปาหมู่บ้านหลายแห่งกลับประสบปัญหาในเรื่องการบริหารงบประมาณ เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อผลิตน้ำประปามากกว่ารายรับจากการเก็บค่าน้ำส่งผลให้หลายชุมชนประสบปัญหาในเรื่องระบบน้ำมาโดยตลอด

    จึงมีหลายหน่วยงานในภาครัฐ เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ให้กับชุมชน โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ มาใช้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ทำให้มีแสงอาทิตย์สาดส่องมาต่อเนื่องตลอดแทบทั้งวัน การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในระบบประปาหมู่บ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจมากในขณะนี้

      ล่าสุด โครงการประปาพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ดำเนินการติดตั้งสำเร็จเป็นโมเดลต้นแบบแล้ว สามารถแก้ปัญหาได้จริงและอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวได้ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 1, หมู่ 3 และหมู่ 5 ต.ย่านรี อ.สามเงา จ.ตาก ที่ต้องประสบปัญหาการใช้น้ำและปัญหาค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด

    นายสง่า มูลถี กำนัน หมู่ 5 ต.ย่านรี เล่าให้ฟัง "ในหมู่บ้านของตนมีชาวบ้านอยู่ประมาณ 300 ครัวเรือน มีค่าผลิตน้ำประปาเดือนละ 17,000 บาท สวนทางกับรายรับจากการเก็บค่าน้ำที่เก็บได้แค่ 10,000 บาท ต้องติดลบเดือนละไม่น้อยกว่า 6,000 บาท จนปัจจุบันมีหนี้สะสมประมาณ 50,000 บาทเพราะต้องไปกู้ยืมเงินมาจ่ายค่าไฟฟ้า ถ้าไม่จ่าย ไฟฟ้าจะถูกตัด ทำให้ผลิตน้ำประปาไม่ได้ ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน เลยมีแนวคิดว่าจะเพิ่มค่าบริการค่าน้ำจาก 5 บาทเป็น 8 บาท และจะขยายเป็น 10 บาท สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน จนตนต้องถูกร้องเรียน หลังติดตั้งโครงการประปาพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ค่าไฟลดเหลือเดือนละไม่กี่พันบาท ดีใจมากครับที่โซลาร์เซลล์ช่วยปลดหนี้ชุมชน"

      นายวินัย พลมั่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ย่านรี เล่าให้ฟังว่า "ชุมชนหมู่ 3 มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 200 ครัวเรือน ในแต่ละเดือนทางชุมชนจะจัดเก็บค่าบริการน้ำประปาหน่วยละ 5 บาท ซึ่งจะเก็บได้ประมาณ 10,000 บาท แต่ก็ต้องนำมาจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับการผลิตน้ำประปาหมด ไม่มีเหลือไปทำอย่างอื่นเลย หลังติดตั้งประปาพลังงานแสงอาทิตย์ เหลือค่าไฟแค่หลักพัน ดีใจที่จะมีเงินเหลือไปพัฒนาชุมชนให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น"

      นายตา สุยะมา ผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ 1 ต.ย่านรี เล่าว่า "ในหมู่บ้านมี 200 ครัวเรือน เก็บค่าน้ำได้เดือนละ 12,000 แต่ก็เสียค่าไฟไปเกือบหมดเหมือนกัน หลังติดตั้งโครงการประปาพลังงานแสงอาทิตย์ มิเตอร์ไฟฟ้าหยุดหมุนเลย ดีใจมาก และเสียงมอเตอร์สูบน้ำก็ไม่ดังหนวกหูเหมือนของเดิมอีกด้วย ลุงตาบอกว่าตอนที่ช่างมาติดตั้งก็มานั่งดูเขาทำงาน รู้สึกว่าติดตั้งไม่ยาก ใช้ระยะเวลาไม่นานในการติดตั้ง วันเดียวก็เสร็จแล้ว เพียงปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่าง และมีแผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวรับพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากที่ตำบลย่านรีจะมีแสงแดดตลอดแทบทั้งวัน ทำให้ผลิตกระแสไฟได้มาก แทบไม่ต้องใช้ไฟหลวงเลย จึงอยากขอเชิญชวนหมู่บ้านอื่นๆ ทั่วประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าว แจ้งความประสงค์หรือติดต่อขอคำปรึกษา หรือขอติดตั้งประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ เหมือนกับชุมชนของตนไปยังศูนย์ประสานงาน โครงการประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น"

       นี่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในยุคที่วิกฤติพลังงาน และวิกฤติภัยแล้ง เพราะนอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำดื่ม น้ำกิน น้ำใช้ในช่วงหน้าร้อน แล้วยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า อีกทั้งลดภาระรายจ่ายของชาวบ้านตาดำๆ ได้อีกด้วย

      หากหมู่บ้านใดสนใจขอรับคำปรึกษาหรือขอข้อมูล เพื่อเข้าร่วมโครงการประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ฟรี ได้ที่ศูนย์ประสานงาน โครงการประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ 67 ถนนโชคชัย 4 ซอยโชคชัย 4 (31/1) แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. 10230 หรือโทรศัพท์ 08-1898-9160

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!