- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Monday, 14 July 2014 22:11
- Hits: 3721
เอกชน 3 สถาบันสรุปมาตรการดันส่งออก-ลงทุนพบ ‘บิ๊กตู่’ช่วยกอบกู้ศก.
แนวหน้า : คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สรุปกรอบเสนอ 'ประยุทธ์'ในวันที่ 16ก.ค.นี้ พร้อมหารือแนวโน้มเศรษฐกิจ การส่งออก ลงทุนครึ่งปีหลัง ด้านปลัดอุตฯ สนองนโยบาย ‘คสช.’นัดส.อ.ท.ถกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประจำทุกเดือน
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ก.ค. 2557 จะมีการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย หรือ กรอ.โดยที่ประชุมจะหารือวาระกรอบการประชุมก่อนเสนอ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ที่จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 16 ก.ค. 2557 นอกจากนี้จะหารือแนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์การส่งออก การลงทุนในครึ่งปีหลังปี2557 ด้วย
กรอ.จะหารือถึงสถานการณ์กรณีประเทศสหรัฐฯ ลดระดับความน่าเชื่อถือการตอบสนองในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย ในระดับเทียร์ 3 ด้วยว่า มีผลกระทบต่อภาคการค้าหรือไม่อย่างไร แต่ละหน่วยงานมีการเสนอข้อคิดเห็น หรือแนวทางการแก้ไขปัญหา ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เชื่อว่า นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. จะมีการหารือถึงแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกให้การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ
มีรายงานขาวแจ้งว่า แนวทางที่ ส.อ.ท.เห็นว่า ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นคือเรียกความเชื่อมั่นภาคธุรกิจให้กลับมา โดยเฉพาะกับคู่ค้าและภาคธุรกิจในต่างประเทศ ถึงความสามารถในการผลิต และการส่งมอบสินค้าตามความต้องการ (ออเดอร์) เพื่อดันตัวเลขส่งออก ส่วนแผนในระยะยาว เห็นว่าจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะเชิญนายสุพันธุ์ ในฐานะประธานส.อ.ท. และผู้แทนประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงฯ ทุกเดือน เพื่อสนองนโยบาย คสช. ให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตฯ ขยายตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งแรก จะจัดที่กระทรวงอุตฯ ในวันที่ 15 ก.ค. เวลา 16.30-18.30 น.
ในการประชุมครั้งนี้ จะทำความเข้าใจการออกใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงอุตฯ เช่น การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) รูปแบบใหม่ ที่ลดขั้นตอนจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน รวมถึงการออกใบอนุญาตประทานบัตร อาชญาบัตร และการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ลดเวลาลงเหลือ 26 วัน จากเดิม 43 วัน และการเปิดศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ เพื่อให้บริการในการติดตามเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ
ขณะเดียวกัน จะหารือสนับสนุนนโยบาย คสช. ที่เน้นให้โรงงานประกอบกิจการ คำนึงถึงความรับผิดชอบแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ขยะอุตสาหกรรม และการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน จากปัจจุบันไทยมีโรงงาน 130,000 โรง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จำนวน 75,000 โรง โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง กระทรวงอุตฯ จะยกย่อง และมอบเครื่องหมายกรีน อินดัสตี รวมทั้งพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในรูปแบบของฟาส แทรค ในการอนุญาต และมีโครงการส่งเสริมสนับสนุนอื่นๆ ด้วย
ในส่วนรายที่ทำไม่ถูกต้องจะขอความร่วมมือจาก ส.อ.ท. ในการชักชวนหรือตักเตือน หรือมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย เพราะอาจเป็นผู้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมภาคเอสเอ็มอี ซึ่งได้ยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการ วิธีการและงบประมาณสนับสนุน และร่วมกันรณรงค์ต่อต้านคอรัปชันในทุกรูปแบบ
ส.อ.ท.เผยคสช.หนุน Roadmap พัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ หวังเพิ่มรายได้ 50% ของ GDP
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประสานส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ได้จัดทำแผนการพัฒนา SMEs โดยกำหนดกรอบทิศทางในการส่งเสริม SMEs เป็น 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อนำเสนอต่อ คสช. ให้ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งในกลุ่มที่เป็น SMEs รายใหม่ SMEs ที่กำลังเติบโต รวมถึงกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนหรือกรณีพิเศษ และการเข้าไปมีส่วนในการสร้าง/ส่งเสริมปัจจัยเอื้อต่างๆให้กับ SME ในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้
