- Details
- Category: สภาหอการค้าไทย
- Published: Thursday, 17 March 2016 09:38
- Hits: 12076
ภาคเอกชนเสนอกรอ.แก้ปมขาดแรงงานทักษะสูง
แนวหน้า : นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ ทางหอการค้าไทยเตรียมจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ให้เห็นชอบ ในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อศึกษาและ จัดทำนโยบายการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างประเทศทักษะสูง บุคลากร ผู้ชำนาญการ นักวิจัยจากต่างประเทศ ให้สามารถทำงานและสร้างประโยชน์ให้ไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการหารือในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แล้ว เบื้องต้นคาดว่าภายใน 3-4 เดือนน่าจะสามารถปรับแก้กฎระเบียบบางตัว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ดึงแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยได้ แต่ในเรื่องการแก้กฎหมายคงต้องใช้เวลา
"ไทยต้องดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะจะเป็นการดึงดูดให้เกิดการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทยในอนาคตได้ และนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งหอการค้าไทยได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ในการทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว และพบว่าหากสามารถดึงแรงงานระดับสูงเข้ามาไทยได้ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น ไทยจะได้รับความรู้มากขึ้นและใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศ(กลุ่ม S-curve) ได้ ซึ่งจะนำผลศึกษาไปเสนอในที่ประชุม กรอ. ที่มีนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป"
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีแรงงานทักษะสูงอยู่ในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งมองว่าหากไทยสามารถเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่อยู่ในประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น 10% หรือมากกว่านั้น จะช่วยให้ไทยหลุดพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ 5% ต่อปี โดยการยกระดับผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้น อาทิ แรงงานต้องมีศักยภาพมากกว่าเดิม มีการลดต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิตในแต่ละภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเชื่อว่าหากไทยทำสำเร็จจะสามารถทำให้ไทยหลุดพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง และทำให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ ในปี 2569 หรือเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2569)
สำหรับ รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยตอนนี้เฉลี่ยที่ 8,859 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 301,000 บาทต่อคนต่อปี โดยภายหลังสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หากมีการพัฒนาได้สำเร็จ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้มีรายได้สูง ซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 12,900-13,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 440,849 บาทต่อคนต่อปี
ในส่วนอุตสาหกรรมของไทย ที่ต้องการแรงงานระดับสูง เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม คือกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Economy) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Economy) อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) ให้เติบโตปีละ 5% ภายใน 10 ปีข้างหน้า
ชงกรอ.ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ไทยโพสต์ : ราชบพิธ * หอการค้าไทยชง กรอ.พิจารณาแผนเพิ่มขีดแข่งขัน หวังดันไทยพ้นกับดักประเทศที่มี ‘รายได้ปานกลาง’ เป้า 10 ปีเพิ่มเป็น 12,735 ล้าน เหรียญฯ ต่อคนต่อปี
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะ กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ถึงผลการศึกษาที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการกำหนดแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564)
อีกทั้ง เร่งรัดให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี เพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูง โดยตั้งเป้าในปี 2569 มีรายได้เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี จากปัจจุบันรายได้ต่อหัว 5,700-5,800 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี
"จากข้อมูลของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ระบุว่า ผลิตภาพการผลิตของไทยทั้งภาคการผลิตภาคเกษตร และภาคบริการอยู่ที่ 25,508 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ที่มีผลิตภาพการผลิต 54,150 เหรียญ สหรัฐต่อคนต่อปี สูงกว่าแรงงานไทยถึง 2 เท่า โดยเฉพาะภาคเกษตรที่สูงกว่าไทยถึง 5 เท่า ส่วนภาคการผลิตและบริการ สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า" นายอิสระกล่าว
ทั้งนี้ จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ใน 5 กระบวนการ ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจการขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษีการนำเข้า-ส่งออก และระบบการ อนุญาตทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกกระบวนการของธุรกิจ ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อการขนส่งการบริการคลังสินค้า และพัฒนาการตลาด เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนโดยรวม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ เตรียมเสนอให้มีการปรับปรุงนโยบายการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ บุคลากรผู้ชำนาญการ นักวิจัยจากต่างประเทศ ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมภาครัฐและเอกชน โดยใช้กลไกของภาครัฐในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.
