- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Saturday, 21 October 2017 15:59
- Hits: 16659
การประชุมคณะกรรมการบริหาร การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC
วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงอุตสาหกรรม
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 5/2560 ของ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งมีสาระสำคัญ
ของการประชุม ดังนี้
1. เห็นชอบหลักการแผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี
ที่ประชุมเห็นชอบหลักการแผนพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการรับความเห็นของคณะกรรมการไปปรับปรุงแผนให้ครบถ้วนโดยเฉพาะเรื่องโครงการ โดยระยะสั้นต้องมีโครงการหลักที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ และมีความชัดเจนว่าสถาบันการศึกษาใดจะสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากรด้านใด ทั้งนี้ แผนนี้เป็นแผนงานหนึ่งใน 8 แผนงานของแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนนี้ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี โดยมี ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกรศ. เป็นประธานและมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้แทนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ
การจัดทำแผนนี้ได้พิจารณาถึงความต้องการแรงงานของนักลงทุนเป็นหลัก ทั้งด้านปริมาณและสมรรถนะของแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 อุตสาหกรรม รวมทั้งได้พิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการแรงงานภายใน5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560 -2564) มาพิจารณาประกอบกับปริมาณการผลิตบุคลากรด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ และแนวโน้มความสามารถในการผลิตบุคลากรรองรับ พบว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น New S-Curve นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญรองรับจึงต้องมีการเตรียมครูผู้ฝึก (Trainer) ในสาขาที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และโลจิสติกส์ ให้เพิ่มจำนวนขึ้น
และสำหรับในสาขาที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญอาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทาง BOI จะใช้เป็นเงื่อนไขในการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุน และกระทรวงศึกษาธิการจะอนุญาตให้มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงมาเปิดสาขาที่ตอบรับต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 27/2560 และ 29/2560 นอกจากนั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งระบบในพื้นที่ EEC โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลให้มีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมนี้ ได้พิจารณาด้านการพัฒนาด้านวิจัยและเทคโนโลยีที่จะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย
แผนดังกล่าวประกอบไปด้วย แผนระยะสั้นและระยะยาว มีโครงการระยะเร่งด่วน 22 โครงการ พร้อมด้วย โครงการระยะปานกลางและระยะยาว จำนวน 13 โครงการ ในการนี้ โครงการระยะสั้นที่สำคัญจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ได้แก่ โครงการศึกษาและจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรม: ระดับปริญญาตรี และอาชีวศึกษา เป็นการพัฒนาครูผู้ฝึก (Trainer) พร้อมทั้งพัฒนาเพื่อขยายผลให้มีครูฝึกจำนวนมากขึ้นและเพื่อขยายหลักสูตร 4 หลักสูตรนี้เข้าสู่การเรียนการสอนปีสุดท้ายของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนั้น ยังมีโครงการค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับระดับมัธยมศึกษา และโครงการห้องสมุดวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่สำหรับระดับประถมศึกษา และโครงการการศึกษานอกโรงเรียนในลักษณะของการดูงานนอกสถานที่สำหรับระดับประถมศึกษา คาดว่าโครงการเหล่านี้ จะใช้เป็นโครงการตัวอย่างที่ขยายผลการพัฒนาบุคคลากรในพื้นที่EEC ในอนาคต
2. เห็นชอบหลักการสำหรับแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(TG MRO Campus)
โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) โดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีความจำเป็นต่อสนามบินอู่ตะเภา ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่ระดับโลก ดึงดูดสายการบินทั่วโลกให้มาใช้บริการ ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและการสนับสนุนโครงการนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ สนามบินอู่ตะเภา และเพื่อให้การเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็นไปตามแผนงาน
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบหลักการสำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ โดยให้มีมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐในการก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุง (Hangar) อาคารโรงซ่อมบริภัณฑ์ (Back shop) โรงพ่นสี (Painting Shop) พื้นที่ซ่อมบำรุงระดับลานจอด(Aircraft Parking Area และ Aircraft Swing Compass Area) และ สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมถึงระบบสาธารณูปโภค โดยเห็นชอบให้บริษัทการบินไทยเป็นผู้จัดทำข้อกำหนดความต้องการ ก่อนนำมาพิจารณาร่วมกับ สกรศ.และกองทัพเรือ ถึงขอบเขตความเหมาะสมและกรอบวงเงินในการลงทุนก่อสร้าง ทั้งนี้ ในส่วนของผลตอบแทนการลงทุนดังกล่าวจะมีการพิจารณาเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในอัตราที่เหมาะสมต่อไป
3. รับทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ 2560 และประกาศลำดับรอง
ที่ประชุมรับทราบว่า นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ลงนาม ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (ประกาศ EEC Track) แล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ในการนี้ ที่ประชุมรับทราบประกาศ EEC Track ซึ่งมีประกาศลำดับรอง 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง รูปแบบ และรายละเอียดของรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2560
2. ประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง คุณสมบัติของที่ปรึกษาไทยหรือที่ปรึกษาต่างประเทศ พ.ศ. 2560
3. ประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง รายละเอียดการประกาศเชิญชวน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน รายละเอียดของเอกสารการคัดเลือก และข้อกำหนดมาตรฐานของสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2560
4. ประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง รายละเอียดที่ต้องจัดทำเพิ่มเติมในการเสนอให้คัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล พ.ศ. 2560
5. ประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ ประกาศ EEC Track และประกาศระดับรองดังกล่าวจะใช้กับโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ประกาศไว้ (EEC Projects List) ได้แก่
1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis)
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการนโยบายฯเพื่ออนุมัติหลักการโครงการ
3. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3
ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
5. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการนโยบายฯเพื่ออนุมัติหลักการโครงการ