- Details
- Category: สภาหอการค้าไทย
- Published: Sunday, 21 November 2021 15:49
- Hits: 9828
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'Connect ธุรกิจไทย พาณิชย์ยุคใหม่ เชื่อมไทย เชื่อมโลก'
โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 13:00-14:00 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพมหานคร
ประเด็นที่ 1) การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดย 2 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการลงมือปฏิบัติจริง มุ่งผลสำเร็จจริง โดยเอกชนทุกภาคส่วนนำปัญหาที่เอกชนแก้ด้วยตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยกระทรวงพาณิชย์และภาครัฐสนับสนุน โดยมีท่านทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาทีละข้อ ซึ่งแก้ไขได้หลายข้อแล้ว และหากยังไม่จบจะขึ้นทะเบียนเป็นการบ้านไว้ ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาได้จำนวนมาก
ขณะนี้ ประเทศไทยมาถึงจุดที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลายแต่ยังนอนใจไม่ได้ สิ่งที่ต้องจับมือร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐและเอกชน คือ "เราต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิดไปให้ได้ ไม่ใช่รอให้โควิดเป็นศูนย์แล้วเริ่มนับหนึ่ง เชื่อว่าพวกเราทำได้เพราะประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ฝากชะตาไว้กับเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การท่องเที่ยวอย่างเดียวหรือการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือการส่งออกเท่านั้น เมื่อไม่มีการท่องเที่ยวจากต่างประเทศแต่เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนได้เพราะยังมีการเกษตร อุตสาหกรรม และการส่งออกเป็นฐาน สิ่งเหล่านี้ทำให้มั่นใจว่าเราสามารถทำต่อไปได้ แต่มีบางพื้นที่ที่ฝากเศรษฐกิจกับบางสาขามาก จนขาดความสมดุล เช่น ท่องเที่ยวอย่างเดียวพอไม่มีการท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต ต้องกลับมาคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผสมผสานต่อไป
ประเด็นที่ 2) การท่องเที่ยว การเริ่มเปิดประเทศเป็นสัญญาณที่ดี ได้รับเสียงตอบรับอย่างชัดเจนจากภาคเอกชน คาดว่าจากปีนี้และปีหน้า ที่ได้เตรียมแผนการรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,000,000 คน มีโอกาสเป็นไปได้ ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเพิ่มเติมขึ้น แต่ไม่ทิ้งไทยเที่ยวไทยเพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้าไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ลงลึกถึงเศรษฐกิจฐานราก โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและขับเคลื่อน คือ
1) การประกันรายได้ ข้าว มัน ยาง ปาล์มและข้าวโพด ช่วยเกษตรกรอย่างน้อย 8,000,000 ครัวเรือน ให้เป็นฐานวัตถุดิบ เชื่อมการผลิต แปรรูปและการส่งออก เพื่อบรรลุเป้าหมายเชื่อมไทยเชื่อมโลก และไม่ได้ทำให้เกษตรกรอ่อนแอแต่ทำให้เกษตรกรมีหลักประกันในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ที่สำคัญประกันรายได้ ไม่เหมือนนโยบายอื่นที่ล้มเหลวมีการทุจริตคอรัปชั่น เพราะประกันรายได้ไม่ใช่การแทรกแซงตลาดราคาในตลาดเหมือนเดิม แต่มีเงินส่วนต่างเติมให้เกษตรกรให้ยังชีพอยู่ได้ก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีการบิดเบือนกลไก ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่ดูแลเกษตรกร
2) เร่งรัดการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมือดีมาก ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน โดย 9 เดือนแรก +15.5% จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 4% นำเงินเข้าประเทศรวมกัน 6.2 ล้านล้านบาท และเดือนตุลาคมคาดว่า +ไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งทั้งปีคาดว่าจะได้เห็นตัวเลขบวก 2 หลักแน่นอน ที่สำคัญมีตลาดใหม่เกิดขึ้น เช่น อินเดียตะวันออกกลาง รัสเซีย ลาตินอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพราะการทำงานมีความเข้มแข็งโดยเฉพาะทีมเซลล์แมนประเทศ และเดินหน้าตลาดใหม่ช่วยกันต่อไป
นอกจากรักษาตลาดเดิม ที่สำคัญตลาดเก่าที่สูญเสียไปต้องเอากลับคืน เช่น ตลาดข้าวอิรัก ในช่วงจำนำข้าวส่งข้าวไม่ได้คุณภาพ ทำให้อิรักไม่รับซื้อข้าวของไทย ซึ่งขณะนี้อาศัยความสามารถของภาคเอกชนบุกตลาดช่วยขายข้าว
