- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 12 November 2014 22:10
- Hits: 3826
สอท.ชี้ทางรอดส่งออกไทย รัฐเซีย-บราซิลโอกาสสดใส
แนวหน้า : นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 มองว่าตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น จีน มีเพียงสหรัฐที่เศรษฐกิจดีขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น ไทยควรจะมุ่งเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือ BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ไทยยังมีปริมาณการค้ากับกลุ่มนี้น้อยมากหากตัดประเทศจีนออกไป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก เนื่องจากตลาด BRICS มีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของโลก มีสัดส่วนจีดีพี 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งหากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมมือกันเจาะตลาดนี้อย่างจริงจัง ก็จะช่วยฉุดยอดส่งออกในปีหน้าได้
“กลุ่ม 5 ประเทศนี้มีศักยภาพทางการค้าสูงมาก โดยสินค้าหลักที่ส่งไปยังกลุ่ม BRICS คือ เม็ดพลาสติก ยางพารา และเคมีภัณฑ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในกลุ่ม BRICS ในปี 2557 จะขยายตัวเฉลี่ย 5.4% การส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม BRICS ปีนี้น่าจะมีมูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนประมาณ 16.1% ของยอดการส่งออกทั้งหมด”นายวัลลภ กล่าว
สำหรับ การเปิดตลาดประเทศบราซิล ไทยควรใช้ประโยชน์จากประเทศที่ได้มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศไทยไปแล้ว คือ ชิลี และเปรู ในการเป็นประตูการค้าไปสู่บราซิล และประเทศอื่นๆ ในอเมริกาใต้ที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง ซึ่งสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดภูมิภาคนี้ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหาร เครื่องยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ส่วนอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งด้านการส่งออกและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งยังมีทั้งข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดีย และเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ซึ่งไทยควรจะเร่งเจรจาขยายจำนวนสินค้าในเอฟทีเอไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณี ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่ง ปลากระป๋อง และน้ำผลไม้
นอกจากนี้ ไทยควรฉวยโอกาสที่ยุโรป และสหรัฐ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซีย เร่งผลักดันสินค้าไทยเข้าไปแทนที่ ซึ่งเชื่อว่าในปี 2558 ยอดส่งออกจากไทยไปรัสเซียจะขยายเพิ่มขึ้นถึง 100% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากไทยกับรัสเซียมีความสำพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน และคนรัสเซียคุ้นเคยกับสินค้า โดยสินค้าที่มีโอกาสในตลาดรัสเซีย ได้แก่ สินค้าอาหาร และเกษตร ข้าว น้ำตาล ผลไม้เมืองร้อน อาหารทะเล เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ ธุรกิจสปาและอาหารไทย
ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ ขณะนี้ยังมีปริมาณการค้ากับไทยไม่มาก แต่ถ้าไทยให้ความสำคัญในการเปิดตลาดนี้ ก็จะเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศต่างๆในแอฟริกาได้อีกมาก เพราะแอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางทางการค้า และการคมนาคมในทวีปแอฟริกา โดยสินค้าที่มีโอกาสในตลาดนี้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบ