- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Monday, 11 September 2017 14:55
- Hits: 2944
5 จังหวัดอีสานตอนบน 1 รวมพลังขับเคลื่อนการค้าชายแดน ชูศักยภาพความพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นยกระดับส่งออกภูมิภาคอินโดจีนสู่จีนตอนล่าง เผยยอดครึ่งปีได้ดุล กว่า 2.6 หมื่นล้าน
นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดอุดรธานีมีนโยบาย ขับเคลื่อนอย่างสมดุล เราดูแลกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร และวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นการนำร่องให้เห็นทั้งด้านการผลิตและการตลาด เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ในอนาคตอุดรธานีจะกลายเป็นศูนย์กลางคอนเทนเนอร์ ยาร์ดเพื่อรองรับการส่งออกในภูมิภาคอินโดจีนและจีนตอนล่าง
สำหรับ มูลค่าการค่าผ่าน ด่านผ่านแดนบ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ จ.เลย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึง มกราคม-พฤภษาคม 2560 โดยเฉพาะ ในช่วงมกราคม – พฤษภาคม 2560 พบว่า มูลค่ารวมการค้า 84,222.21 ล้านบาท จำแนกเป็น มูลค่าส่งออก 55,399.55 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 28,822.66 ล้านบาท และดุลการค้า 26,576.89 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สาคัญได้แก่น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ
สินค้านำเข้าที่สาคัญได้แก่เชื้อเพลิงอื่นๆ(พลังงานไฟฟ้า) ทองแดงและผลิตภัณฑ์เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้งฯผักและของปรุงแต่งจากผักเครื่องรับวิทยุโทรศัพท์โทรเลขโทรทัศน์ โดยกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีสัดส่วนการค้าชายแดนสูงกว่าในกลุ่มอื่นๆ โดยมีถึงร้อยละ 48 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-สปป. ลาว
นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดอุดรธานีเปิดเผยว่า ปัญหาในกรณีที่ลาวเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากประชาชนลาวที่นำเข้าสินค้าจากไทยโดยไม่มีมาตรการที่ชัดเจน บางด่านเก็บบางด่านไม่เก็บนั้น หลังจากที่กลุ่มอีสานตอนบน 1 ได้หารือกับผู้บริหารท้องถิ่นของ สปป.ลาวก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เร่งให้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร โดยแทนที่จะส่งเข้าส่วนกลางแล้วจึงย้อนกลับ ก็ให้มีการรวบรวมผลผลิตในท้องถิ่นเพื่อกระจายส่งออกได้เลย ทำให้สามารถลดทั้งต้นทุนและเวลา
นายวิชา จันทร์กลม ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จากการที่อุดรธานีเป็นศูนย์กลางของ 5 จังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคายและบึงกาฬ แม้อุดรธานีจะไม่มีชายแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่จากการที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ทำให้อุดรธานีมีศักยภาพในการรวบรวมและกระจายสินค้า สู่สมาชิกในกลุ่มและภูมิภาคอาเซียน
โดยยุทธศาสตร์รวมของกลุ่มอีสานเหนือตอนบน 1 คือการเร่งพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพรองรับการลงทุนทั้งทุนท้องถิ่นและทุนต่างถิ่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ดร.ธนรรรตต์ เที่ยงกมล นักวิจัยการตลาด บจก.รีเสิร์ช อินโมชั่น ซึ่งร่วมเดินทางในโครงการสื่อมวลชนสัญจรเปิดประตูอีสานตอนบน 1 เพื่อโอกาสของการค้าการลงทุนมุ่งสู้ไทยแลนด์ 4.0 ให้ความเห็นว่า ในการกำหนดยุทธศาสตร์มองกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนเป็นตาดรองรับนั้น อยากให้มองย้อนกลับด้วยว่า แต่ละประเทศมองเราอย่างไร โดยเฉพาะจีนเราต้องศึกษาว่า จีนมองไทยอย่างไร มองสินค้าจากไทยอย่างไร ทุกวันนี้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดของไทยถูกเวียดนามเข้ามากว้านซื้อแล้วไปแปลงสัญชาติเพื่อส่งออกจีน
อีกเรื่องหนึ่งที่ ดร.ธนรรรตต์ตั้งโจทย์ไว้ก็คือการตั้งราคาสินค้าที่ไม่เหมาะสม ขาดการศึกษาปัจจัยด้านการตลาด เขากล่าวว่า การตั้งราคาสินค้านั้น หากตั้งแพงไป ผู้ซื้อก็จะมองว่าคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายหรือไม่ แต่ถ้าหากตั้งต่ำไปผู้ผลิตก็อาจจะขาดทุน แต่ในขณะที่ผู้ซื้อเองก็จะมีความข้องใจว่า สินค้าราคาถูกอาจไม่มีคุณภาพ จึงจำเป็นจะต้องศึกษาโครงสร้างของทุนเพื่อกำหนดราคาสินค้าในระดับที่เหมาะสม
สื่อมวลชนสัญจรครั้งนี้ได้นำคณะไปดูแหล่งผลิตข้าวฮางงอกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของ จังหวัดหนองบัวลำภู ไปชมจุดยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมพรมแดนไทย-ลาว ที่ด่านผ่านแดนบ้านนากระเซ็ง จังหวัดเลย เข้าชมกลุ่มเลี้ยงปลากระชัง บ้านกองนาง ที่สร้างรายได้เข้าจังหวัดหนองคายปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ชมกลุ่มวิสาหกิจยางพาราเหล่าทองผู้แปรรูปสินค้าเกษตรครบวงจรด้วยการผลิตหมอนยางพาราส่งไปขายประเทศจีนทำรายได้เข้าจังหวัดบึงกาฬา ปิดท้ายด้วยการชมตลาดเมืองอุดร แหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค