- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 12 May 2024 12:56
- Hits: 5288
กกร. ปรับลดจีดีพีที่ 2.2-2.7% เตรียมหารือแนวทางปรับค่าแรงที่เหมาะสม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว
กกร.เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และมีความเห็นต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
- การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7%
ซึ่ง IMF ประเมินว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่านที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลก ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
- เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก
ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคนตามที่คาดไว้เดิมเนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเซียมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกันตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้วปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าได้แก่ 1) ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
%YoY ปี 2567
(ณ มี.ค. 67) ปี 2567
(ณ เม.ย. 67) ปี 2567
(ณ พ.ค. 67)
GDP 2.8 ถึง 3.3 2.8 ถึง 3.3 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 2.0 ถึง 3.0 2.0 ถึง 3.0 0.5 ถึง 1.5
เงินเฟ้อ 0.7 ถึง 1.2 0.7 ถึง 1.2 0.5 ถึง 1.0
- ที่ประชุม กกร.เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
- กกร. มีความเห็นต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยในที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้
1) กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
2) กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไก จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญ เติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3) การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของ แรงงาน แรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re- Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟัง ความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการ หารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5) นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกันนี้จะมีการ หารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ
"อยากให้ทางธปท. ลดดอกเบี้ยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะดอกเบี้ยก็เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ไม่ต่างจากค่าไฟแต่เข้าใจว่า แต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะธปท. หรือ คลัง ก็มีหน้าที่ของตนเอง ซึ่งอยากให้มองที่ประเทศชาติเป็นหลัก"นายเกรียงไกร กล่าว