ชง'บิ๊กตู่'เคาะแรงงานทักษะสูง หอการค้าไทยคาดมาตรการจูงใจ-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ
บ้านเมือง : หอการค้าไทย เล็งเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณามาตรการจูงใจให้แรงงานทักษะสูงระดับผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศ ดึงไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้านธุรกิจบัณฑิตย์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จาก 3% เหลือ 2.75%
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ถึงผลการศึกษาที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ในการกำหนดแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตั้งแต่ปี 2560-2569 เร่งรัดให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวไม่ต่ำกว่าประมาณ 5% ต่อปี เพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูงในปี 2569 หรือให้เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี จากปัจจุบันรายได้ต่อหัว 5,700-5,800 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี
นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ยังระบุว่า ผลิตภาพการผลิตของไทยทั้งภาคการผลิต/ภาคเกษตร และภาคบริการ อยู่ที่ 25,508 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ที่มีผลิตภาพการผลิต 54,150 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี สูงกว่าแรงงานไทยถึง 2 เท่า โดยเฉพาะภาคเกษตรที่สูงกว่าไทยถึง 5 เท่า ส่วนภาคการผลิตและบริการสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า
โดยจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ใน 5 กระบวนการ ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษี การนำเข้า-ส่งออก และระบบการอนุญาตทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกกระบวนการของธุรกิจตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและโลจิสติกส์ รวมทั้งการบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การบริการคลังสินค้า และพัฒนาการตลาด เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนโดยรวม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม สนับสนุนนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการศึกษา ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ แต่ไทยจำเป็นจะต้องมีความพร้อมด้านแรงงานทักษะฝีมือสูง ที่ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 5% จากแรงงานทั้งหมดของประเทศ แต่การจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จะต้องมีสัดส่วนของแรงงานในส่วนนี้อย่างน้อย 10%
นายอิสระ กล่าวว่า เตรียมเสนอให้มีการปรับปรุงนโยบายการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ บุคลากรผู้ชำนาญการ นักวิจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมภาครัฐและเอกชน โดยใช้กลไกของภาครัฐในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะการขออนุญาตทำงาน หรือ Work Permit ที่ปัจจุบันยังมีประเภทเดียวให้กับแรงงานทุกราย จึงเพิ่มใบอนุญาตพิเศษสำหรับแรงงานทักษะสูง และการพิจาณาให้สิทธิ์ในการอยู่อาศัยถาวร โดยกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นเพิ่มเติม หรือสามารถนำครอบครัวเข้ามาในประเทศ และเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ตามเงื่อนไข เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับแรงงานทักษะสูงเข้าประเทศ และให้เกิดการพัฒนาได้อย่างแท้จริง
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจนี้จากเดิมคาดว่าจะโต 3% เมื่อครั้งจัดทำประมาณการในช่วงเดือน ธ.ค.58 เหลือโต 2.75% และปรับลดประมาณการจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้จากที่คาดว่าจะโต 2.8% เหลือเพียง 2.6% เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการอัดฉีดสินเชื่อวงเงินกว่า 100,000 ล้านบาทยังไม่ทั่วถึง เพราะช่วยเน้นกลุ่มเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 4 ของเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีถึง 2.7 ล้านราย หรือเพียง 600,000 รายเท่านั้น ดังนั้น จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วถึงมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เอสเอ็มอีโตได้เพิ่มขึ้น 1-2% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
นายเกียรติอนันต์ เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 437 ราย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการไตรมาส 1 และ 2 ปี 2559 รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อการทำธุรกิจและแนวทางการปรับตัว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคมที่ผ่านมา โดยในส่วนของภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ผู้ ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยแย่ลงหรือแย่ลงมาก โดยผู้ที่ระบุคำตอบนี้มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 51.9% แต่ผลคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือ 30.9% สะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้น