WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ส่งซิก ศก.ไทยอนาคตสดใส เอกชนหนุน คสช.เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้าง

   บ้านเมือง : หอการค้าคาดเศรษฐกิจไทยในอนาคตสดใส การค้าเริ่มคึก หลังชาวนาได้เงินจำนำข้าว เชื่อ GDP ปีนี้โตได้ 2.5% ด้าน สรท.หนุน คสช.แก้ไขปัญหา วางโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต แนะแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ขณะที่คงเป้าส่งออกปี 57 โต 3% ชี้การเมืองไม่กระทบ เสนอเอกชนเร่งแจงคู่ค้าปมการเมือง

   นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น โดยเห็นได้จากในต่างจังหวัดที่ชาวนาเริ่มได้รับเงินค่าข้าว ส่งผลให้การค้าขายเริ่มคึกคักอย่างเห็นได้ชัด เกษตรกรเริ่มเข้ามาใช้จ่ายในตลาดมากขึ้น จึงทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ด้านแนวโน้มการลงทุนเองก็ควรจะดีขึ้นเช่นกัน แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐ ทั้งนี้มองว่าทีมที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการที่จะกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยทางหอการค้ายังคงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณ 2.5% ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว ส่วนการส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณ 3-5% เพราะสินค้าไทยหลายรายการถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดโลก ซึ่งถ้าหากระบบโลจิสติกส์ไม่มีปัญหา คาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มทยอยกลับมา และตัวเลขเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 2-2.5%

    นอกจากนี้ เรื่องของพลังงานหากมีราคาถูกมากเกินไป แสดงว่าประเทศกำลังดึงเงินทุนสำรองไปใช้ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและจะทำให้ประชาชนไม่ประหยัดพลังงาน อีกทั้งอนาคตอาจต้องนำเข้าพลังงานในราคาสูง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องควรจะปรับราคาให้เหมาะสมและคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยในอนาคต

    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน มีมูลค่า 17,294 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณ 0.87% ขณะที่มูลค่าการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 57 ยังติดลบที่ประมาณ 0.97% โดยมีมูลค่า 73,406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ส่งออกชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยตลาดส่งออกหลักทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน มีอัตราการเติบโตลดลงที่ -9.5 และ -4.5 และ-1.9 ตามลำดับ ซึ่งตลาดจีนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจที่หันมาเน้นการบริโภคในประเทศและลดการส่งออก ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการขึ้นภาษีบริโภค ทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งสินค้า ส่วนตลาดหลักอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นที่ 5.4% และ 0.6 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

     ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทางสภาผู้ส่งออกทางเรือเสนอ 5 แนวทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยยินดีเข้าหารือกับทาง คสช.ในรายละเอียดเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอย่างบูรณาการ 2.ปรับปรุงกฎหมายและการแก้ปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค 3.ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนงบประมาณ 4.จัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านการออกแบบแห่งชาติ (National Design Center) เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 5.การวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม และระบบการศึกษาของไทยขึ้นมาใหม่ และการสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยขณะนี้ จะให้ภาครัฐหรือทูตพาณิชย์คงไม่ได้ผล แต่ภาคเอกชนไทยจะต้องเป็นผู้สร้างความเข้าใจต่อคู่ค้าของตนเองให้มากขึ้น

   อย่างไรก็ตาม ทางสภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์ว่าการขยายตัวของการส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้เพียงประมาณ 3% โดยเป็นเป้หมายที่ท้าทาย ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 3.5% สิ่งสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งดำเนินการคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ว่าการส่งออกไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังควรเร่งผลักดันการส่งออกในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็ควรขยายการส่งออกในตลาดหลักเช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้น เนื่องจากการขยายการส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ยังทำได้ยากในช่วงนี้

   นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการส่งออกของประเทศในช่วงเดือน เม.ย. 2557 ว่า การส่งออกยังคงขยายตัวลดลง 0.87% และในช่วง 4 เดือนแรกก็ยังคงติดลบอยู่ที่ 0.97% จากการขยายตัวลดลงของตลาดหลักในประเทศจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยมองว่าปัจจัยจากการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 เพราะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนชี้แจงให้คู่ค้าเกิดความเข้าใจ ซึ่งต้องมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า โดยทั้งปีคาดว่าการส่งออกอยู่ที่ 3% แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ท้าทายและมีความเสี่ยงเพราะต้องทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 3% และไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 5% จึงจะทำให้การส่งออกทั้งปีเป็นไปตามคาด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!