- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Thursday, 08 September 2016 16:10
- Hits: 5161
ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. อยู่ที่ 73.2 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังปชช. มั่นใจ ศก. ขณะที่คงเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.3%
ม.หอการค้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 73.2 เพิ่มขึ้นจากกรกฎาคมที่ 72.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อศก.โดยรวมส.ค.59 อยู่ที่ 62.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 61.4 หลังประชาชนมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตามการรับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมคงเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.3% ส่วน Q3-4/59 ยังเจอส่งออกชะลอ ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย เป็นปัจจัยเสี่ยง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 73.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 72.5 โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากประชาชนมีความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในอนาคตว่าจะปรับดีขึ้น ภายหลังจากประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายและราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเกษตรและภาคครัวเรือนในต่างจังหวัดเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการคาดหวังของประชาชนที่คาดว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี แม้ว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่มีการปรับตัวดีขึ้นมากนัก
“ศูนย์พยากรณ์ฯคาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มคลายความวิตกกังวลกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลาย ราคาพืชผลทางเกษตรปรับตัวดีขึ้น และผลกระทบของ Brexit ที่มีผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก นอกจากนี้ยังหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยมองว่าการบริโภคน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลาย และประสิทธิภาพการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง”นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมดัชนีปรับขึ้นมาอยู่ที่ 62.2 จากเดือนก่อนที่ 61.4 จากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (6 เดือนข้างหน้า) มองว่าปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกันจาก 74.1 มาอยู่ที่ 75.3 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความหวังว่ารัฐบาลจะเร่งการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และการส่งออกกับการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในเดือนสิงหาคม ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2558 เป็นต้นมา โดยปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 99.0 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับความคาดหวังในสถานการณ์การเมืองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะอยู่ในระดับดี สะท้อนจากดัชนีปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 101.1 โดยเป็นการปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน และอยู่สูงกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นมา
นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.หอการค้าไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ที่ 3.3% และมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าระดับดังกล่าว หากในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐมีการกระตุ้นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไตรมาส 3-4 ของปีนี้ มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ การส่งออก การบริโภคที่ยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวโดดเด่น แม้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายแล้วก็ตาม
“เรามองว่า แม้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4% แต่ครึ่งปีหลังเรามองว่าจะขยายตัวได้ 3.3% และทั้งปียังอยู่ที่ประมาณการเดิมที่ 3.3% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งการส่งออกและการบริโภคที่ยังฟื้นตัวช้า”นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด นั้น มองว่า ในเดือนกันยายนนี้ประเมินว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน 0-0.25% โดยประเมินว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกรอบ 34.5-35.0 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินบาทที่เหมาะสม จากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่าอยู่ที่ระดับ 35.0 บาทต่อดอลลาร์