- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Wednesday, 06 June 2018 16:23
- Hits: 1795
ม.หอการค้าไทย มองศก.ภูมิภาคยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงครึ่งปีหลังว่า แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวดีขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 ขยายตัวได้ถึง 4.8% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ โดยไม่ได้กระจายตัวไปอย่างเท่าเทียม เพราะในบางพื้นที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่ำกว่า 4.8% เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน และบางส่วนยังมีปัญหาในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ และการจับจ่ายของภาคประชาชน ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวและขยายตัวได้ดี แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะหากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ตามกำหนด จะส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในด้านการบริโภค รวมถึงการลงทุน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนในระดับภูมิภาค รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่แม้จะมีเม็ดเงินจำนวนมาก แต่การขับเคลื่อนลงไปสู่ภาคประชาชนยังไม่เห็นผลอย่างแท้จริง ทำให้การจ้างงานในภูมิภาคยังไม่เกิดขึ้นได้รวดเร็วพอ ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับภาพรวมของการค้าโลกได้
อินโฟเควสท์
ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.อยู่ที่ 80.1 ลดลงจากเม.ย. กังวลเศรษฐกิจฟื้นช้า-ราคาน้ำมันพุ่ง
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. 61 ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.1 จาก 80.9 ในเดือนเม.ย.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.9 จาก 67.8 ในเดือนเม.ย.61
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.2 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 จาก 99.1
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพง
สำหรับ ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว, กังวลเสถียรภาพการเมือง ที่อาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากก.พ. 62 และกังวลปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/61 เติบโต 4.8% เพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็น 4.2-4.7%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, การส่งออกในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 12.34% และ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนพ.ค.นี้ มีปัจจัยสำคัญจาก 3 ประการ คือ ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยาที่ 30 บาท/ลิตร แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันได้เริ่มลดลงแล้ว ประกอบกับรัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ดังนั้นปัจจัยนี้อาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งการสำรวจในเดือนพ.ค. พบว่าดัชนีค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 47 เดือน เป็นผลจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ให้ปรับขึ้นราคาตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังดูได้จากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มไต่ระดับสูงขึ้นกว่า 1% รวมถึงปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะกำหนดเวลาการเลือกตั้งว่ายังเป็นไปตามกำหนดในเดือน ก.พ.62 หรือไม่
"ทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยหลักๆ ซึ่งรวมกับปัจจัยเดิมในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อน จึงทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่โตหรือยังไม่กลับมาเต็มที่ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และยังเป็นการโตแบบกระจุก ไม่กระจาย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ เมื่อปัจจัยดังกล่าวได้คลี่คลายลงแล้ว โดยต้องรอดูตัวเลขอีกประมาณ 2-3 เดือน
อย่างไรก็ดี หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นได้ในปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 4.5%
"ตอนนี้ เรายังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 4.4-4.5% ไปก่อน ซึ่งในเดือนพ.ค.นี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงทรงๆ ตัว แต่ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิงลบ แต่อาจจะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ค." นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยว่า การปรับ ครม.จะมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่า ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีที่จะมาใหม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นและยอมรับว่าจะสามารถสานต่อนโยบายของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่องก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวก ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลที่เข้ามาใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่เชื่อมั่นจากประชาชนก็จะส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจได้
"ถ้าจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นจริง ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกบุคคลที่สามารถทำงานได้จริงเข้ามา ถ้าเป็นรัฐมนตรีที่เข้าใจนโยบาย และเป็นที่ยอมรับ ถูกคน ถูกที่ ถูกทาง ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าการปรับ ครม.จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในเชิงลบ" นายธนวรรธน์กล่าว
ม.หอการค้าฯ คาดบอลโลก 2018 เม็ดเงินสะพัดในระบบศก.เกือบ 1.8 หมื่นลบ.
นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย, ผลกระทบด้านธุรกิจและสังคมไทยในช่วงฟุตบอลโลก 2018 โดยคาดว่าช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 17,900 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะประกอบด้วย การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและการสังสรรค์, การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณ และอื่นๆ ในขณะที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ (พนันบอล) อีกราว 58,900 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วคาดว่าฟุตบอลโลก 2018 จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับ เงินที่ใช้จ่ายเมื่อเทียบกับช่วงฟุตบอลโลกปี 2014 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 54.1% ตอบว่าเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 33.4% ตอบว่าเท่าเดิม ในขณะที่อีก 12.5% ตอบว่าลดลง ซึ่งที่มาของเงินที่ใช้ในช่วงฟุตบอลโลก ปี 2018 ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน/รายได้ตามปกติ รองลงมา คือ เงินออม, โบนัส/รายได้พิเศษ, กู้ยืม และจากผู้ปกครอง เป็นต้น
ทั้งนี้ จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคาดว่าปีนี้คู่ชิงชนะเลิศ จะเป็นคู่ของบราซิลกับเยอรมนี รองลงมา คาดว่าคู่ชิงจะเป็นอังกฤษกับสเปน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คาดว่าเยอรมนีจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 2018 รองลงมา คือ อังกฤษ, บราซิล
สำหรับ ความเป็นห่วงในช่วงฟุตบอลโลก 2018 อันดับแรกคือ ประสิทธิภาพการทำงาน/การเรียนลดลง รองลงมา คือ โจรกรรมมากขึ้น, การพนันเพิ่มขึ้น, อุบัติเหตุจากการพักผ่อนน้อย และอุบัติเหตุจากการดื่มสุรา
อินโฟเควสท์