- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Monday, 14 March 2022 12:35
- Hits: 7564
อีอีซี เดินหน้าพัฒนากำลังคนตรงความต้องการครบทุกมิติ ร่วมประสานกระทรวง อว. ศึกษาธิการ แรงงาน สถาบันขงจื้อ สร้างต้นแบบ (Sandbox) เชื่อมความร่วมมือไทย - จีน ยกระดับผลิตบุคลากรทักษะสูง ดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขยายสู่พื้นที่ทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดการประชุมผู้บริหารระดับสูง (High-Level Meeting) การศึกษาและการพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่อีอีซี โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัยฯ) กล่าวให้โอวาท และมี ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและและนวัตกรรม นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายพิริยะ เข็มพล ที่ปรึกษาพิเศษ เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือและรับฟัง ณ ห้องประชุม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า เพื่อเป็นการเร่งสนับสนุนพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการลงทุนของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะมีความต้องการสูงถึง 564,176 คน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สกพอ. จึงได้พัฒนาแนวทางการศึกษาและพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้แนวคิด อีอีซีโมเดล เพื่อมาใช้พัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ โดยได้นำประสบการณ์การพัฒนาบุคลากรของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสถาบันขงจื่อฯ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับตำแหน่งงาน (Demand-Driven Education) ที่เน้นตอบสนองความต้องการกำลังคน โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการศึกษา ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรไปจนถึงการฝึกงานจริงในโรงงาน เพื่อให้ผู้เรียนจบสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แนวทางอีอีซี โมเดล ดังกล่าว ได้เป็นต้นแบบ (Sandbox) ในพื้นที่แล้ว ซึ่งเกิดผลสัมฤทธิ์และปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบในหลายมิติ ได้แก่ ด้านการฝึกอบรม โดย EEC HDC ได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 15,267 คน แบ่งเป็นรูปแบบเอกชนร่วมจ่าย 100% (Type A) จำนวน 5,002 คน และการฝึกอบรมระยะสั้น รัฐและเอกชนร่วมจ่าย 50% (Type B) จำนวน 10,265 คน ขณะที่ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายอบรมคนเพิ่มสูงถึง 56,595 คน ด้านการรับรองหลักสูตร สนับสนุนให้สถานศึกษา ได้รับองค์ความรู้ใหม่จากเอกชน โดยได้ร่วมกันเสนอหลักสูตร (Co-Endorsement) ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติแล้วกว่า 150 หลักสูตร และด้านศูนย์ข่ายการพัฒนากำลังคนในอีอีซี ได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์ Automation Training Center 4 แห่งแล้ว อาทิ อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค ARAI Academy & Univertory โดย SNC Former ระยอง และร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย อาทิ ศูนย์ระบบราง มทร.ธัญบุรี ศูนย์โลจิสติกส์ มทร.ตะวันออก และอีก 8 วิทยาลัยอาชีวศึกษา อาทิ วท.บ้านค่าย วท.สัตหีบ เป็นต้น
ด้านความร่วมมือเพื่อยกระดับบุคลากรร่วมกับประเทศจีน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ร่วมกับยุทธศาสตร์ “ก้าวออกไป” ที่จะเน้นความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เโดยเฉพาะทวิภาคีเชี่อมโยงกับประเทศจีน ที่จะเน้นพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการลงทุนนวัตกรรมใหม่ ยกระดับการค้าการลงทุน พัฒนาสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตและเข้มแข็งร่วมกันต่อเนื่อง
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขยายผล อีอีซีโมเดล เช่น กระทรวงศึกษาฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) ร่วมในโครงการ Type B เตรียมคนสายอาชีพที่มีสมรรถนะสูง และมีคุณภาพในพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง อาทิ สาขาเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สาขาปิโตรเคมี วิทยาลัยมาบตาพุด เป็นต้น กระทรวง อว. เร่งรัดโครงการบัดดี้ภาษามหาวิทยาลัยไทย-จีน จัดตั้งสาขาวิชาภาษาจีนผ่านความร่วมมือมหาวิทยาลัยไทยและจีนรวม 13 แห่ง และขยายเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และสถานเอกอัครราชทูตจีน ส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ BRI และ “ก้าวออกไป” เน้นชักชวนภาคอุตสาหกรรมจากจีนมาร่วมพัฒนาการการเรียนการสอนแบบ “ภาษาจีน + ทักษะวิชาชีพ” โดยจะขยายผลโครงการบัดดี้มหาวิทยาลัยไทย-จีน และส่งเสริมการเรียนภาษาจีนทั้งครูและนักเรียนในอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาจีนและทักษะวิชาชีพ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาษาจีน (CLEC) เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นต้นแบบความร่วมมือ (Sandbox) พัฒนากำลังคนในอีอีซี ที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งในระยะยาวอย่างมั่นคง
A3463