- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Sunday, 08 April 2018 13:16
- Hits: 5540
ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค.อยู่ที่ 79.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.61 อยู่ที่ 79.9 จาก 79.3 ในเดือน ก.พ.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.8 จาก 66.1 ในเดือน ก.พ.61
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.9 จาก 74.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.0 จาก 97.4
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยบวก ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ย 1.5% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 61 เป็น 4.1% จากเดิมที่คาดไว้ 3.9%, การส่งออกเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 10.26%, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกระทบกับความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุน, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, ความกังวลการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร้ว รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจมีผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.นี้ เป็นจุดที่ต้องสังเกตต่อไปว่าความเชื่อมั่นจะปรับตัวอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่มาก
อย่างไรก็ดี จากที่ก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ เคยกังวลกับการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ล่าสุด ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. ซึ่งทำให้คลายกังวลได้ว่าการบริโภคน่าจะค่อยเริ่มปรับตัวขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแบบอ่อนๆ
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในเดือนมี.ค.61 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ มีระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.59 ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ ปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.60 รวมทั้งดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือนเช่นกัน ซึ่งดัชนีทั้ง 3 รายการนี้แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อของประชาชนชั้นกลางเริ่มกลับมา และพร้อมที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่องทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 4.2-4.6%
"GDP ไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าจะโตได้ 4-4.2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะโตได้มากกว่า 4.2% ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโตได้ในระดับนี้ กำลังซื้อในประเทศจะกลับมาอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง และจะทำให้ทั้งปี เศรษฐกิจไทยโตได้ในกรอบ 4.2-4.6% ตามที่วางไว้" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ ยังเชื่อว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะไม่ขยายวงกว้างหรือมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆ ไปทั่วโลก เพียงแต่สหรัฐฯ ต้องการจะลดปัญหาเรื่องการขาดดุลทางการค้า และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่ใช้ประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของประเทศมาเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งที่สหรัฐฯ ดำเนินการตอบโต้ทางการค้ากับจีนอยู่นั้น สุดท้ายแล้วก็เพื่อต้องการให้มีการเปิดเจรจาเพื่อหาทางออก
"สบายใจได้ว่าการบริโภคน่าจะปรับตัวขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบอ่อนๆ เว้นแต่จะเกิดปัญหาสงครามการค้าที่ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำลง แต่เรามองว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรง น่าจะเข้าสู่โหมดที่สามารถเจรจาและต่อรองกันได้ เพราะสหรัฐฯ คงต้องการจะลดเรื่องการขาดดุลการค้าเป็นสำคัญ ไม่น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ มากนัก" ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ระบุ
อินโฟเควส