- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 04 November 2014 22:32
- Hits: 4194
สอท.เรียกร้องอุตฯคุมนำเข้าเหล็กจีน หวั่นส่งดัมพ์ตลาด ทำผู้ผลิตไทยเจ๊ง
แนวหน้า : นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเข้าพบของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทย ว่ากลุ่มผู้ประกอบการต้องการให้กระทรวงช่วยดูแลและเข้มงวดด้านมาตรฐานเหล็กโดยเฉพาะเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากจีนที่มีการผสมอัลลอยทำให้ต้นทุนถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าส่งผลให้ผู้ผลิตไทยเสียเปรียบและหากเหล็กดังกล่าวเข้ามาดัมพ์ตลาดไทยจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยทั้งหมด ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)เข้าไปตรวจสอบและเข้มงวดให้เป็นไปตามมาตรฐาน
“เราต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐาน สากลโดยเฉพาะองค์การการค้าโลกหรือ WTO ซึ่งเบื้องต้นพบว่าทั่วโลกเขาก็ห้ามไม่ให้ผสมเช่นกันซึ่งกรณีที่ดัมพ์เข้ามาจริงเขาก็กลัวว่าถ้าจะไปออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ AD จะไม่ทันเพราะต้องใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้เขาก็ยังร้องในเรื่องของมีผู้ผลิต 2 รายได้ยื่นขอตั้งโรงงานเหล็กที่ใช้เตาเหนี่ยวนำไฟฟ้าซึ่งเห็นว่า ทั่วโลกไม่ได้ใช้ระบบนี้แล้วซึ่งก็ยืนยันว่าไทยเองก็ไม่อนุญาต” นายจักรมณฑ์กล่าว
นายธนะ เรืองศิลาสิงห์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าขณะนี้ประเทศจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงที่สุดในโลก จึงได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก โดยการสนับสนุนปัจจัยต้นทุนการผลิตถึง 30% รวมทั้งเหล็กเจืออัลลอยยังได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกอีก 28% และเมื่อส่งเข้ามายังประเทศไทยก็จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรอีก 5% เนื่องจากประเทศไทยจะลดอัตราภาษีในส่วนเหล็กเจืออัลลอย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ผู้ประกอบการจีนใช้ช่องโหว่นี้ส่งเหล็กเส้นเจืออัลลอยเข้ามาในไทย ทำให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และรัฐยังสูญเสียภาษีในส่วนนี้ประมาณ 1.8 พันล้านบาท/ปี
“หากไม่หามาตรการมาปกป้องเหล็กเส้นเจืออัลลอยเข้าประเทศ ก็จะทำให้โรงงานเหล็กของไทยขาดทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท/ปี และอุตสาหกรรมเหล็กทั้ง 50 โรง มูลค่าลงทุนกว่า 1.5 แสนล้าน จะต้องปิดกิจการไป เพราะต้นทุนการผลิตเหล็กเส้นของไทยสูงถึง 18-19 บาท/กก. ขณะที่ราคาเหล็กเส้นเจืออัลลอยของจีนราคาเพียง 15 บาท/กก. รวมทั้งกำลังการผลิตเหล็กเส้นของไทยมีสูงถึง 7 ล้านตัน/ปี และมีความต้องการใช้เพียง 2.2 ล้านตัน/ปี หากรัฐไม่ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กจะได้รับผลกระทบ อย่างรุนแรง” นายธนะกล่าว
หากเหล็กดังกล่าวดัมพ์มาไทยจะกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ที่มีการลงทุนถึง 1.5 แสนล้านบาท และทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตขั้นต่ำปีละประมาณ 35,000 ล้านบาท รัฐต้องสูญเสียโอกาสในการเก็บภาษีนำเข้า 1,800 ล้านบาทต่อปี รวมถึงโอกาสสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ และที่สุดพนักงานในอุตสาหกรรมเหล็กเส้น 2.5 หมื่นคน จะตกงาน