WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BCกลนทรหอการค้าไทย ชี้รัฐฯ ลงทุนใน EEC ปีละ 3 แสนลบ. ต่อเนื่อง 5 ปี รวมเม็ดเงินเอกชนจะกระตุ้น GDP ได้ 1-1.5% ต่อปี

       หอการค้าไทย ชี้ไทยจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่ประชาชนต้องมีรายได้ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน ชี้ EEC เป็นกุญแจสำคัญเพิ่มโอกาสการจ้างงานมากขึ้น ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม - การท่องเที่ยว ชี้การลงทุนใน EEC 3 แสนล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมกับการลงทุนต่างๆ จากภาคเอกชนแล้ว จะกระตุ้น GDP ได้ประมาณ 1-1.5% ต่อปี

  นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันโดยภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าประชาชนในระดับฐานรากจะยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควรก็ตาม ดังนั้น หากต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่ประชาชนต้องมีรายได้ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน ต่อปีนั้น จำเป็นต้องมีตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งหนึ่งในตัวขับเคลื่อนดังกล่าว คือ การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทั้งนี้ EEC จะเป็นจุดที่สร้างโอกาสของประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ (New S-Curve) การเพิ่มความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมหลักเดิม มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงด้านธุรกิจบริการด้วย

  สำหรับ ด้านการท่องเที่ยวใน EEC นั้น จะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อาหาร วัฒนธรรม การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ man made tourism site, big event, MICE, sport activity, entertainment, amusement, gastronomy นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ และประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

  โดยการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสู่การเป็น 'B-Leisure Destination'–Harmony of Business & Leisure ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างเมืองธุรกิจและเมืองท่องเที่ยวที่ทันสมัย ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Man-made ภายใต้โครงการ “Pattaya on Pier” (คล้าย Pier 39) เพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Landmark ของพัทยาและของประเทศ โดยจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ พื้นที่ขายสินค้า OTOP ลานกิจกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดขอบเขตของงาน TOR จากนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนแบบ PPP การพัฒนารถไฟรางเบา (Tram) ภายในพัทยา ผ่านถนนเลียบชายหาด สะดวกในการรองรับผู้สูงอายุ/คนพิการ ซึ่งขณะนี้ทาง สนข. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และการพัฒนา Cruise Terminal เพื่อสรุปพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณปลายแหลมบาริไฮต่อไป

  ปัจจุบันพบว่า ภาคเอกชนไทยเริ่มตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ยังมีความกังวลในเรื่องการพัฒนา EEC ในหลายประเด็น อาทิ การเตรียมความพร้อม Skill labor ในอุตสาหกรรมและบริการ การทำงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ EEC ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือทำความเข้าใจบ้างแล้ว เช่น ประเด็นการจัดการผังเมือง กระบวนการเช่าที่ดินระยะยาว มาตรการการสนับสนุนของภาครัฐ การส่งเสริมให้เป็น Logistics hub การทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เป็นต้น โดยจะพบว่า เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความเชื่อมั่นและประกาศแผนการลงทุนใน EEC บ้างแล้ว เช่น Alibaba, Airbus, Boeing เป็นต้น

  ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะได้จัดทีม ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และคณะกรรมการ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นำประเด็นต่าง ๆ เข้าหารือกับทางทีม EEC โดย ดร.คณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนโครงการใน EEC โดยจะได้ช่วยสร้างความเข้าใจ ให้ข้อเสนอแนะ และช่วยประชาสัมพันธ์ในอนาคต

 “หอการค้าไทยประเมินว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน EEC ของภาครัฐเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมกับการลงทุนต่าง ๆ จากภาคเอกชนแล้ว จะสามารถเพิ่มตัวเลข GDP ได้ประมาณ 1-1.5% ต่อปี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ หอการค้าไทยจะได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเตรียมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ เพื่อสร้างบุคลากรรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคตอีกด้วย” นายกลินท์ กล่าว

  ทั้งนี้ หลังจากที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงความสนใจต่อการลงทุนใน EEC เป็นอย่างมาก โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็น 55% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท เป็นต้น

  สำหรับการพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ผ่านมา ได้มีการลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และ หอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JCCI) โดยเป็นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้า ตลาด และเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือ การปรึกษา และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศร่วมกัน รวมไปถึงการสนับสนุนความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ โดยเพิ่มการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญกับบุคลากรของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งความตกลงในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างศักยภาพให้กับภาคเอกชนไทย รวมทั้งภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยได้เป็นอย่างมาก

  คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่มาเยือน มีความตั้งใจจะลงทุนเป็นอย่างมาก หลายรายที่ยังไม่เคยมาลงทุนในประเทศไทยก็ได้มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการไทย โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรม 261 ราย หน่วยงานภาครัฐของไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วม 35 ราย และนักลงทุนญี่ปุ่น 444 ราย ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ากิจกรรม Business Networking ดังกล่าว ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่นอย่างน้อย 2,000 คู่ โดยญี่ปุ่นให้ความสนใจผู้ประกอบการไทยที่เป็นโรงงานผู้ผลิต โดยจะมีการเชื่อม Supply Chain และลงทุนร่วมกันต่อไป นอกจากนั้น ในเรื่องการขยายตลาดต่อยอดไปยังประเทศอื่น ก็สามารถใช้เครือข่ายของญี่ปุ่นที่มีสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆ เป็นจุดเชื่อมธุรกิจไทยไปสู่ต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

  “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ควรรอการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่นักลงทุนไทยต้องพร้อมที่จะเข้ามาร่วมลงทุนใน Supply chain ที่เกี่ยวเนื่องด้วย และใช้ประโยชน์จากการลงทุนครั้งใหญ่ของรัฐบาล เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้กำลังหารือในการเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มเติม รวมทั้งการผลักดันให้ภาคเอกชนไทยมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยจะอาศัยเครือข่ายต่าง ๆ ของหอการค้าฯ โดยเฉพาะหอการค้าต่างประเทศ และสมาคมการค้า เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายกลินท์ กล่าว

  หอการค้าไทยมั่นใจแนวทางของรัฐบาล ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับการผลิตและบริการด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้สามารถปรับตัวได้ ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดิม ให้สามารถอยู่ได้ด้วยเช่นกัน ตามแนวคิด “left no one behind”

 · นายโซจิ ซาคาอิ  (Mr.Soji Sakai) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ กล่าวว่า ผลการเยือนประเทศไทยของคณะญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จโดยมีผู้เข้าร่วม 570 ราย เช่น SMEs จากทั่วประเทศญี่ปุ่น และรัฐบาลไทยได้ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับ EEC โดยได้มีการอธิบายอย่างละเอียด รวมทั้งการให้ข้อมูลที่เข้าใจและชัดเจน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมเยี่ยมชมสถานที่จริงของ EEC ที่มีประสิทธิภาพ

  “เหตุผลที่มีคณะญี่ปุ่นเข้าร่วมมากมายหลายท่านเพราะ เราได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรีอย่างดียิ่งจากรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีเชิญผู้เข้าร่วมประชุมมาที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งใจที่จะให้ข้อมูลโดยตรง และยังได้มีการกล่าวสุนทรพจน์ จากนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีสมคิด ในเรื่องความกระตือรือร้นในการกำหนดนโยบายของ EEC” นายโซจิ กล่าว

  จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ พบว่าประมาณ 40% ของบริษัทสมาชิกแสดงความสนใจที่จะลงทุนใน EEC และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากมีแผนการลงทุนที่เป็นรูปธรรม รวมถึงสถานการณ์ของแต่ละบริษัท และการลงทุนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันทีแม้ในสภาพแวดล้อมการลงทุนที่น่าสนใจ ในอนาคตหากมีโครงการที่เป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเป็นที่ชัดเจน การตัดสินใจลงทุนก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีมากขึ้น

   · สิ่งที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลไทยในการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นสู่ EEC โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา หอการค้าญี่ปุ่นฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบาย EEC กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI เป็นต้น ซึ่ง 3 เรื่องดังกล่าวจะเป็นโครงสร้างสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1 ปรับปรุงกฎการร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) ด้วยการแบ่งปันความเสี่ยงที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อให้บริษัทญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  2 ปรับปรุงระบบที่จะช่วยให้ธุรกิจใหม่ ๆ สามารถเริ่มทำธุรกิจได้โดยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และ 3 เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยโดยการแยกบทบาทของแรงงานระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหอการค้าญี่ปุ่นฯ ต้องการหารืออย่างละเอียดกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!