- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 22 November 2016 22:56
- Hits: 14784
สอท.หนุนค่าจ้างอัตราใหม่ ขยับอีก 5-10 บาทต่อวัน ลุ้นครม.อนุมัติขึ้นต้นปี
แนวหน้า : รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสอท.ออกโรงดันค่าจ้างใหม่ที่ กระทรวงแรงงาน ประกาศขยับ 5-10 บาทต่อวันใน 69 จังหวัด เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า ชี้เหมาะสม ไม่มากไปเชื่อว่าจะส่งผลต่อการกระจายการลงทุนไปยังต่างจังหวัดชี้คณะกรรมการฯเดินมาถูกทางแล้ว หลังกลับไปใช้กลไกค่าจ้างแบบรายจังหวัดแทนการคิดเท่ากันทั่วประเทศ
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณานั้นถือว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้คณะกรรมการค่าจ้าง ให้ปรับขึ้น 69 จังหวัด และคงเดิม 8 จังหวัด โดยที่ปรับขึ้นจาก 300 บาทต่อวัน จะมี 3 กลุ่ม คือ ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน 49 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาทต่อวันใน 13 จังหวัด และปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน 7 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้เพื่อประกาศใช้มีผลบังคับ 1 ม.ค. 2560 นับเป็นอัตราค่าจ้างที่สอดรับกับข้อเสนอของเอกชนที่เรียกร้องมาโดยตลอดเพื่อให้สะท้อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและภูมิภาคจะส่งผลดีต่อการกระจายการลงทุนไปต่างจังหวัดมากขึ้น
“การกลับไปใช้กลไกค่าจ้างแบบเดิมที่ผ่านการกลั่นกรองโดยไตรภาคีคือสะท้อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นสิ่งที่รัฐเดินมาถูกทาง เพราะที่ผ่านมาการใช้ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ทำให้การลงทุนในต่างจังหวัดช่วงนั้นต้องปิดตัวลงและย้ายกลับไปยังส่วนกลางเพราะต้นทุนสูงกว่าโรงงานที่อยู่ในเมืองที่ใกล้ทั้งขนส่งและวัตถุดิบ ซึ่งค่าจ้างที่ขึ้นมา 5-10 บาทต่อวัน ถือว่าน้อยไม่มีนัยสำคัญใดๆ ที่จะไปอ้างในการขึ้นราคาสินค้า”นายวัลลภกล่าว
ทั้งนี้ ค่าแรงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุนสิ่งที่เอกชนมองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญคือแรงซื้อหรือตลาดในประเทศและต่างประเทศโดยในประเทศมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีนี้ค่อนข้างชัดเจนโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการลงทุนของเอกชนจะทยอยตามมาและสัญญาณที่เริ่มมีให้เห็นคือการนำเข้าสินค้าทุนของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของไทยจะกลับมาในปี 2560 แน่นอนโดยเฉพาะจากเอกชน
นายวัลลภ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจโลกภาพรวมหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวแต่ทั้งนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอมริกา คนใหม่จะมีนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอย่างไร
โดยในเบื้องต้น นายทรัมป์มุ่งเน้นการบริหารภายในประเทศที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศสหรัฐซึ่งก็จะทำให้แรงซื้อสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่อีกส่วนจะมีการดึงการลงทุนเข้าไปผลิตสินค้าเองก็อาจทำให้มีการกีดกันการค้าเพิ่ม ดังนั้นก็จะเป็นทั้งวิกฤติ และโอกาส
ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี มองว่า นโยบายของ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นกว่าเดิม จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก้าวกระโดด ส่งผลให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อป้องกันเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินทุนที่สหรัฐ เคยอัดฉีดและไหลออกไปลงทุนทั่วโลก ไหลกลับเข้ามาสหรัฐ และมีประเด็นเรื่องเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ดูแลอยู่