WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaสภาอตสาหกรรม

สภาอุตสาหกรรม-สภาหอการค้าฯ-สถาบันอาหาร คาดส่งออกอาหารปี 61 มูลค่าพุ่ง 1.12 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.7 โตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก

     ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร//การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาอุตสาหกรรมฯ  สภาหอการค้าฯ และสถาบันอาหาร เผยส่งออกอาหารไทย 9 เดือนแรกปี 2560 (ม.ค. – ก.ย.) มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน มูลค่า 768,797 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.3 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ โดยเติบโตดีในตลาดตะวันออกกลาง (+25.2%) จีน (+22.2%) กลุ่มประเทศ CLMV (+19.9%) และแอฟริกา (+17.1%) ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ชี้ไตรมาสสุดท้ายยังโตต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ส่วนปี 2561 ประเมินว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.7 มีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท

       การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่อง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยในปี 2560 และแนวโน้มในปี 2561 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ชนินทร์ชลิศราพงศ์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

      นายยงวุฒิ  เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center พบว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2560 (ม.ค. - ก.ย.) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9  ส่วนภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทย มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน มูลค่า 768,797 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.3 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน

     กลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีปริมาณลดลงแต่มูลค่าขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายซึ่งมีมูลค่าขยายตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงในครึ่งแรกของปี เช่นเดียวกับการ

        ส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง หลังจากที่ผู้ผลิตมีการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบทูน่าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100% จากปีก่อน ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรด (กระป๋องและน้ำสับปะรด) เพิ่มขึ้น

      ในเชิงปริมาณหลังจากมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะที่ผลิตภัณฑ์สับปะรดมีราคาอ่อนตัวลงมากตามราคาวัตถุดิบสับปะรดโรงงาน

        สินค้าหลักที่การส่งออกหดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่ามีเพียง 2 กลุ่มสินค้า คือ แป้งมันสำปะหลังดิบ (Native Starch) และน้ำผลไม้ (ไม่รวมน้ำสับปะรด) โดยการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบไปตลาดหลักอย่างจีนต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากผู้ส่งออกเวียดนามที่ใช้ข้อได้เปรียบจากการส่งสินค้าผ่านชายแดนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (13%) ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 อย่างอินโดนีเซีย มีการหดตัวมากเช่นกัน เพราะผลผลิตมันสำปะหลังในอินโดนีเซียมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่วนการส่งออกน้ำผลไม้หดตัวลง เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่มีการปรับปรุงระบบการผลิตน้ำมะพร้าวให้สอดรับกับมาตรฐานใหม่ที่ประกาศใช้โดย European Fruit Juice Association (AIJN) ส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงในช่วงสั้นๆ คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปีหน้า

       “ตลาดส่งออกอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ที่มีอัตราขยายตัวสูง ได้แก่ ตะวันออกกลาง (+25.2%), จีน (+22.2%), กลุ่มประเทศ CLMV (+19.9%) และแอฟริกา (+17.1%) ส่วนตลาดหลักที่ไทยส่งออกลดลง ได้แก่ อาเซียนเดิม (-10.7%), สหรัฐอเมริกา (-2.3%) และสหราชอาณาจักร (-10.9%) โดยกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 16.6 รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (13.5%), อาเซียนเดิม (11.6%), สหรัฐอเมริกา (10.6%), แอฟริกา (9.3%), จีน (9.0%), สหภาพยุโรป (6.0%), ตะวันออกกลาง (4.2%), โอเชียเนีย (3.3%), สหราชอาณาจักร (3.0%) และเอเชียใต้ (1.6%)”

      นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ประเมินว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 จะยังได้รับปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกไก่ยังได้รับอานิสงส์จากกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเนื้อสัตว์ของบราซิล ประกอบกับความต้องการสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี จะมีส่วนกระตุ้นให้การส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่อเนื่อง

      สำหรับ แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอัตรา ร้อยละ 8.7 โดยมีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วนส่งออกประมาณร้อยละ 30 ญี่ปุ่นร้อยละ 14 สหรัฐฯร้อยละ 10 จีนและแอฟริกามีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 9 เป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 จากร้อยละ 3.6 ในปี 2560 2) ผลผลิตสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน กุ้ง ไก่ ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลง 3) ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ 3 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และปลาป่น 4) ราคาสินค้าส่งออกหลักของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกหลายรายการ รวมถึง ข้าว ไก่ และกุ้ง  และ 5) ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำไม่กระทบต้นทุนสินค้า ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารตลอดจนภาคการขนส่งมากนัก

       อนึ่ง รูปแบบสินค้าอาหารส่งออกของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมากขึ้น โดยในปี 2541 สัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีเพียงร้อยละ 35 ส่วนร้อยละ 65 เป็นการส่งออกอาหารสด/วัตถุดิบ/แปรรูปขั้นต้น แต่ในปี 2559 สินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีสัดส่วนส่งออกเทียบเท่ากับกลุ่มสินค้าอาหารสด/วัตถุดิบ/แปรรูปขั้นต้น คือร้อยละ 50 ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตในกลุ่มสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.3 ต่อปี ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารสด/วัตถุดิบ/แปรรูปขั้นต้น มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 5.0

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!