นายศักดิ์ชัย ระบุว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดประชุมการทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 20-21 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการบรรจุวาระเรื่องการส่งเสริมและพัฒนา SMEs เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการจัดทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ซึ่งสถาบัน SMI เป็นผู้รับผิดชอบหลักและได้ทำการสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หรือ Roadmap การพัฒนา SMEs โดยการยกระดับ SMEs เป็นวาระแห่งชาตินั้น เป็นข้อเสนอแรกในแผนระยะสั้นที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้นำเสนอแนะต่อประธาน คสช. รวมถึงการเสนอให้ย้ายสำนักงานส่ง เสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จากกระทรวงอุตสาหกรรม มาสังกัดภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะสามารถบูรณาการการส่งเสริม SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประธาน คสช.ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดีต่อข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมฯ
"Roadmap การพัฒนา SMEs ที่สภาอุตสาหกรรมฯ นำเสนอประกอบด้วยแผนงาน 3 ระยะได้แก่ ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) ระยะกลาง (2-3 ปี) และระยะยาว (3-5 ปี) มีเป้าหมาย ในการเพิ่มรายได้และสัดส่วนใน GDP ของ SMEs ให้ถึง 50% ของ GDP ประเทศ และ ส่งเสริมให้ SMEs ไทยก้าวสู่สากล รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อน SMEs เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล"นายศักดิ์ชัย กล่าว
อินโฟเควสท์
กกร.ประเมิน GDP ไทยครึ่งปีหลังโต 4.2%ทั้งปีโต 2%, ส่วนปี 58 โต 3.5-4.5%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า มีแนวโน้มขยายตัวได้ถึง 4.2% ส่วนทั้งปี 57 คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2% ส่วนทั้งปี 58 คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตได้ 3.5-4.5%
ขณะที่ประเมินว่า การส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้ 3-5 % เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง รวมทั้งการดำเนินนโยบายในการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ดำเนินนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งการวางโรดแมพด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อ อีกทั้งการที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันตั้งแต่ ต.ค.57 เป็นต้นไป
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงการที่ คสช.จะออกธรรมนูญปกครองชั่วคราวว่า จะมีส่วนในการเร่งพิจารณากฎหมายที่สำคัญอีกหลายเรื่องที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศน่าจะดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยในเรื่องของความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของนักลงทุนได้อีกทาง
อินโฟเควสท์
ผลหารือกนง.-กนส.ห่วงการคลังไม่สมดุลฉุดเสถียรภาพเศรษฐกิจ-การเงินระยะยาว
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)และคณะกรรมการนโยบายสถาบัการเงิน(กนส.)ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 14 ก.ค.57 ว่าที่ประชุมเห็นว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้รับผลกระทบบ้างจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยรายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจปรับลดลง และเริ่มเห็นคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงบ้าง แต่ผลกระทบยังไม่กระจายเป็นวงกว้างจนเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในระยะต่อไปจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนชาวเอเชียเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ทางการเมือง สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีผลการดำเนินงานที่ดี มีฐานะการเงินที่มั่นคงและรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ เงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง แม้สินเชื่อชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังขยายตัวสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การเมืองชัดเจนขึ้นส่งผลทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนและความรวดเร็วของนโยบายภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระยะยาวที่สำคัญประการหนึ่งมาจากภาคการคลังที่มีความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายที่มีแนวโน้มมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมนอกงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคการคลัง
อินโฟเควสท์