- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Friday, 13 June 2014 23:05
- Hits: 4579
ม.หอการค้าเผย SMEs 4-5 แสนรายส่อปิดกิจการ เล็งเสนอ คสช.ช่วยเหลือด่วน
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ประจำไตรมาส 1/57 ที่สำรวจจากธุรกิจตัวอย่าง 1,450 ราย ระหว่างวันที่ 16-31 พ.ค.57 ว่า ดัชนีสุขภาพของธุรกิจ มีค่า 57.2 ลดลง 4.4 จุดจาก 61.1 ในไตรมาส 4/56, ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ มีค่า 54.2 ลดลง 4 จุด จาก 58.2 และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ มีค่า 56.6 ลดลง 2.2 จุด จาก 58.8 ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs มีค่า 56 ลดลง 3.6 จุดจาก 59.6
สาเหตุที่ดัชนี ลดลงทุกรายการเป็นเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากยอดขายและกำไรในการทำธุรกิจลดลง แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ซึมตัวและการเมืองในประเทศยืดเยื้อ โดยภาคเหนือประสบปัญหามากกว่าภาคอื่นๆ และธุรกิจที่ประสบปัญหามากสุดอันดับแรกคือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจเชื่อว่าภายหลังการเมืองนิ่ง งบประมาณรัฐเร่งเบิกจ่ายและเอกชนลงทุนเพิ่ม จะทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น
"คาดว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาส 2/57 จะฟื้นตัวมากขึ้น และอาจมีค่าดัชนีที่ 60.2 ซึ่งเป็นผลจาก SMEs คาดว่าน่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น, มีเงินสดและมีสภาพคล่องสูงขึ้น, เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดี, สินค้ามีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่ง, ตราสินค้ามีความเข็มแข็ง, ลูกค้ามีความจงรักภักดีสูง, การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น, ส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เป็นต้น" นางเสาวณีย์ กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีธุรกิจ SMEs ที่มีอาการสาหัสจากขาดสภาพคล่องและห่วงว่าอาจต้องปิดกิจการประมาณ 20% ของ SMEs ทั้งหมด หรือประมาณ 400,000-500,000 ราย ซึ่งต้องเร่งเยียวยาโดยด่วน ขณะที่ในระยะกลางและยาวต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการเพิ่มทักษะและความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวม พบว่าธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ธุรกิจที่ประสบปัญหาต้นทุนสูง และธุรกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเดียวกัน ทั้งอาหาร-เครื่องดื่ม ค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สิ่งทอ และสินค้าแฟชั่น
ด้านนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สัปดาห์หน้า 7 องค์กรภาคธุรกิจ จะเข้าพบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยแนวทางช่วยเหลือธุรกิจ SMEs นั้น เบื้องต้นต้องลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ได้ง่ายขึ้น โดยจะขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ขยายเพดานการค้ำประกันสินเชื่อจากระดับสูงสุด 18% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs ที่ขาดสภาพคล่องให้มากขึ้นจากช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง โดยคาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย