- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Thursday, 04 June 2015 22:43
- Hits: 5860
หอการค้าไทย เผยดัชนีหดตัว สถิติ'เชื่อมั่น'ต่ำสุดรอบ 11 เดือน
แนวหน้า : นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย เดือน พ.ค.58 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 76.6 มาอยู่ที่ระดับ 75.6 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ลงเหลือ 3-4% จากเดิม 3.5-4.5%, ราคาพืชผลการเกษตรโลกตกต่ำ และมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรทรงตัวในระดับต่ำ กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดจึงไม่ขยายตัว, ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง, ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค, การส่งออกที่ยังหดตัวลง, ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น
"ผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่น และไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทย ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เพราะประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งภาวการณ์แบบนี้ น่าจะยาวไปถึงช่วงต้นไตรมาสที่ 3 สังเกตได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตที่มีการปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 82.8 จากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 83.8 และดัชนีการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านหลังใหม่ก็ลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็คาดว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป กำลังซื้อประชาชนน่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น ตามการส่งออกน่าจะกลับมาขยายตัวดี ส่งผลต่อภาคการบริโภคที่จะดีตามไปด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ การบริโภคของภาคประชาชน จะปรับตัวได้ดีมากน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพราะหากมีการเร่งเบิกจ่าย การลงทุนของภาครัฐ ก็จะเกิดการจ้างงาน สร้างรายได้กระจายงานไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง เพราะจะเป็นช่องทางให้ประชาชน ภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเงินเหล่านั้นก็จะเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกด้วย ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาภาวะหนี้ของกลุ่มยูโรโซน ที่หากเป็นไปตามคาด แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทย ทั้งปี ขยายตัวได้ 3-3.5% ตามเป้าหมายที่หอการค้าไทยคาดการณ์ไว้
"การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทุกๆ 0.25% จะส่งผลการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.05-0.1% ซึ่งหากภาครัฐมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งก็จะส่งผลดีถึง 2 ทาง ทั้งภาคการส่งออก และเกิดการหมุนเวียนเงินในระบบไปลงทุนได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ต้องยอมรับว่าในทางทฤษฎีแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง แต่ในด้านความรู้สึกของประชาชน ผู้บริโภคยังมองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. อยู่ที่ 75.6
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.58 อยู่ที่ 75.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 65.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.4
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ปรับลด GDP ปี 58 ลงเหลือ 3-4% จากเดิม 3.5-4.5%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.ติดลบ 1.7%, ราคาพืชผลทางเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง และ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการที่สภาพัฒน์ เปิดเผย GDP ในไตรมาส 1/58 ขยายตัว 3% ดีขึ้นจากไตรมาส 4/57 ที่ขยายตัว 2.1%
"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพ.ค.58 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.57 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ตลอดจนการส่งออกที่ยังหดตัวลง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่าการบริโภคของประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในไตรมาส 2 ซึ่งการฟื้นตัวจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนอยู่ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการบริโภคจะฟื้นตัวขึ้นหากรัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป และการบริโภคน่าจะฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 เป็นต้นไป
“คนมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีในรอบ 1 ปี และยังไม่เห็นสัญญาณในอนาคตว่าจะปรับตัวในทิศทางขาขึ้น ตอนนี้คนขาดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ในขณะที่ผู้ประกอบการมียอดขายสินค้าน้อยลง กำไรน้อย และไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ สถานการณ์นี้จะครอบคลุมไปถึงต้นไตรมาส 3"นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การบริโภคของประชาชนจะยังไม่ใช่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ เพราะแม้ภาคการเมืองจะมีเสถียรภาพดี แต่ก็ยังไม่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือคึกคักนัก เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงทำให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งจะเห็นได้จากการดัชนีความเหมาะสมในการซื้อสินค้าประเภทคงทนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการคือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด และทำให้เม็ดเงินสะพัด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ความเชื่อมั่นของประชาชนในการบริโภคก็จะเริ่มกลับมาได้เร็วขึ้น
นายธนวรรธน์ ยังแนะด้วยว่าการดำเนินนโยบายการเงินในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้น ยังมีพื้นที่พอที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะมีผลในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1% ต่อปี ขณะเดียวกันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงและช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยได้ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ในระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์ หรือเข้าใกล้ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ได้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่การส่งออกของไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงนั้น โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจยังคาดว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5%
“ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะโตได้มากกว่า 3.5% ถ้ามีการใช้นโยบายเรื่องดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าไปใกล้ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ นอกจากนี้จะต้องไม่มีปัญหาจากที่กรีซจะออกจากยูโรโซน ซึ่งหากเป็นได้ตามนี้เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสโตได้มากกว่า 3.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 5 เดือน แต่ก็เป็นเพียงภาวะเงินฝืดในทางเทคนิคเท่านั้น เพราะในปัจจุบันกำลังซื้อจากประชาชนยังคงมีอยู่ ซึ่งหากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้น นอกจากอัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว กำลังซื้อจะต้องหายไปด้วย และนั่นจึงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่น่ากลัว
อินโฟเควสท์