- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Thursday, 16 October 2014 09:30
- Hits: 4400
หอการค้าไทยจ่อชงรัฐบาล แผนพัฒนาเขตศก.พิเศษร่วมเมียนมาร์
แนวหน้า : นายสมเกียรติ อนุราช รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมาร์ ในวันที่ 15 ต.ค.57 ว่า ทางหอการค้าไทย และหอการค้าเมียนมาร์ได้มีมติร่วมกันให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทยเมียนมาร์เขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อจัดทำแผนแม่บทที่จะใช้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ครบวงจร โดยเฉพาะการมองถึงความเป็นไปได้เรื่องกฎระเบียบร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย การเคลื่อนย้ายคน สินค้า เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลา 6-9 เดือน ในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวสำเร็จ ก่อนจะนำเสนอ และใช้หารือกับรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณา เห็นชอบต่อไป
"จากการที่ได้หารือกับสภาพัฒน์แล้วเห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องมีหลายรูปแบบ คือ เป็นแหล่งการค้า เป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ เห็นว่าแม่สอดเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นทั้งแหล่งการค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมได้ จึงเตรียมส่วนนี้เข้าไปอยู่ในแผนแม่บทด้วย อีกทั้งแผนแม่บทดังกล่าวจะต้องเป็นการส่งเสริม และพัฒนาในเรื่องของการอำนวยความสะดวก ด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่ายให้ครอบคลุม เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนตามแนวชายแดนด้วย"
พร้อมกันนี้ ในแผนแม่บทยังจะมีการเสนอให้รวม 3 อำเภอของจังหวัดตาก ได้แก่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ อยู่ในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพื่อให้จังหวัดตากเป็นจังหวัดนำร่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยด้วย ทั้งนี้ในเบื้องต้นการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งในส่วนของสถานที่ตั้ง ผลประโยชน์ ซึ่งยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุปที่ชัดเจน ในขณะที่เมียนมาร์มีความชัดเจนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายให้การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยต้องสอดคล้องกับของประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ในการประชุมแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ไทย-เมียนมาร์ ยังได้หารือถึงความเหมาะและศักยภาพเชิงพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งไทยมีการระบุที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด คือ แม่สอด แม่ระมาด พบพระ จ.ตาก จ.กาญจนบุรี และ แม่สาย จ.เชียงราย ส่วนของเมียนมาร์ ได้แก่ เมียวดี ผาอัน และเมาะละแหม่ง, โอกาสทางธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศรษฐ, การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการค้า การลงทุนและการขนส่ง, ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เป็นต้น
"เบื้องต้นได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการค้าชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการสร้างสะพานแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาการสร้างที่จะเชื่อมต่อไปยังเมียนร์มา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ"