WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดโลก-หนี้ครัวเรือนเป็นตัวถ่วง-แบงก์ชาติชี้ธุรกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่

     แนวหน้า : ภาวะตลาดโลก-หนี้ครัวเรือนเป็นตัวถ่วง-แบงก์ชาติชี้ธุรกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ ลุ้นคสช.เทงบพยุงศก.ปี 57 ต้องยอมทำใจศก.ไทยปี 57 ไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่หวัง ปัจจัยลบมีหลายด้าน แม้การเมืองจะนิ่งแต่นักลงทุนยังรอดูโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ มีแต่เงินลงทุนรัฐ ที่พอช่วยพยุงได้ตอนนี้ ส่วนปีหน้า หากศก.โลกสดสใส ส่งออกได้อานิสงส์ ท่องเที่ยวอาการดีขึ้น ลงทุนโครงการพื้นฐาน ช่วยให้เม็ดเงินสะพัด

     นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เปิดเผยผลคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2557 ว่าต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เช้นค่าแรง ราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง เป็นต้น

   ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าทั้งปี 2557 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 1.2% การส่งออกจะขยายตัวประมาณ 1.8% หรือในกรอบ 1.5-2.0% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 2.3-2.7% และภาคการลงทุนจะติดลบ 0.4 % เพราะเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบล่าช้า ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาสที่4 แต่ก็คาดว่าตลอดทั้งปี จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 24.9 ล้านคน ลดลง 5.9% คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านบาท ลดลง 2.8% ซึ่งภาพรวมจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระหว่าง 104-107 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

    ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้ อยู่ในมือของ คสช. โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งหากมีการเร่งเบิกจ่ายจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน เพราะจะทำให้มีแรงขับเคลื่อนจากเงินลงทุนผ่านโครงการของภาครัฐ  ซึ่งหากภาครัฐอัดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหรือการลงทุนน้อยเงินเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะโตต่ำกว่า 2.0%

    "หอการค้ามองว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 3.5% ภายใต้เงื่อนไขที่คสช. มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุ้น ส่งออกน่าจะได้ 4-5% และรัฐควรเข้าไปดูแลเอสเอ็มอีพอสมควร ส่วนในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ รัฐอาจเข้ามาช่วยเศรษฐกิจให้เร็วขึ้นโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ”

   สำหรับ ปี 2558 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีดกลับมาขยายตัวดีขึ้น และอาจขยายตัวเกิน 5 % เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนจากเงินลงทุนภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ประมาณ 3 แสนล้านบาท เช่น การยกระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกรอบ 5-7 % และการเมืองที่นิ่งทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นด้วย

   ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน มิ.ย 57 อยู่ที่ระดับ 48 ต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยค่าดัชนีฯ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการผลิต ด้านค่าสั่งซื้อ และด้านผลประกอบการ สะท้อนความกังวลด้านการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกที่ยังมีอยู่สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการที่ยังรอประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลจากนโยบายภาครัฐ

   ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมประเมินว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบันโดยค่าดัชนีฯ อยู่เหนือระดับ 50 และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ความเชื่อมั่นในเกือบทองค์ประกอบโดยเฉพาะด้านการผลิตผลประกอบการและการจ้างงานปรับดีขึ้นมากสะท้อนมุมมองที่ดีของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ของปี

    สำหรับ ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตสูง การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในเดือนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมองว่าการปรับราคาสินค้าทำได้ยากเป็นข้อจำกัดสำคัญที่สุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจคลายความกังวลจากข้อจำกัดนี้ลงมาก

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดเรื่องงาน และปาถกฐาเรื่อง “การผลักดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง สู้เป้าหมายจีดีพีมากว่า 2%” ในงานสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติการเมือง” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายคลี่คลาย และสงบลง โดยมีการดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนทั้งในส่วนของระยะสั้น และระยะยาวตามขั้นตอน  ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังโดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.3 % หลังจากที่ครึ่งปีแรกติดลบ 0.4 % ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เมืองที่ไม่สงบ

    ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 57 จะสามารถมีเม็ดเงินใช้จ่ายได้อีกไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท โดยจะทำให้เป้าหมายการเบิกจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 92% จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 90%

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นักลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยนั้น อาจอยู่ระหว่างรอสถานการณ์ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนกลุ่มนักลงทุนเดิมที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้วนั้น ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

   นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยคาดว่า ภาคการเกษตรอาจจะยังคงมีปัญหา เนื่องจากสินค้าหลายชนิดราคายังตกต่ำอยู่ เช่น ราคาข้าว ยางพารา น้ำตาล แต่เชื่อว่าภาคการบริการจะฟื้นตัวดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก

   นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า  ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2% และในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้เกินกว่า 4% แต่สิ่งที่ไทยต้องเร่งฟื้นฟู คือความสามารถในการแข่งขันที่ไทยถดถอยมาแล้ว 10 ปี ซึ่งหากสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5-7 %

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!