- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Sunday, 02 February 2020 23:01
- Hits: 9550
หอการค้าฯ จับตามความเสี่ยงศก.ไทยใกล้ชิด เผยโครงการ Big Brother ปี 3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs 555 ลบ.
หอการค้าฯ จับตามความเสี่ยงศก.ไทยใกล้ชิด เผยโครงการ Big Brother ปี 3 สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs 555 ลบ. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยให้ความสำคัญ และกำลังติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีภาวะชะลอตัวลงจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งในปีนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่อย่างต่อเนื่อง
และคาดว่าอาจจะมีการปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจจากที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐเพื่อช่วยเหลือ SMEs รวมถึงมาตรการอื่น ๆ จะเป็นกลไกสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจประเทศในปี 2563 ได้ แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่าง ๆ แต่ก็ถือว่ายังมีโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่มีการเตรียมความพร้อม และปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อรองรับ Digital Disruption จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปความต้องการความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเดิม ซึ่งตัวอย่างการปรับตัวที่จะสามารถสร้างโอกาสได้ เช่น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจโดยจะเห็นว่า การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและสื่อออนไลน์ของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น การเข้าถึง Platform Online ต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น การเจาะพฤติกรรมลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยการเก็บข้อมูลลูกค้าที่มากเพียงพอ จะนำมาซึ่งการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ตลอดจนการทำแผนการตลาดได้ตรงเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับบทบาทสู่การเป็น OEM โดย SMEs ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาจปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ มารับจ้างผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ที่ต้องการมีธุรกิจแต่มีเงินทุนไม่มากพอ และผลิตด้วยตนเองยังไม่ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดประสบการณ์ "โครงการ Big Brother จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะได้รับการถ่ายทอดอย่างใกล้ชิดจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์สูง ลงมาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีและเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อการเติบโตที่อย่างยั่งยืนในอนาคต อันจะส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศต่อไป" นายกลินท์กล่าว
ด้านนายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิก กล่าวว่า สำหรับ Big Brother Season 3 ซึ่งได้ดำเนินการจบไปแล้วในปีที่ผ่านมา ได้มีการคัดเลือกบริษัทน้องเข้าร่วมโครงการ 54 ราย มีพี่เลี้ยง 24 ราย ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยแนวคิดหลักของโครงการ Big Brother ยังคงเน้นเรื่องการ Coaching and Mentoring การถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ การทำการตลาด การวางกลยุทธ์ เน้นให้ SMEs มีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง สามารถต่อยอดและวางแผนในการทำธุรกิจได้ด้วยตัวเอง
สำหรับ ผลสำเร็จของ Big Brother ใน Season 3 นี้ อาจดูเหมือนว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่มากนัก และมีบางรายที่ยังไม่พร้อมดำเนินการก็ตาม แต่ทุกรายที่ร่วมดำเนินการตามโครงการ ล้วนมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากโครงการทั้งสิ้น โดยเฉพาะในด้านของรายได้ ที่ผู้ประกอบการจำนวน 25 ราย มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงยอดขายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ต้นทุนสินค้าคงคลัง เป็นต้น รองลงมาคือ ได้รับผลลัพธ์ในเรื่องการขยายช่องทางการตลาด ทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ และขยายการส่งออกไปต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์ในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาในด้านผลิตภัณฑ์และการตลาด เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ (packaging) และการสร้างแบรนด์
ในขณะเดียวกัน ยังได้รับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจดทะเบียนบริษัท การจัดทำบัญชี การพัฒนาธุรกิจให้เป็นระบบตามมาตรฐานโรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลลัพธ์ด้านรายได้โดยรวมของผู้ประกอบการมีอัตราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 0.23-162% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40.99% และประมาณการว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ Big Brother Season 3 รวมทั้งสิ้น 555.11 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่ด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่ไม่มาก ธุรกิจที่ยังมีขนาดเล็ก รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินงานเพียงไม่กี่เดือนถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ซึ่งเชื่อว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังเช่นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปีก่อนๆ
"หอการค้าไทยเชื่อว่า SMEs จะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต เพียงแต่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนได้นั้น เขาเหล่านั้นต้องมี "พี่เลี้ยง" เพื่อช่วยชี้แนะแนวทาง เป็นเครือข่ายทางธุรกิจ ถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นบทเรียนลัด สำหรับการก้าวเดินที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการ Big Brother จะเป็นคำตอบที่ดีให้กับ SMEs" นายพลิษศร์ กล่าว
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)