- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Thursday, 02 October 2014 17:16
- Hits: 4156
หอการค้าไทย ยกระดับการค้าชายแดนไทย -เมียนมาร์ จัดงานแสดงสินค้าที่แม่สอด สร้างโอกาสการค้า-ลงทุน ทั้ง 2 ประทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จับมือหอการค้าจังหวัดตาก หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติเมียนมาร์ (UMFCCI) และหอการค้าจังหวัดเมียวดี จัดงาน Thai-Myanmar Trade Fair 2014 งานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดนไทย-เมียนมาร์ ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-19 ตุลาคม 2557 ณ ศูนย์กลางแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (ศูนย์ OTOP) อำแภอแม่สอด จังหวัดตาก บนพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม. โดยได้รวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจชั้นนำของไทยและเมียนมาร์ทั้ง อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การบริการ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย สถาบันการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจค้าปลีก กว่า 50 บริษัท นำสินค้าไปร่วมแสดงในงาน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการจัดประชุม/สัมมนา และการจับคู่เจรจาธุรกิจ ระหว่างนักธุรกิจของไทยและเมียนมาร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าของทั้ง 2 ประเทศ
นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจการค้าชายแดนและข้ามแดนของไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยและประเทศคู่ค้าที่มีชายแดนติดกับพรมแดนของไทยจะได้มีการพัฒนาศักยภาพในด้านการค้าการลงทุน ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งหวังที่จะส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในตลาดการค้าชายแดน ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาสินค้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จึงได้กำหนดจัดงาน 'แสดงสินค้าส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดนไทย-เมียนมาร์'(Thai-Myanmar Trade Fair 2014) ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-19 ตุลาคม 2557 ณ ศูนย์กลางแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (ศูนย์ OTOP) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการของไทยและเมียนมาร์ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทางการค้า เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งสองประเทศที่อยู่ตามแนวชายแดนได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าและบริการ และเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจ ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการค้าตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายกลินท์ กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตลาดการค้าชายแดน อย่างเต็มรูปแบบ และมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าเต็มพื้นที่การจัดงานฯ บนพื้นที่การจัดงานกว่า 1,500 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 20,000 คน สำหรับสินค้าของไทยที่มาร่วมแสดงประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การบริการ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย
สถาบันการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจค้าปลีก โดยมีบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมงาน อาทิ กลุ่มอาหารและประมง เช่น เครือซีพี, เครือเบทาโกร, มิตรผล, มาลี, คูโบต้า, ไทยลี เกษตรพัฒนา และซีแวลู กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น สหพัฒน์, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กลุ่มก่อสร้างจาก SCG, HACO กลุ่มพลังงานนำโดย บริษัท ปตท. และกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ และสายการบินนกแอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่การค้าชายแดน อาทิ การจัดนิทรรศการแสดงสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ การเสวนาปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน การประชุมความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-เมียนมาร์ ระหว่างหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดตาก กับ หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) และหอการค้าจังหวัดเมียวดี รวมถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างนักธุรกิจของทั้งสองประเทศโดย มีรายละเอียดงาน ดังนี้
1. การประชุม Bilateral Meeting ระหว่างหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดตาก กับ หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) และหอการค้าจังหวัดเมียวดี เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม-ไทย-เมียนมาร์ ในช่วงเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท อ.แม่สอด จ.ตาก
2. งานเสวนา เรื่อง พลิกโอกาสจากปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดนและข้ามแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ถึงปัญหาและอุปสรรคทางการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน เพื่อสามารถนำมาแก้ไข และเป็นโอกาสในการค้าต่อไป ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท อ.แม่สอด จ.ตาก
3. การจับคู่ธุรกิจทางการค้า (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจไทย และ นักธุรกิจเมียนมาร์ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจบริการด้านการเงิน ประกันภัย และโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง Trading company ในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2557 ณ ศูนย์กลางแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (ศูนย์ OTOP)
การจัดงานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดนไทย-เมียนมาร์ ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดตาก หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) และหอการค้าจังหวัดเมียวดี โดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB)
“แผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนและข้ามแดนในลักษณะนี้ จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558 ซึ่งจะเป็นปีที่จะมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีแผนที่จะขยายการจัดกิจกรรมออกไปอีก 3 ประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย โดยจะทยอยจัดตั้งแต่มีนาคม 2558 เป็นต้นไป” นายกลินท์กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.79.2 ลดครั้งแรกรอบ 5 เดือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.57 อยู่ที่ 79.2 ลดลงจาก 80.1 ในเดือน ส.ค.57 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.2 ลดลงจาก 70.1 ในเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.9 ลดลงจาก 73.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.5 ลดลงจาก 96.4 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค.57
การปรับลดลงของดัชนีมาจากปัจจัยลบ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 57 เหลือเติบโต 1.5% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือ 4.8% จากเดิมคาดโต 5.5%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.6-2.0% จากเดิม 1.5-2.5% เนื่องจากมองว่าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ยอดส่งออก ส.ค.ลดลง 7.4% และเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การแถลงนโยบายรัฐบาลส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับทรงตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.57 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นและเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว เป็นผลจากราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะยางพาราและข้าว นอกจากนั้น การส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดไว้ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลรายได้ของตัวเองในอนาคต
“คนมองว่าเศรษฐกิจในเดือนก.ย.ยังไม่โดดเด่น ความต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถจึงยังไม่ค่อยเด่น และเมื่อคนมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ค่อยดี จึงกังวลว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีหรือไม่ จึงเริ่มมีมุมมองที่ไม่แน่ใจต่อเศรษฐกิจในอนาคตมากนัก ทำให้ความเชื่อมั่นในก.ย.ปรับตัวลง แต่ไม่หนักหนาสาหัส เพราะปรับลงไม่ถึง 1 จุด" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการบริโภคอาจยังฟื้นไม่มากนักในระยะนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นไม่ได้สูงขึ้น แต่การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นเดือนต.ค.ทั้งการลดต้นทุนให้แก่ชาวนาในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และการเร่งอัดฉีดงบประมาณอีกกว่า 3 แสนล้านบาทเพื่อสร้างงานและทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นนั้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4/57 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินเข้าสู่มือประชาชนอย่างรวดเร็วและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 1.5-2.0% ในปีนี้
“ตอนนี้เศรษฐกิจซึมตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนทิศทางกลับมาเป็นขาลง แต่เป็นจังหวะดีที่ขาลงนี้จะพลิกฟื้นกลับได้ง่าย เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเมื่อวาน ถือว่าทันเวลา ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนหน้า(ต.ค.) จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจจะเงยหัวขึ้นมาหรือไม่ และในช่วงไตรมาส 4 จะสามารถดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นกลับมาเร็ว และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 58 อย่างไร"นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว เชื่อว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มเป็นขาขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ไปเช่นกัน ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 เติบโตได้มากน้อยเพียงใด และกำลังซื้อของประชาชนจะกลับมาเร็วหรือไม่ และหากการส่งออกและการท่องเที่ยวพลิกฟื้นกลับมาเร็วขึ้นก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับ 2%
“แรงเหวี่ยงที่สำคัญคือความเชื่อมั่นฯ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโต 4% ได้ง่ายหรือไม่ ถ้าความเชื่อมั่นฯ กลับมาเร็วในช่วง พ.ย.-ธ.ค.นี้ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะมีการลงทุนกลับเข้ามา และมีผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้า" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับ ผลการสำรวจดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือน ก.ย.นี้พบว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 89 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพ.ค.49 เป็นต้นมา โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.8 เมื่อเทียบกับระดับ 87.5 ในเดือนส.ค.ขณะที่การคาดหวังต่อสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 เดือนหน้านั้น ประชาชนมองว่าสถานการณ์การเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 102.3 ซึ่งถือว่าเกิน 100 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพ.ค.49 เป็นต้นมา
อินโฟเควสท์