3) การค้าชายแดน ที่ผ่านมา 9 เดือนแรก +38% ทำรายได้เข้าประเทศ 778,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการช่วย SMEs และ Micro SMEs ให้สามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านทำรายได้เข้าประเทศได้ เรามีด่านทั่วประเทศ 97 ด่าน เปิดแล้ว 46 ด่าน 2-3 วันที่ผ่านมา เปิดอีก 2 ด่าน คือด่านตากใบกับบูเก๊ะตา จ.นราธิวาส จะช่วยให้การส่งออกไปมาเลเซียดีขึ้นในอนาคต เหลือด่านท่าเส้น จังหวัดตราด บ้านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว ด่านปากแซงที่จังหวัดอุบลฯ เจรจาถึงขั้นขอเปิดด่านแล้ว ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณทำทางลาดต่อจากถนน ลงท่าเรือขนของข้ามแม่น้ำโขง
4) การควบคุมราคาสินค้า 10 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อ +1% หมายความว่าปกติยังมีเสถียรภาพ ซึ่งปี 64 คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะ +0.8-1.2% และปีหน้าคาดการณ์ว่าจะ + 0.7-1.2% กระทรวงพาณิชย์จะคอยติดตามผลกระทบต่อผู้บริโภค และจะหาจุดสมดุล ดูแลทุกฝ่ายทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกโดยใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อต่อไป
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแม้สีจิ้นผิงกับไบเดน จะเจรจาเรื่องราคาน้ำมัน แต่ต้องติดตามต่อไปเพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อโลกต่อไทย
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการนำการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจการค้า ทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย สุดท้ายนำไปสู่การหาพวกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ประเทศไทยต้องกำหนดท่าทีให้ดี ว่าจะยืนอยู่อย่างไร ยืนอยู่อย่างสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจการค้าโลกอย่างไร และที่เห็นตรงกัน คือ ต้องไม่ยืนอย่างโดดเดี่ยวต้องจับมือใกล้ชิดกับพันธมิตรของไทย อย่างน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และต้องกำหนดท่าทีที่มีความชัดเจนร่วมกัน
และในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมอาเซียน-จีน ครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ซึ่งการประชุมนี้จะสะท้อนอะไรหลายอย่าง มีสัญญาณบวกทางอาเซียน ดูเหมือนจะได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะพยายามผลักดันให้จีนเข้าไปมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์สร้างสรรค์ มุ่งเน้นส่งเสริมการยับยั้งชั่งใจและการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้โดยสันติ และฝั่งจีนคาดว่าจะส่งเสริมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยการใช้ FTA และคาดว่าจีนจะฟื้นฟูการเดินทาง กับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นลำดับแรก โอกาสได้นักท่องเที่ยวจากจีนมาอาเซียน และสุดท้ายคาดว่าจีนจะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป
ประเด็นสุดท้าย เร่งติดตามกติกา RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค คาดว่าต้นปีหน้าจะบังคับใช้ เพราะให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไขแล้ว และการประชุม WTO ที่จะมาถึงในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยประเด็นอีคอมเมิร์ซเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เคยเสนอเรื่องอีคอมเมิร์ซในการประชุม APEC ไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าข้อตกลงกติกาเรื่อง อีคอมเมิร์ซจะต้องเน้น
1) เรื่องความโปร่งใส
2) ต้องเป็นธรรมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
3) ต้องคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ผู้บริโภคเป็นเหยื่อของอีคอมเมิร์ซ
สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมสัมมนาและทางหอการค้าที่วันพรุ่งนี้จะได้พบกับนายกรัฐมนตรีและจะได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้ายื่นแล้วผมขอสำเนาสักหนึ่งชุดเพื่อจะได้นำส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ไปขับเคลื่อนดูแลต่อไปด้วย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