- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Friday, 25 July 2014 00:52
- Hits: 3670
การเมืองนิ่ง-ค้าขายสะดวก-ออเดอร์เพิ่ม ความเชื่อมั่นอุตฯเด้ง 2 เดือนติด
แนวหน้า : ดัชนี เชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน เพิ่ม 3.3% ขยับขึ้นติดต่อเป็นเดือนที่ 2 หลังการเมืองคลี่คลาย ธุรกิจเริ่มคล่องตัว คำสั่งซื้อ ยอดขาย การผลิตเพิ่ม ประธานสอท.ชี้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตอกย้ำโรดแมปคสช.เติมความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2557 ว่า อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนพฤษภาคม หรือเพิ่มขึ้น 3.3%นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ทำให้ภาพรวมของการดำเนินกิจการมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับอยู่ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้คำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ประเภทเสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ที่ระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐและอียูลดลงตามไปด้วย
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.0 ในเดือนพฤษภาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมิถุนายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อยู่ที่ระดับ 81.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 78.2 ในเดือนพฤษภาคม อุตสาหกรรมขนาดกลาง อยู่ที่ระดับ 88.2 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 84.7 ในเดือนพฤษภาคม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 94.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.1 ในเดือนพฤษภาคม
จากการสำรวจยังพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้ ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคม
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
“ค่าเงินบาทปัจจุบันที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.99 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเพียงเล็กน้อย โดยภาพรวมการส่งออกของไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี หากเงินบาทไม่แข็งค่าเกินกว่า 31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่กลุ่มผู้ส่งออกควรจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายสุพันธุ์กล่าว
ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเดือนมิถุนายนนี้ คือ เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และสร้างความเข้าใจกับประเทศคู่ค้า เพื่อลดผลกระทบด้านการส่งออก กรณีสหรัฐ ออกประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในระดับ Tier 3 อีกทั้งให้หน่วยงานภาครัฐเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมถึงเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ถนน และท่าเรือ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนการขอใบอนุญาตและพิธีการ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน
นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่าในส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ประกาศใช้ในขณะนี้ คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เนื่องจากสิ่งที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต้องการเห็นคือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบสุขและไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง โดยการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองสงบสุข ดังนั้น หากทำได้ตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้ ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญการดำเนินการตามแผนด้านเศรษฐกิจการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็เชื่อว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น
“การประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นว่าโรดแมปการบริหารประเทศของคสช. ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และแผนการลงทุนต่างๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงตามเป้าหมายที่วางไว้ สะท้อนได้จากภาพรวมเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นายสุพันธุ์กล่าว